AIS ยกระดับสังคมดิจิทัล เปิดตัวดัชนีชี้วัดสุขภาวะฉบับแรกของไทย เผยกว่า 44.04% คนไทยยังเสี่ยงภัยไซเบอร์ | Techsauce

AIS ยกระดับสังคมดิจิทัล เปิดตัวดัชนีชี้วัดสุขภาวะฉบับแรกของไทย เผยกว่า 44.04% คนไทยยังเสี่ยงภัยไซเบอร์

ทุกสเต็ปการเติบโต ทุกงานบริการของ AIS แบรนด์โทรคมนาคมเบอร์ใหญ่ ที่ไม่เพียงเป็นแค่ผู้ให้บริการเครือข่าย แต่ยังเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลรูปแบบต่างๆ ที่วันนี้มีผู้ใช้งานมากกว่า 46 ล้านราย ด้วยจำนวนที่มากและกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ AIS จึงเป็นหัวหอกสำคัญในการผลักดันให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ใช้งานด้วยความรู้ความเข้าใจและมี ความฉลาดทางดิจิทัล (DQ : Digital Intelligence Quotient)

รู้ทันภัยไซเบอร์ไว้ก่อน… อุ่นใจกว่า

ยิ่งเราใช้อินเทอร์เน็ตกันมาก การมีทักษะรับมือและรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ยิ่งจำเป็น เช่น ทักษะการรับมือการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ (Cyberbullying Management) ทักษะการรักษาความปลอดภัยของตนเองบนโลกไซเบอร์ (Cybersecurity Management) โดยทั้งสองด้านเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทักษะและความรู้ด้านดิจิทัลที่ พลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) ต้องมี AIS จึงจัดทำหลักสูตรองค์ความรู้ด้านการใช้งานดิจิทัลอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยร่วมมือกับหลายภาคส่วน จนเกิดเป็น ‘หลักสูตรอุ่นใจ CYBER’

หลักสูตรอุ่นใจ CYBERSource : https://learndiaunjaicyber.ais.co.th

การพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาร่วมกับออกแบบเนื้อหาร่วมกับ AIS เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาไทย วันนี้ ‘หลักสูตรอุ่นใจ CYBER’ เข้าถึงคนไทยไปแล้วกว่า 224,886 คน และในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา AIS ยังประกาศอีกว่า ปีนี้ส่งหลักสูตรอุ่นใจ CYBER เข้าสถานศึกษากว่า 29,000 โรงเรียนในเครือ สพฐ. ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีดำเนินงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ออกแบบการส่งต่อความรู้ที่เหมาะกับช่วงวัย อาทิ

  • กุมภาพันธ์ 2566 - นักเรียนโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยกว่า 3,000 คน ที่เรียนหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ของปี 2565 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ผ่านการทดสอบ 100% ‘สามเสนวิทยาลัย’ จึงได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนต้นแบบ ที่นำหลักสูตรอุ่นใจ CYBER ไปปรับใช้จริงอย่างเต็มรูปแบบ

  • เมษายน 2566 - AIS ขยายผลหลักสูตรฯ สู่ภาคประชาชน โดยลงนามความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์โดยตรง 

  • มิถุนายน 2566 - AIS ส่งต่อความรู้ เพิ่มภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้ผู้สูงวัย โดยร่วมมือกับ บริษัท โอพีพีวาย จำกัด องค์กรที่อยู่เบื้องหลังชมรม OPPY CLUB (Old People Playing Young Club) คลับแห่งความสุขของผู้สูงวัย ทั้งนี้ เป็นการนำเนื้อหาในหลักสูตร ‘AIS อุ่นใจ CYBER’ มาจัดอบรมให้แก่สมาชิกของชมรม

จาก ‘AIS อุ่นใจ CYBER’ สู่ ‘มาตรวัดทักษะดิจิทัลฉบับแรกของไทย’

หลักสูตร อุ่นใจ CYBER มีความหลากหลายและทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทั้งนักเรียน คุณครู วัยรุ่น วัยทำงาน ผู้สูงวัย เช่นหลักสูตร Participation : การจัดการร่องรอยทางไซเบอร์ สำหรับประชาชนทั่วไป, หลักสูตร PRACTICE : Cyber Balance การใช้เทคโนโลยีอย่างสมดุล, PROTECTION : Cyber Safety การจัดการเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ สำหรับคุณครู หรือจะเป็น ‘สื่อการเรียนรู้’ ที่แยกเรียนได้ดังนี้

  • สื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กนักเรียน สังกัด สพฐ. (Fundamental Level)

  • สื่อการเรียนรู้สำหรับนิสิต นักศึกษา (Advanced Level)

  • สื่อการเรียนรู้สำหรับประชาชน (ฉบับเร่งรัด)

“ปัญหาภัยไซเบอร์กลายเป็นวาระที่ทั้งโลกหันมาให้ความสำคัญ เพราะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับบุคคล ทั้งเรื่องการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล การล่อลวงผ่านช่องทางออนไลน์ และการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ไปจนถึงระดับประเทศหรือองค์กรในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่เชื่อมโยงกับเรื่องของ เศรษฐกิจดิจิทัล ระบบสารสนเทศ ที่ต้องมีการรับมืออย่างจริงจัง” คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าว 

ในฐานะผู้นำด้านการให้บริการดิจิทัล AIS เข้าใจดีว่า เรื่องดังกล่าวมีความสำคัญต่อสังคมดิจิทัลทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้น ที่ผ่านมากว่า 4 ปี AIS จึงอาสาจุดประกายสังคมเกี่ยวกับประเด็นนี้ ตั้งแต่วันที่ดิจิทัลเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อวิถีการใช้ชีวิต ผ่านโครงการ AIS อุ่นใจ CYBER ทั้งในด้านการสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายและผลกระทบจากการใช้งาน การพัฒนาโซลูชันและบริการดิจิทัลเพื่อปกป้องและส่งเสริมการใช้งานอย่างปลอดภัย และการสร้างองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมความฉลาดและทักษะของพลเมืองดิจิทัล

“จากการทำงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราเห็นแนวทางแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาดัชนีชี้วัดที่จะบ่งบอกถึงระดับความรู้และทักษะดิจิทัลในด้านต่างๆ ที่ชัดเจนของประชาชนในแต่ละกลุ่ม ในชื่อของ ‘ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล หรือ Thailand Cyber Wellness Index (TCWI)’ ที่ถือเป็นฉบับแรกของประเทศไทย โดยมีพันธมิตรรายสำคัญอย่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมนักวิชาการหลากหลายแขนงมาร่วมกันทำงานเพื่อยกระดับเรื่องดังกล่าวให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมต่อไป” คุณสมชัยกล่าว

สำหรับการจัดทำ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index ฉบับนี้ AIS ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนักวิชาการทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านสุขภาพ ด้านสื่อสารมวลชน ด้านการศึกษา และด้านการวัดประเมินผล ออกแบบกรอบการศึกษา ขั้นตอนและวิธีการเก็บผล กลุ่มตัวอย่าง รวมถึงการวิเคราะห์และสรุปผลการศึกษา จนออกมาเป็นดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ที่เป็นไปตามมาตรฐาน แม่นยำ เชื่อถือได้ และถูกต้องตรงกลุ่มเป้าหมาย 

ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยสำหรับขั้นตอนวิธีการเก็บผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายทั้งช่วงอายุ และกลุ่มอาชีพจากทุกจังหวัด ทั่วประเทศกว่า 21,862 คน

ที่น่าสนใจคือ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย จะเป็นมาตรฐานใหม่ในการสร้างพลเมืองดิจิทัลและสังคมการใช้งานดิจิทัลที่ดียิ่งขึ้น โดยจะชี้ให้เห็นถึงทักษะดิจิทัลที่ครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนไทย 7 ด้าน ประกอบด้วย 

  1. ทักษะการใช้ดิจิทัล
    (Digital Use)

  2. ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล
    (Digital Literacy)

  3. ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล
    (Digital Communication and Collaboration)

  4. ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล 
    (Digital Rights)

  5. ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์
    (Cyber Security and Safety)

  6. ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ 
    (Cyberbullying)

  7. ทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล
    (Digital Relationship) 

ทั้งนี้ การแบ่งความสามารถในการใช้งานดิจิทัลของคนไทยในแต่ละช่วงอายุและแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศที่ปรากฏใน ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ Advanced, ระดับ Basic และ ระดับ Improvement

จากผลการศึกษาพบว่า ภาพรวมของคนไทยมีสุขภาวะทางดิจิทัลอยู่ในระดับ พื้นฐาน (Basic) แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีถึง 44.04% ที่ยังอยู่ในระดับ ต้องพัฒนา (Improvement) แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้แก่ประชาชนเพิ่มขึ้น 

หากดูข้อมูลรายภาค พบว่าประชากรเกิน 40% ของทุกภาคอยู่ที่ระดับ Improvement ยกเว้นกรุงเทพฯ และเมื่อแยกดูองค์ประกอบแล้วจะพบว่า องค์ประกอบใดจำเป็นเร่งด่วน หากมีงบจำกัดหรือมีเวลาน้อยอาจต้องหยิบยกด้านที่เป็นสีแดงขึ้นมาแก้ไขหรือพัฒนาก่อน แล้วจัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมกับกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะเด็กอายุ 12 ปี และผู้สูงอายุ และในส่วนที่มีคะแนนเต็มอยู่ที่ 1 การได้คะแนน 0.5 เป็นส่วนใหญ่นั้น ถือว่า ทักษะดิจิทัลของคนไทยอยู่ในระดับพื้นฐานและค่อนไปทางระดับต่ำ ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงต้องวางแผน Improvement กันต่อไป

ในช่วงท้าย ซีอีโอสมชัยกล่าวว่า จากผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ทำให้เห็นจุดที่ต้องพัฒนาทักษะเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ใช้งานในอีกหลายประเด็น โดย AIS พร้อมด้วยพันธมิตรจะยังคงเดินหน้าทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง 

ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยฉบับนี้ เป็นสมบัติของประเทศไทย อันจะเป็นเสมือนหนึ่งเข็มทิศที่ช่วยให้พวกเรามองเห็นเส้นทางในการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

นอกเหนือจากนี้ AIS ยังส่งมอบ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ไปยังเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมการทำแผนเสริมทักษะดิจิทัลให้แก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ต่อไป สำหรับผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ได้ที่ sustainability.ais.co.th/storage/update/report/advanc-ebook-thailand-cyber-wellness-th.pdf หรือองค์กรใดสนใจนำดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล (Thailand Cyber Wellness Index) ไปใช้วัดผลและขับเคลื่อนต่อ สามารถติดต่อได้ที่ [email protected]

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...