สัมภาษณ์พิเศษ: Budnow ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการทำธุรกิจสำหรับ SMEs ไทย | Techsauce

สัมภาษณ์พิเศษ: Budnow ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการทำธุรกิจสำหรับ SMEs ไทย

bud
วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์พิเศษจาก Startup น้องใหม่อายุไม่ถึงขวบ แต่คนทำหน้าไม่ค่อยใหม่แล้วเพราะน่าจะอยู่ในวงการนี้มานานตั้งแต่ยุคที่คำว่า Startup เริ่มบูมจนในปัจจุบัน ecosystem ต่างๆ ของ Startup ไทยเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาก บริษัทนี้ชื่อ Budnow เป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น bud โซลูชั่นไร้กระดาษเพื่อการทำธุรกิจของ SMEs ไทย เราจะไปพูดคุยกับ ดร.ดิ๊ง วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์ ถึงที่มาที่ไป และบทเรียนต่างๆ ที่ได้จากการทำ Startup กัน
ช่วยเล่าถึงแนวคิดและที่มาของ Budnow 
Budnow เป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ครับ เราได้รับ Seed money จากบริษัท พีเพิลมีเดียกรุ๊ป จำกัด หรือ PMG ซึ่งทุกคนอาจจะเคยได้ยินผลงานอย่าง "SME ชี้ช่องรวย" จริงๆ ต้องบอกว่า PMG เป็นบริษัทที่ทำด้านสื่อครบวงจร ตั้งแต่ นิตยสาร สิ่งพิมพ์ อีเวนท์ จนกระทั้งถึง ทีวี แต่ยังไม่ได้เชี่ยวชาญด้านการใช้สื่อดิจิตอล เพิ่งจะมี Businees Unit ใหม่ที่ดูแลด้าน Digital Media Solution โดยเฉพาะเมื่อปีสองปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่ง Budnow ก็เป็นหนึ่งในการตัดสินใจลงทุนด้านดิจิตอลอย่างจริงจังของทาง PMG เพื่อตอบสนองความต้องการของฐานลูกค้าเดิมที่เป็น SMEs ครับ

 

Budnow ได้เงินทุนก้อนแรกจาก PMG ได้อย่างไร
ก่อนที่ผมจะทำ Budnow ผมได้ทำโซลูชั่นบัตรสมาชิกบัตรสะสมแต้มออนไลน์ชื่อ Boxbox.me มาก่อน และได้มีโอกาสร่วมงานเป็น Partner กับทาง PMG ระยะหนึ่ง ซึ่งผลตอบรับคือมี SMEs ให้ความสนใจค่อนข้างมากเลยทีเดียว แต่สุดท้าย Boxbox.me ก็จำเป็นต้องปิดตัวลงไปเพราะขาดการโฟกัสจากทีมงานและตัวผมเองด้วย อันนี้ต้องยอมรับครับว่าช่วงที่ทำ Boxbox.me เหมือนนั่ง roller coaster จริงๆ เป็นช่วงที่สนุกช่วงหนึ่ง ตอนนั้นทำเอามันส์ ไม่ได้ตังค์อะไรมากนัก และก็ทำอาชีพอื่นๆ เพื่อหารายได้เลี้ยงชีพไปด้วย ดังนั้น Boxbox.me เลยกลายเป็นต้นบอนไซที่ไม่โตไม่ตาย มาวันหนึ่งผมจึงถึงทางแยกที่ต้องเลือกว่าจะทำอย่างไรกับมันดี สุดท้ายหลังจากคุยกันอยู่หลายครั้ง Partner รายนี้ก็ได้เปลี่ยนกลายเป็น Investor และ Mentor ที่สำคัญของบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า Budnow

 

ทำไมถึงเป็น Budnow และไม่ทำ Boxbox.me ต่อหล่ะ
เรื่องนี้ซับซ้อนมากครับ ตั้งแต่ผู้ถือหุ้น เรื่อง Branding ไปจนกระทั่งถึงแผนในอนาคตที่วางไว้ ด้วยความเป็น Boxbox.me มันมีความน่ารักอยู่มากทั้งชื่อ ทั้งมาสคอต ทำให้จำกัดกลุ่มร้านค้าที่สนใจอยู่แค่กลุ่มที่คิคุโนเนะ เราเลยต้องการจะหาชื่อแบรนด์ใหม่ที่เป็นกลางๆ เป็นไทยๆ แต่ต้องไปสากลได้ นึกไปนึกมา มันมาตกต้องคำว่า บัตร คำว่า buddy และวลีที่ว่า not later, but now! ไม่ต้องรอแล้วเอาตอนนี้เลย ก็เลยกลายเป็นที่มาของชื่อบริษัท บัดนาว (พร้อมได้เพลงพี่บี้ประกอบด้วย ณ บัด now) แน่นอนปีนี้เราโฟกัสที่ตลาดไทย แต่ปี 2016 ถ้าเราพร้อมเมื่อไรเรา Go AEC แน่นอนครับ เป็น Startup ต้องมองตลาดโลกครับ

 

แล้ว Budnow ทำอะไร ทำเหมือน Boxbox.me ไหม
Budnow ทำแอปพลิเคชั่นชื่อ bud ครับ เราทำเรื่อง O2O (Online to Offline) โดย vision ของเราคือ เราจะโยนกระดาษทุกอย่างขึ้น Cloud เราจะทำให้ธุรกิจร้านค้าทำงานได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งแผ่นกระดาษที่ว่านี้ก็มีตั้งแต่ บัตรสมาชิก บัตรสะสมแต้ม โบชัวร์ ใบปลิว ใบรับประกัน ฯลฯ ตอนเริ่มแรกๆ เราก็ฟุ้งนะครับว่าจะทำอะไรก่อนดี ไปทำวิจัยและศึกษาเรื่องบัตรรับประกันอยู่พักหนึ่ง ทำ prototype ขึ้นมาปรากฎว่าลูกค้าไม่ใช้ มีข้อจำกัดที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ก็เลยพักโปรเจคนั้นไว้ก่อน แล้วก็กลับมาทำสิ่งที่เรามีความรู้ดีอยู่แล้วคือ loyalty program เรารู้ปัญหาว่าทำไมมันเวิร์คกับบริษัทใหญ่ แต่ทำไม SMEs ใช้ไม่นานก็เลิกลาไป ก็เพราะเอาเข้าจริง SMEs ต้องการ customer acquisition มากกว่า customer retention เค้าต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ธุรกิจเล็กๆ ของเค้าอยู่รอดก่อน ดังนั้นการที่จะเพิ่มงานให้พนักงานหรือแม้กระทั่งเจ้าของเองที่จะมาสะสมแต้มให้ลูกค้า มันไม่มี priority สักเท่าไร ทำได้ไม่นาน ดูเหมือน concept จะดีแต่ก็เลิกลาไป ดังนั้นการกลับมาของ bud เราเลยพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการพาลูกค้ามาให้กับ SMEs ด้วย เราผสมเรื่องของ rewards program เข้าไปในแอปพลิเคชั่น เราใช้ Connection จาก PMG ในการเอา Point ของบริษัทใหญ่ที่สนใจมาใช้กับร้านค้า SMEs รายย่อย ซึ่งก็เป็น win-win ทั้งคู่ บริษัทใหญ่ได้ CSR ได้ privilege ให้ลูกค้า ส่วน SMEs ก็ได้ประชาสัมพันธ์ ได้คนเข้าร้าน พอเข้าร้านมาก็ค่อยสะสมแต้มต่อเป็น CRM ต่อ การทำงานมันครบ loop มากขึ้นครับ

 

bud2

 

ฟังดูแล้วดูดี แล้วมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างไหม
ปัญหาใหญ่ๆ คือ เสี้ยนครับ เราหาเรื่องทำทุกอย่างใหม่หมดเลย แทนที่จะเอา code เก่ามาใช้ พอเรามีทีมงานใหม่เราก็เขียนใหม่อีกครั้ง (ซึ่งโปรแกรมเมอร์มักจะอ้างว่าไม่ชอบแก้งานใคร) มันเสียเวลาไปพอสมควร บริษัทเปิดปลายมกรา เราเสียเวลา 3 เดือนแรกไปกับการทำโปรเจคให้ลูกค้าที่เป็นบริษัทใหญ่แล้วก็ไม่ได้ทำ core product พอมาพฤษภาเราเริ่มลุยกันเต็ม stream เพราะได้ทีมงานเข้ามาเกือบ 10 คน ก็ตีรันฟันแทงกันสนุกสนาน ผมว่ายังไงๆ เรื่องคนก็ยังเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของ Startup บางคนที่เรารับมา จริงๆ เค้าไม่ได้เหมาะจะเข้ามาในช่วงแรก มันเป็นช่วงที่ไม่ได้มีงานสำหรับเค้า ส่วนบางที่รับมารู้ทั้งรู้ว่าทัศนคติไม่ได้แต่ฝีมือน่าจะได้ สุดท้ายก็ไปกันไม่รอด การจัดคนให้เหมาะกับงาน ในช่วงเวลาที่ใช่ ผมว่านอกจากฝีมือดีแล้วต้องมีวาสนาดีด้วยนะถึงจะทำได้ -_-

 

ตอนนี้ bud พร้อมให้บริการแล้ว?
ไม่เคยพร้อมครับ 555 เอาเข้าจริง เราปล่อยโปรแกรมเวอร์ชั่นแรกออกไปต้นเดือนกรกฎา ในงาน Smart SME EXPO 2015 ที่อิมแพค มันก็มี ผลตอบรับกลับเข้ามา เราก็คิดว่ามัน MVP แล้ว แต่พอมันทำงานได้ไม่ครบ loop ก็ทำให้ทั้งลูกค้าและร้านค้างง ไม่สามารถใช้งานได้เอง ต้องเทรนก่อนถึงจะเข้าใจ ซึ่งถ้าปล่อยไปแบบนี้แล้วรีบหาลูกค้าหรือร้านค้ามาใช้งานเพิ่ม ผู้ใช้ก็ได้ประสบการณ์ที่ไม่ดีตอนนี้ผมเลยไม่อยากรีบ scale อยากจะทดสอบกับร้านค้ากับลูกค้าเป็นกลุ่มๆ ไป ปรับแก้ไปเรื่อยๆ ซึ่งต้องบอกว่าเราโชคดีที่มีร้านค้าดีๆ คอยสนับสนุนอยู่ ถึงปัจจุบันนี้ก็สะสมแต้มได้แล้ว แลกของรางวัลได้แล้ว และเดือนกันยาทีจะถึงนี้เราก็จะเปิดตัวกับบริษัทใหญ่ที่ติดต่อกันมาตั้งนานแล้วให้ลูกค้าได้ใช้บริการ rewards program กันสักที
bud3

 

แล้วขั้นต่อไปของ Budnow คืออะไร
ถ้าพูดตามเส้นทางธุรกิจของ Startup เรากำลังหานักลงทุนเพื่อเพิ่ม run way ในช่วง Pre-Series A อยู่ครับ ช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้ต้องคุยจริงๆ จังๆ แล้ว เพราะเครื่องร่อนลำนี้ อาจจะน้ำมันหมดก่อนเมื่อไรก็ได้ ตอนนี้โอกาสในตลาด SMEs เยอะมาก ไม่มีใครสามารถ capture ได้หมด ไม่มีเบอร์หนึ่ง คนที่ทำ loyalty program มาพร้อมกับ Boxbox.me ตอนนี้หายสาบสูญไปเกือบหมดแล้ว เห็นอยู่แค่ Stamp ที่ไม่ได้จับกลุ่ม SMEs เรามีบทเรียนหลายเรื่องทีเดียวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมพยายามพาร์ทเนอร์กับพี่ๆ หลายคนในวงการซอฟต์แวร์เพื่อสร้าง Synergy ให้เกิดขึ้นกับบริษัท ตอนนี้ทุกอย่างก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมากแล้วครับ ขอ traction งามๆ สักหน่อย แล้วจะประกาศอีกที

 

สุดท้ายอยากฝากอะไรถึง Startup ไทยบ้าง
ครับ ก่อนอื่นเลยด้วยการที่เราทำ rewards program อย่างที่บอกไป เรามี Point จากบริษัทใหญ่ที่มีสมาชิกกว่าล้านรายรอใช้อยู่ ตอนนี้นอกจากร้านค้า SMEs แล้วเราก็มีการติดต่อบริษัทในธุรกิจออนไลน์ทั้งรายใหญ่อย่าง Ookbee และรายเล็กๆ ที่สนใจรับ Point จากบริษัทใหญ่ไปใช้ในการซื้อสินค้า/บริการของตัวเอง อธิบายสั้นๆ คือ ลูกค้าที่มี Point จากบริษัทใหญ่จะสามารถผูกคะแนนตัวเองเข้ากับ bud application ได้ และสามารถใช้ในการแลกรับสิทธิพิเศษในรายการที่เราเตรียมไว้ให้ได้ ซึ่งบริการออนไลน์ต่างๆ เหล่านี้คือการให้ รหัส redeem code เพื่อไปใช้ต่อในโปรแกรม ดังนั้นพอลูกค้าได้ code ไปก็เอาไปใส่ในโปรแกรมก็จะสามารถใช้บริการนั้นๆ ได้ทันทีเลย แล้วสุดท้ายปลายเดือนทาง Budnow ก็จะรวบรวมยอด Point ที่ใช้ไปเก็บเงินจากบริษัทใหญ่เอามาคืนให้ Startup ครับ อย่างที่บอกนอกจากได้เงินแล้ว ยังได้การประชาสัมพันธ์อีกด้วยนะครับ ดังนั้น Startup รายไหนที่มีสินค้า/บริการซึ่งสามารถซื้อออนไลน์ได้ สนใจมาเป็น Partner กับ Budnow ติดต่อเข้ามาได้เลยนะครับที่ [email protected] หรือ facebook ที่ https://www.facebook.com/bud.in.th หรือถ้าใครอยากจะคุยกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ก็ยินดีเสมอครับ ขอบคุณครับ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...

Responsive image

เปิดดีล NVIDIA ปี 2024 ในอาเซียนไปร่วมมือใครมาบ้าง ?

NVIDIA ขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2024 ด้วยการลงทุน AI Centers และการพัฒนาระบบ AI ร่วมกับพันธมิตรในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ขับเคลื่อนภูมิภาคสู่การเป็นศูนย์...