ญี่ปุ่นกับราคาที่ต้องจ่าย จากการเลื่อนจัดงาน โอลิมปิก 2020 | Techsauce

ญี่ปุ่นกับราคาที่ต้องจ่าย จากการเลื่อนจัดงาน โอลิมปิก 2020

แม้ว่าวิกฤติโควิดจะส่งผลให้โอลิมปิกที่จัดขึ้นโดยประเทศญี่ปุ่นต้องเลื่อนขึ้นมายังก.ค. ปี 2021  คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ยังคงสงวนชื่องานไว้ดังเดิมนั่นก็คือ โอลิมปิก 2020 (Olympic 2020) ด้วยเหตุที่ต้องการจะให้โอลิมปิก เสมือนเป็นแสงสว่างของปลายอุโมงค์ มหกรรมกีฬาแห่งชัยชนะสำหรับญี่ปุ่นที่พึ่งผ่านพ้นวิกฤติโควิดระลอกแรกในปีที่ผ่านมา 

แต่ถึงกระนั้นเอง ครั้นพอเดินหน้าให้โอลิมปิกจัดขึ้นต่อไปในปี 2021 ญี่ปุ่นก็เจออุปสรรคซ้ำซ้อนอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่หนักกว่าเดิมจนต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. จนถึง 22 ส.ค. และไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าชมการแข่งขันในสนาม  จากแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่กล่าวขาน โอลิมปิกครั้งนี้ที่ปราศจากผู้ชมนับได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ญี่ปุ่นต้องจ่าย และอาจกลายเป็นวิกฤติการเงินครั้งใหญ่สุดที่เคยมีมา

โอลิมปิก 2020

ทำไมญี่ปุ่นถึงไม่ยกเลิกจัดการแข่งขัน โอลิมปิก 2020 ?

จากผลสำรวจของประชาชนชาวญี่ปุ่นเกือบ 70% ไม่ต้องการให้โอลิมปิกครั้งนี้เดินหน้าจัดงานต่อไป ด้วยเหตุที่กังวลถึงสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศ อีกทั้งความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจรุนแรงกว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ญี่ปุ่นยังคงยืนยันว่าจะจัดงานโอลิมปิก 

ต่อให้นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะจะกล่าวว่ารัฐบาลจะไม่ให้ความสำคัญกับโอลิมปิกไปมากกว่าความคิดเห็นประชาชน แต่ท้ายที่สุดแล้วคำตัดสินใจของรัฐบาลกลับสวนทางกับแรงกดดันของฝ่ายคัดค้าน 

หลายคนจึงเกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดญี่ปุ่นจึงมีอำนาจในการตัดสินใจดำเนินการจัดงานโอลิมปิกต่อท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์เช่นนี้?

สาเหตุหลัก ๆ มาจากสัญญาระหว่างคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และรัฐบาลญี่ปุ่น โดยรายละเอียดการยกเลิกจัดงานโอลิมปิกจะอยู่ภายใต้อำนาจของ IOC ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง นั่นเป็นเพราะว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนั้นคือ “ทรัพย์สินทางปัญญา” ของ IOC กล่าวคือ IOC เป็น “เจ้าของ” ของเกมที่สามารถบอกเลิกสัญญาดังกล่าวได้แต่เพียงผู้เดียว 

ทาง Alexandre Miguel Mestrae ทนายความด้านกีฬาระหว่างประเทศได้กล่าวกับ BBC ว่านอกเหนือจากเหตุการณ์ครั้งใหญ่เช่น สงคราม หรือเหตุก่อความไม่สงบ ถ้า IOC มีเหตุอันควรเชื่อตามดุลยพินิจของตนแต่เพียงผู้เดียวว่าความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมจะถูกคุกคามหรือตกอยู่ในอันตรายอย่างร้ายแรง การแพร่ระบาดโควิด-19 ก็อาจถือว่าเป็นภัยคุกคามดังกล่าวได้ ซึ่งกฎบัตรโอลิมปิกยังกำหนดอีกว่า IOC ควรรับรอง “สุขภาพของผู้เข้าแข่งขัน” และส่งเสริม “การแข่งขันกีฬาที่ปลอดภัย” 

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่า IOC มุ่งมั่นจะดำเนินต่อไป โดยมีข้อกำหนดว่าผู้เข้าร่วมงานจะต้องมีผลตรวจโควิดเป็นลบ และนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันจะต้องกักตัว 3 วันก่อนมาโอลิมปิก ทั้งนี้ยังคงตรวจโควิดรายวันสำหรับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 

ดังนั้น หากญี่ปุ่นหากต้องการยกเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียว ทางศาสตราจารย์ Jack Anderson จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นได้กล่าวว่า ความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดจะตกอยู่กับคณะกรรมการจัดงานในญี่ปุ่น 

แม้ว่า IOC บอกเลิกสัญญาดังกล่าวด้วยเช่นกันและมีประกันคุ้มครองความเสียหาย ก็ไม่สามารถจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายการลงทุนทุกอย่างทั่วประเทศ เช่น การเตรียมรับนักท่องเที่ยวจากภาคโรงแรมและร้านอาหารที่ต้องปรับปรุงครั้งใหญ่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ 

ราคาที่ต้องจ่ายจากการเลื่อน โอลิมปิก 2020 

ต่อให้ญี่ปุ่นตัดสินใจจัดงานโอลิมปิกต่อเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจประเทศเสียหายไปมากกว่านี้ แต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตลอดขั้นตอนเริ่มวางแผนจนถึงตอนนี้อยู่ที่อย่างน้อย 3 แสนล้านเยน (2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และยิ่งถ้าไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมการแข่งขันก็จะเสมือนเป็นการทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศ ที่รายได้หลักล้วนมาจากผู้เข้าชมการแข่งขันทั้งหมด

นอกจากนี้ทั้ง IOC และญี่ปุ่นต้องปรับแผนการตลาดใหม่ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการผู้จัดงานยังคงพึ่งพาสปอนเซอร์ภายในประเทศทั้ง 68 ราย นำโดย Asahi Beer ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของประเทศ ซึ่งได้ระดมทุนจากสปอนเซอร์ทั้งหมดถึง 3.3 พันล้านดอลลาร์ การเลื่อนงานมีผลทำให้สปอนเซอร์หลายรายอาจลังเลที่จะสนับสนุนงานนี้ต่อไป และทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับการหาสปอนเซอร์รายใหม่ อีกทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการออกตั๋วจำนวนราว 7.8 ล้านใบ ก่อนที่จะเลื่อนการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ ดังนั้น การคงชื่อการแข่งขันว่าเป็น Tokyo Olympic 2020 ก็ช่วยให้คณะกรรมการผู้จัดงานประหยัดต้นทุนทั้งสปอนเซอร์ และพันธมิตรจัดงาน ในส่วนของการเปลี่ยนสัญลักษณ์การจัดงาน บรรจุภัณฑ์ เสื้อ และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับตัวงาน 

Olympic 2020 สัญญะแห่งความหวัง ฟื้นเศรษฐกิจประเทศ

จากที่ทราบกันว่าการตัดสินใจจัดงานต่อไปอาจทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนมากไม่พอใจและเกรงกลัวว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นยิ่งส่งผลให้ทั้งเศรษฐกิจและสภาพสังคมของญี่ปุ่นย่ำแย่ลงยิ่งขึ้น แต่ก็ญี่ปุ่นก็ยังพร้อมจะทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อการแข่งขันครั้งนี้ 

เนื่องจากโอลิมปิกมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์อย่างมากสำหรับประเทศ สื่อถึงการกลับมายิ่งใหญ่และแข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่งของญี่ปุ่น จากที่ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจประเทศซบเซา และเผชิญหน้ากับภัยพิบัติครั้งใหญ่ทั้งสึนามิ สารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะรั่วไหล และเหตุการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ขณะนี้ 

ดังที่ญี่ปุ่นเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกฤดูร้อนเมื่อปี 1964 ซึ่งขณะนั้น ญี่ปุ่นได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นประเทศที่สามารถฟื้นฟูและกลับมาเริ่มต้นใหม่จากสงครามโลกครั้งที่สอง จากที่ตอนแรกถูกแปะป้ายว่าเป็นผู้แพ้สงครามและต้องจ่ายค่าปฏิมากรรมสงครามจนเศรษฐกิจไม่เหลือชิ้นดี

ต่อจากนี้เราต้องมาดูกันว่าโอลิมปิกครั้งนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร จะเจอความท้าทายจากโควิด-19 อีกครั้งหรือไม่ และญี่ปุ่นจะรับมือกับเหตุการณ์โอลิมปิกที่จะจัดขึ้นในวันที่ 23 ก.ค. นี้อย่างไร 

อ้างอิง Bloomberg, BBC


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘KBTG Techtopia: A BLAST FROM THE FUTURE' ชวนท่องโลกเทคโนโลยีสุดล้ำ ไปกับรถไฟสายพิเศษ

เผยความพิเศษของ 'KBTG Techtopia: A BLAST FROM THE FUTURE' 1 Day Event แห่งปี 2024 กับการโชว์เทคสุดล้ำ, Speakers มากกว่า 50 คน มาแชร์ความรู้และเทรนด์ใหม่ๆ ผ่าน 3 เวทีใหญ่ และเวิร์กช...

Responsive image

จากเทคโนโลยี AI สู่ IA เพื่อมนุษย์ ในมุมมองของ “Pattie Maes”

เทคโนโลยีจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาชีวิตได้อย่างไร? มาดูแนวคิดในการออกแบบและทดสอบอุปกรณ์ที่ช่วยให้มนุษย์สามารถเรียนรู้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไปกับคุณ Pattie Maes นักวิจ...

Responsive image

สนามบินคันไซ 30 ปีไม่เคยทำสัมภาระผู้โดยสารสูญหาย ตั้งแต่เปิดให้บริการตั้งแต่ 1994 จนปัจจุบัน

30 ปีไม่มีพลาด สนามบินนานาชาติคันไซของญี่ปุ่นรักษาสถิติ ‘ไม่เคยทำสัมภาระผู้โดยสารสูญหาย’ เลยสักครั้ง นับตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 1994 จวบจนปัจจุบัน...