Recession or Not? โลกจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยจริงหรือไม่? | Techsauce

Recession or Not? โลกจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยจริงหรือไม่?

ใกล้เข้าสู่ปี 2020 นี้ ประเด็นที่น่าสนใจนอกจากการติดตามประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนกับ เรื่อง Brexit แล้ว คงหนีไม่พ้นความกังวลว่าปีหน้าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หรือไม่ ทั้งจากความเชื่อที่มองว่าวิกฤติเศรษฐกิจจะเกิดทุกรอบ 10 ปี หรือการที่นักเศรษฐศาสตร์และผู้จัดการกองทุนชั้นนำต่างเริ่มออกมาส่งสัญญาณเตือนถึงโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ประมาณการเติบโตของ GDP โลก ของหน่วยงาน IMF, World Bank และ OECD ยังคงมองว่ายังเศรษฐกิจโลกจะยังคงเติบโตอยู่ในระดับ 2.70%-3.40% อยู่ อีกทั้งตัวบ่งชี้เศรษฐกิจถดถอยในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลก ยังคงมีสัญญาณที่เป็นปกติ ดังนี้

  1. ตัวเลขอัตราการว่างงาน สหรัฐฯ และจีนยังคงอยู่ในระดับต่ำ ที่ 3.5% และ 3.6% ตามลำดับ แต่สำหรับสหภาพยุโรปนั้นตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 7.5% โดยแม้เยอรมันจะมีอัตราการว่างงานที่ต่ำเพียง 3% แต่กลุ่มประเทศที่มีเคยปัญหาเช่น กรีซ สเปน และอิตาลี ยังคงมีอัตราการว่างงานที่สูงถึงระดับ 10%
  2. NPL Ratio สำหรับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสีย ในสหรัฐฯ และจีน ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.4% และ 1.8% ตามลำดับ โดยแม้ในสหภาพยุโรปภาพรวมแม้จะมีสัดส่วนหนี้เสียเพียง 4% แต่หากดูในรายประเทศแล้ว ประเทศกรีซยังคงมีสัดส่วนหนี้เสียสูงถึง 40% ตามมาด้วยไซปรัสและโปรตุเกสที่ 20% และ 10%
  3. กำไรของบริษัทจดทะเบียน ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มคงที่ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา  สำหรับตลาดหุ้นยุโรปกำไรของบริษัทจดทะเบียนปรับตัวลดลงเล็กน้อย มีเพียงตลาดหุ้นจีนที่กำไรของบริษัทยังมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นแต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง
  4. Inverted Yield Curve ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะสั้นเทียบกับระยะยาว ปัจจุบันอยู่ที่ 0.17% แต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้เกิดภาวะ Inverted Yield Curve ในระยะเวลาสั้นๆ จึงเป็นสัญญาณที่ต้องเฝ้าระวัง

Source : Bloomberg, ECB, CEIC and FEDERAL RESERVE BANK OF ST. LOUIS

เศรษฐกิจถดถอย

SCB Chief investment Office (SCB CIO) มองว่า ในปี 2020 ตลาดจะยังคงผันผวนและมีโอกาสน้อยที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะยังไม่เกิดขึ้นในปี 2020 นี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความเสี่ยง เพราะที่ผ่านมาเรามักจะประสบปัญหาภาวะเศรษกิจถดถอยจากภาวะฟองสบู่หรือวิกฤตทางการเงิน แต่หากเราวิเคราะห์สาเหตุของเศรษฐกิจหดตัวที่ผ่านมาแล้ว จะสามารถจำแนกได้จาก 2 สาเหตุหลักๆ คือ “ความโลภ” และ “ความกลัว” ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนค่อนข้างรู้จักเป็นอย่างดี

  • ความโลภ เกิดจากผู้คนไล่ซื้อสินทรัพย์โดยหวังว่าจะขายต่อได้ในราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่สนใจมูลค่าที่แท้จริง ทำให้เกิดฟองสบู่ขึ้นมาและเมื่อฟองสบู่แตกก็ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวได้ ตัวอย่างปัญหาที่เกิดจากความโลภ เช่น
  • Subprime Crisis (2008) ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯและสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มความน่าเชื่อถือต่ำจนก่อให้เกิดหนี้เสีย ส่งผลให้สหรัฐฯ GDP เติบโตลดลง -5.1% และอัตราการว่างงานอยู่ที่ 10%
  • Dotcom Bubble (2000) การเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต โดยในปี 1995-2000 ตลาด NASDAQ ปรับเพิ่มสูงขึ้นถึง 400% และมี P/E Ratio ที่สูงถึง 200 เท่า โดยเมื่อฟองสบู่แตกก็ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ GDP เติบโตลดลง -0.3% และอัตราการว่างงานสูงขึ้นถึง 6.3%
  • สำหรับกรณีความกลัวนั้น เกิดขึ้นเมื่อผู้คนรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดีหรือรายได้ในอนาคตจะน้อยลง จึงไม่กล้าใช้เงินเพื่อบริโภคและเก็บออมเงินมากขึ้น เมื่อการบริโภคลดลงจึงส่งผลให้กำไรของธุรกิจลดลง ก่อให้เกิดเศรษฐกิจไม่ดีเป็นวงจรต่อเนื่อง ซึ่งอาจขัดแย้งกันความเชื่อเดิมที่ว่า “เศรษฐกิจไม่ดี ควรเก็บเงินไว้เผื่อใช้ยามฉุกเฉิน” โดยในทางทฤษฎีเราเรียกว่า ความขัดแย้งของความประหยัด (Paradox of thrift) ตัวอย่างเช่น
  • Japan Lost Decade (1991-ปัจจุบัน) หลังจากวิกฤตฟองสบู่หุ้นและอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่นแตกในปี 1987-1990 ทำให้ความมั่งคั่งของคนญี่ปุ่นลดลง ส่งผลให้คนญี่ปุ่นระมัดระวังตัวและเก็บออมแทนที่จะนำไปลงทุนหรือบริโภค ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นจนถึงปัจจุบัน
  • The Great Depression (1929-1939) ปัญหาการว่างงานที่สูงขึ้นจากการที่ดอกเบี้ยสูงและราคาสินค้าเกษตรต่ำลง อีกทั้งการที่ธนาคารมีหนี้เสียในระบบสูงขึ้นจากการปล่อยเงินกู้ให้นักลงทุนไปซื้อขายหุ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้คนไม่กล้าลงทุนและใช้จ่ายเงิน โดยเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2A

จากที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดจาก ความโลภ นั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลให้ตลาดมีการปรับตัวลงในระยะสั้น โดยรัฐบาลสามารถป้องกันได้โดยออกมาตรการควบคุมการเก็งกำไรโดยการกำหนดกฎเกณฑ์และนโยบาย เช่น นโยบาย LTV ของภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาเพื่อลดความร้อนแรงในการเก็งกำไร แต่สำหรับเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดจาก ความกลัว นั้นตลาดจะค่อยๆ ปรับตัวลงและซึมเป็นระยะเวลานาน โดยรัฐบาลต้องใช้นโยบายและวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกมั่นใจในการใช้เงินและรู้สึกปลอดภัยกับรายได้ของตนเองในอนาคต

ตัวบ่งชี้เศรษฐกิจถดถอย

สุดท้ายนี้ SCB CIO มองว่าตอนนี้นักลงทุนและคนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในภาวะความโลภ แต่อยู่ในภาวะที่ระมัดระวัง ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความกลัวในอนาคตได้ ผนวกเข้ากับการที่หลายประเทศกำลังเข้าสู้สังคมสูงอายุ ธุรกิจเดิมถูก Disrupt มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยและมีการลดการใช้พนักงาน ล่าสุด Deutsche Bank เตรียมปลดพนักงานกว่า 18,000 ตำแหน่ง ธนาคาร HSBC ก็เตรียมลดพนักงานอีก 4,700 คน หากแนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และภาคธุรกิจยังคงปรับลดพนักงานเพื่อลดต้นทุนต่อไป ในระยะเวลาอีกไม่นานโลกเราอาจพบกับเศรษฐกิจถดถอยในรูปแบบที่ไม่เคยพบมาก่อนก็เป็นได้

เขียนโดย คุณศรชัย สุเนต์ตา CFA, ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Chief Investment Office, SCB

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...