Blockchain จำเป็นหรือไม่สำหรับองค์กรของคุณ ? | Techsauce

Blockchain จำเป็นหรือไม่สำหรับองค์กรของคุณ ?

ขึ้นชื่อว่า Blockchain ไม่ว่าบริษัทเล็กหรือใหญ่ก็ต้องหันมามองเทคโนโลยียอดนิยมแห่งยุค เทคโนโลยีที่ได้ชื่อว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ และเป็นลูกที่มาแรงอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ยุคของอินเตอร์เน็ต เราสามารถเอา Blockchain ที่ทำหน้าที่เป็นระบบบัญชีแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger) มาประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลายในหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงินการธนาคาร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง การประกันภัย การค้าขาย ฯลฯ โดยการประยุกต์ใช้ Blockchain ที่เป็นที่นิยมที่สุดในขณะนี้ คือ การออก Digital Token

Blockchain จำเป็นหรือไม่สำหรับองค์กร

มันอาจฟังดูน่าสนใจมาก ๆ สำหรับผู้บริหารที่จะกระโดดลงไปสร้างโครงการที่ขับเคลื่อนด้วย Blockchain และออก Digital Token แต่ก็ต้องบอกว่าบางครั้ง ถึงแม้ตัวเทคโนโลยีจะฟังดูใหม่และน่าสนใจ รวมถึงที่ปรึกษาทุกคนก็เชียร์ให้เริ่มต้น แต่การจะนำ Blockchain และ Digital Token เข้ามาประยุกต์ใช้งานในองค์กรก็อาจจะต้องมีการพิจารณาให้ดี บางครั้งอาจจะกลายเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตนเกินไปในการที่จะลงทุนในเทคโนโลยีที่สุดท้ายอาจจะไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้มากอย่างที่คิด ดังนั้น Token X ในฐานะผู้ให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจโทเคนดิจิทัลแบบครบวงจร และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี Blockchain เราได้รวบรวมประเภทต่าง ๆ ของ Blockchain มาให้ ว่าแต่ละประเภทเหมาะกับการใช้ในกรณีไหนบ้าง พร้อมช่วยประกอบการตัดสินใจในการออก Digital Token ว่าเหมาะสมที่จะนำมาใช้กับโปรเจคใหม่ของคุณหรือไม่

Public Blockchain

Public Blockchain หมายถึงระบบ Blockchain ที่เปิดให้กับใครก็ได้เข้ามาใช้งาน ส่วนใหญ่ Public Blockchain จะไม่มีคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ระบบเครือข่ายของ Public Blockchain สร้างมาจากเครือข่ายของคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่มาร่วมกันเก็บข้อมูลของ Chain และประมวลผลร่วมกัน จึงมีข้อดีคือทำให้เกิดความน่าเชื่อถือที่สูงมากเนื่องจากการกระจายตัวของข้อมูลมีสูง 

แต่ก็มีข้อเสียคือการทำงานมักจะค่อนข้างช้าเพราะจะต้องรอให้ข้อมูลกระจายตัวอย่างครบถ้วน และ Transaction จะต้องถูกยืนยันจากคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ในเครือข่ายก่อนจึงจะสามารถยืนยันความสมบูรณ์ของ Transaction ได้ ตัวอย่างของ Public Blockchain เช่น Bitcoin หรือ Ethereum แต่ก็มี Public Blockchain หลาย ๆ ตัวเช่นกันที่บริหารจัดการโดยบริษัทใด

บริษัทหนึ่ง เช่น Binance Smart Chain (กำลังเปลี่ยนชื่อเป็น BNB Chain) ซึ่งบริษัทก็แลกเรื่องการลดความโปร่งใสเพื่อเพิ่มความเร็วในการทำ Transaction ให้ได้มากขึ้น โดยการที่ทำงานอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ดูแลโดยบริษัทและ Partner ต่าง ๆ จำนวนไม่กี่สิบเจ้า

Private Blockchain 

Private Blockchain คือระบบ Blockchain ที่มีการใช้งานภายในองค์กร หรือ ระหว่างองค์กรที่เป็นวงปิด และไม่ได้เปิดให้มีการตรวจสอบจากภายนอก โดยการตรวจสอบมักจะเกิดขึ้นระหว่างคู่ที่มีการส่งข้อมูลระหว่างกันเท่านั้น ซึ่งข้อดีของ Private blockchain ก็คือเหมาะกับข้อมูลทางการค้าที่เป็นความลับระหว่างคู่ค้าด้วยกันเท่านั้น โดยจะมีความเร็วที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากมีจำนวนคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายที่เชื่อมกันเป็นจำนวนไม่มาก 

ส่วนข้อเสียก็คือ Private Blockchain มักจะใช้กับ Transaction เฉพาะทาง อาจจะไม่สามารถนำไปใช้กับ Use Case ของ Public Blockchain อย่างเช่นการสร้าง Token ได้

Public Permissioned Blockchain

ระบบ Public Permissioned Blockchain มีความเป็นกึ่งกลางระหว่าง Public และ Private Blockchain โดยการเข้าใช้งานจะต้องมีการได้รับการอนุญาติเพื่อให้สามารถส่ง Transaction เข้าไปยัง Blockchain ได้ แต่ Transaction ต่าง ๆ สามารถถูกตรวจสอบได้แบบ Public Blockchain ซึ่งข้อดีคือ มีการควบคุมผู้ที่เข้าใช้งานได้ทำให้สามารถป้องกันปัญหา เช่น การที่มีแฮคเกอร์พยายามที่จะแฮค Smart Contract (โปรแกรมที่ทำงานอยู่บน Blockchain) และยังมีความโปร่งใสตรวจสอบได้อยู่อย่างครบถ้วน

เมื่อรู้ถึงข้อแตกต่างรวมถึงข้อดีและข้อเสียระหว่าง Blockchain แต่ละประเภทแล้ว เราจะมีหลักการอย่างไรเพื่อเลือกประเภทของ Blockchain ที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในโปรเจคของคุณ 

ในสองสามปีที่ผ่านมา มี Research Paper ออกมาหลากหลายแบบจากหลากหลายบริษัทที่จะแนะนำให้คุณสามารถที่จะเลือกประเภทของ Blockchain ได้ด้วยตัวเอง ตัวอย่างด้านล่างนี้เป็น Flowchart ง่าย ๆ ที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่าจะใช้ Blockchain ประเภทไหน (อ้างอิงจาก https://eprint.iacr.org/2017/375.pdf)

             Blockchain

ในการตัดสินใจภาพรวม คือ ถ้าระบบของคุณไม่จำเป็นจะต้องมีการเก็บข้อมูลใด ๆ ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้ Blockchain เพราะ Blockchain คือระบบที่ใช้ในการเก็บข้อมูล จากนั้นจึงมาดูว่าคนที่จะมาเขียนข้อมูลลงบน Blockchain นั้นมีหลายคนหรือไม่ ถ้าคุณกำลังทำระบบที่มีการเขียนข้อมูลเฉพาะการใช้งานภายในองค์กรเดียว นั่นก็ไม่จำเป็นต้องใช้ Blockchain เช่นเดียวกัน เพราะ Blockchain ช่วยในเรื่องการแชร์ข้อมูลกันระหว่างองค์กร 

ต่อมาก็คือพิจารณาว่าระบบของคุณมีตัวกลางที่เชื่อถือได้เป็นคนยืนยัน transaction ให้ได้หรือไม่ เช่น หน่วยงานกลางของรัฐ หรืออาจจะเป็นธนาคาร ซึ่งถ้ามีคนกลางที่เชื่อถือได้ช่วยยืนยัน transaction ให้ได้ Blockchain ก็ไม่จำเป็น ส่วนสุดท้ายคือเรื่องความเชื่อใจกันระหว่างคนที่เขียนข้อมูล ถ้าหากทุกคนเชื่อใจกันหมด ซึ่งอาจจะหมายถึงทุกคนเป็นคนในองค์กรเดียวกันหรือมาจากบริษัทแม่เดียวกัน การใช้ Blockchain ก็ถือว่าเป็นความสิ้นเปลือง เพราะสุดท้ายแล้วการเก็บข้อมูลในระบบฐานข้อมูลธรรมดาก็สามารถตอบโจทย์ได้

ลองมาดูเคสตัวอย่างในกรณีที่ถ้ามีบริษัทอยู่สามบริษัท A, B และ C สนใจจะทำระบบ Loyalty Point System ร่วมกันเพื่อแชร์การใช้งาน Loyalty Point ระหว่างกันแต่ B และ C เป็นคู่แข่งกันในทางธุรกิจ ถ้าเราลองใช้ Model การตัดสินใจข้างต้นมาวิเคราะห์ในเคสนี้ ก็จะพบว่า 

  • เนื่องจากเป็นระบบ Point System ที่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลบัญชีของผู้ใช้ว่าใครมีจำนวน point เท่าไหร่ เพราะฉะนั้นสามารถพิจารณาข้อต่อไปได้
  • การเขียนข้อมูลมาจากทั้งบริษัท A, B และ C เป็นการเขียนข้อมูลจากหลายคน
  • ระบบ Loyalty Point สามารถมีหรือไม่มีศูนย์กลางก็ได้ ถ้าทั้ง 3 บริษัทตกลงกันว่าจะไปใช้บริการบริษัทที่ 4 ทำระบบ Point System ให้ ในกรณีนี้ก็ถือว่ามีคนกลางที่เชื่อถือได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ Blockchain ก็ได้ แต่ถ้าบริษัท A, B และ C ไม่สนใจจะใช้บริษัทที่ 4 เป็นตัวกลาง อาจจะต้องการใช้ความสามารถอื่น ๆ ที่บริษัทที่ 4 ไม่สามารถให้ได้ ก็สามารถดูต่อว่าจำเป็นต้องใช้ Blockchain หรือไม่ 
  • คนที่เขียนข้อมูลเป็นบริษัท A, B และ C รวมถึงลูกค้าของทั้ง 3 บริษัท เพราะฉะนั้นถือว่าผู้เขียนข้อมูลรู้จักกันหมด
  • คนที่เขียนข้อมูล เช่นบริษัท B และ C เป็นคู่แข่งทางธุรกิจกัน อาจจะไม่สามารถเชื่อใจกันได้ 100% ว่าข้อมูลที่บันทึกจะถูกต้อง
  • ระบบ Point System เป็นระบบที่ผู้ใช้งาน (End-user) แต่ละคนต้องการความโปร่งใสว่าแต่ละคนได้รับ Point เท่าไหร่ ใช่จ่ายไปแล้วเท่าไหร่

เพราะฉะนั้นทางเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ จะออกมาที่ ทั้งสามบริษัท A, B และ C ตกลงจะพัฒนาระบบร่วมกันโดยใช้ Blockchain ประเภท Public Permissioned Blockchain ทั้งนี้ทั้งนั้น การเลือกใช้งานประเภทของ Blockchain นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะพิจารณา แต่ก็เป็นจุดที่สำคัญจุดหนึ่งที่เป็นการวางเทคโนโลยีพื้นฐานให้กับระบบของคุณ ถึงแม้ว่าผลจากการเลือกจาก Model การตัดสินใจด้านบนอาจจะบอกว่าคุณไม่จำเป็นต้องใช้ Blockchain ในวันนี้ก็ได้ แต่คุณก็ยังสามารถเลือกจะไปกับเทคโนโลยี Blockchain และการสร้าง Token ได้อยู่ดีจากหลาย ๆ เหตุผล 

เช่น จากเหตุผลทางการตลาด หรือ จากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารว่าถึงแม้ในปัจจุบัน Blockchain ยังไม่จำเป็นเพราะทำระบบใช้อยู่ภายในบริษัท แต่อีกสองปีข้างหน้า บริษัทมีแผนจะไปจับมือกับ Partner ต่างๆ หรือมีแผนจะทำโครงการเชื่อมต่อกับระบบ Defi (Decentralized Finance) การเลือกใช้ Blockchain ในวันนี้ก็คงจะสามารถให้ประโยชน์ในวันข้างหน้าเพื่อสนับสนุนการเติบโตของบริษัทได้

เขียนโดย นายพนิต เวชศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดดีล NVIDIA ปี 2024 ในอาเซียนไปร่วมมือใครมาบ้าง ?

NVIDIA ขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2024 ด้วยการลงทุน AI Centers และการพัฒนาระบบ AI ร่วมกับพันธมิตรในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ขับเคลื่อนภูมิภาคสู่การเป็นศูนย์...

Responsive image

ใครคือ SIAM AI CLOUD ? บริษัทเทคไทยที่ NVIDIA เลือก ด้วยอายุจดทะเบียนเพียง 10 เดือนกับ 19 วัน

บทความนี้จะพาไปสำรวจเบื้องหลังความสำเร็จของ SIAM AI CLOUD ทำไมไทยที่ก่อตั้งมาไม่ถึงปีถึงสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการเทคโนโลยีจนดึงตัวแม่ทัพใหญ่ของ NVIDIA มาไทยได้ !...

Responsive image

10 ไฮไลท์นวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพไต้หวัน ก้าวล้ำนำอนาคตในงาน Taiwan Expo 2024

10 นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ไฮไลท์จาก Taiwan Healthcare Pavilion ที่จะมาปฏิวัติวงการแพทย์ในทุกมิติ จากงาน Taiwan Expo 2024...