เป็นบริษัท Startup ต้องเสียภาษีไหม? - Techsauce

เป็นบริษัท Startup ต้องเสียภาษีไหม?

ภาพจาก yellowpages.co.th

1 ในเรื่องที่เหล่า Startup หรือคนที่ต้องการจะทำ Startup อาจจะละเลยหรือไม่ทันได้คิดตั้งแต่ตอนแรกที่เริ่มทำบริษัทก็คือเรื่องการเสียภาษี จะมารู้ตัวอีกทีก็อาจเจอสรรพากรมาทวงถามแล้ว เรามีบทความที่จะแนะนำความรู้เรื่องนี้มาให้คนที่สนใจเป็น Startup ได้อ่านกันครับ โดยนักเขียนรับเชิญ ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายเว็บไซต์ iTax.in.th

โดยปกติ Startup มักจะเลือกทำธุรกิจเป็นนิติบุคคลในรูปของบริษัทจำกัด ภาษีที่เกี่ยวข้องกับ Startup จึงน่าจะมีอย่างน้อย 2 ประเภท ได้แก่ ภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม

  1. ภาษีเงินได้ คือ ภาษีที่เก็บจากรายได้ของ Startup ที่เกิดขึ้นระหว่างปี (โดยมากจะใช้ปีฏิทิน โดยนับตั้งแต่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค.)  ซึ่งถ้า Startup จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เช่น ทำธุรกิจในรูปของบริษัทจำกัด Startup จะมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ ยื่นแบบภาษีเงินได้ประจำปี ภายในวันที่ 30 พ.ค. ของทุกปี (แต่ปี 2558 นี้ตรงกับวันเสาร์และวันวิสาขบูชา เลยเลื่อนเป็นวันที่ 2 มิ.ย. 58 แทน) ยื่นแบบภาษีเงินได้ครึ่งปี ภายในวันที่ 31 ส.ค. ของทุกปี สำหรับนิติบุคคลอัตราภาษีแบบขั้นบันไดตั้งแต่ 0-20%
  2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า VAT (Value Added Tax) คือ ภาษีที่เก็บจากยอดขายสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน โดย Startup ที่จดทะเบียนเข้าระบบ VAT แล้วจะมีหน้าที่ต้องยื่น VAT ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน VAT จะจัดเก็บอยู่ในอัตราคงที่ 7%

ภาษีทั้ง 2 ประเภทนี้อยู่ในอำนาจจัดเก็บของหน่วยงานจัดเก็บภาษีที่มีชื่อว่า กรมสรรพากร ดังนั้น Startup ที่จะทำธุรกิจควรทำความรู้สำนักงานสรรพากรพื้นที่ใกล้บ้านเพื่อความสะดวกในการติดต่อราชการที่จะมีมาเรื่อยๆ

Startup ต้องเสียภาษีเงินได้หรือไม่?

ถ้า Startup มีรายได้มากกว่ารายจ่าย ก็ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้อยู่แล้ว ส่วนต่างนี้กฎหมายเรียกว่า “กำไรสุทธิ” ซึ่งจะใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีในอัตรา 20% เช่น ถ้า Startup มีกำไรสุทธิ 1,000,000 บาท Startup จะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเงิน 200,000 บาท (กำไรสุทธิ 1,000,000 บาท x อัตราภาษี 20%)

ในทางกลับกัน ถ้า Startup มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ หรือเรียกง่ายๆ ว่าขาดทุน ก็ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้เพราะไม่มีกำไร ซึ่ง Startup สามารถนำผลขาดทุนนี้ไปหักกลบในอนาคตได้หากต่อมา Startup มีกำไรในภายหลัง

ถ้า Startup ขาดทุนยังต้องยื่นภาษีอยู่ไหม?

ไม่ว่าจะขาดทุนหรือกำไร Startup ก็มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้ทุกปี ปีละ 2 ครั้งจนกว่าจะเลิกกิจการ

taxtic: ถ้าเลือกได้ Startup ควรเริ่มต้นจากทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5,000,000 บาท เพื่อรับสิทธิประโยชน์ในฐานะ SME ไปก่อนดีกว่า เพราะ Startup ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท (5 ล้านบาทพอดีก็ได้) และมียอดขายทั้งปีไม่เกิน 30 ล้านบาท จะได้รับสิทธิประโยชน์ในฐานะ SME ซึ่งช่วยให้ Startup ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิ 300,000 บาทแรก และได้รับสิทธิเสียภาษีในอัตราพิเศษ 15% สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่ไม่เกิน 3,000,000 บาท สำหรับกำไรส่วนที่เกิน 3,000,000 บาท จะเสียภาษีในอัตราปกติ 20% (มาตรา 3 พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 583) พ.ศ. 2558)

เช่น ถ้า Startup มีกำไรสุทธิ 1,000,000 บาทเหมือนเดิมแต่ได้สถานะ SME มาแล้ว Startup จะได้รับยกเว้นภาษี 300,000 บาทแรก ทำให้เหลือกำไรที่ต้องเสียภาษีเพียง 700,000 บาท ซึ่งกำไร 700,000 บาทนี้ก็จะได้รับสิทธิเสียภาษีในอัตราพิเศษ 15% ด้วยเพราะกำไรของ Startup ที่ยังไม่เกิน 3,000,000 บาท ทำให้ Startup เสียภาษีเงินได้ 105,000 บาทเท่านั้น ในขณะที่ปกติจะต้องเสียภาษี 200,000 บาท นั่นหมายความว่า Startup จะสามารถประหยัดภาษีไปได้เกือบเท่าตัวเลยทีเดียว

อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (SME)

Screen Shot 2015-05-07 at 1.47.07 PM

ในครั้งหน้าจะมาเล่าต่อว่า Startup ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่?

เกี่ยวกับผู้เขียน

ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ เป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษากฎหมายภาษีของ iTAX และเป็นเจ้าของผลงานพ็อคเก็ตบุ๊ค ITAX ภาษี ง่ายได้อีก

ปัจจุบัน ดร.ยุทธนา เป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม โดย ดร.ยุทธนา สำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายภาษีในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Southern Methodist University ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยสยาม

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...