เผยกลุ่ม 5 บริษัทยักษ์นำทัพ Virtual Bank ไทย สู่การปฏิวัติการเงินครั้งใหม่ | Techsauce

เผยกลุ่ม 5 บริษัทยักษ์นำทัพ Virtual Bank ไทย สู่การปฏิวัติการเงินครั้งใหม่

การมาถึงของ Virtual Bank หรือธนาคารไร้สาขา ถือเป็นก้าวสำคัญของระบบการเงินไทย ที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน พัฒนานวัตกรรมทางการเงิน และเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันในระบบการเงินไทยให้สูงขึ้น

Virtual Bank

Virtual Bank คืออะไร

Virtual Bank หรือ ธนาคารไร้สาขา คือ ธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ที่ดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยไม่มีสาขาหรือตู้ ATM ให้บริการ ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมต่างๆ เช่น การเปิดบัญชี ฝาก-ถอนเงิน โอนเงิน ชำระเงิน ขอสินเชื่อ และลงทุนผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งแตกต่างจากธนาคารดั้งเดิมที่ยังคงมีสาขาและให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ควบคู่กันไป

การจัดตั้งธนาคารไร้สาขามุ่งเน้นบริการทางการเงินแก่กลุ่มเป้าหมายสำคัญ 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. ผู้ไม่มีรายได้ประจำ และ SMEs
  2. กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ (Underserved)
  3. กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved)
  4. กลุ่มเข้าไม่ถึงสินเชื่อและกลุ่มเป็นหนี้นอกระบบ

เปิด 5 รายชื่อผู้เข้ายื่น Virtual bank

ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปิดรับคำขออนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual Bank แล้วเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีผู้ยื่นคำขอทั้งสิ้น 5 ราย ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยี และฐานลูกค้าจำนวนมาก ทั้งนี้ ธปท. คาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ในช่วงกลางปี 2568 ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติการเงินครั้งใหม่ในประเทศไทย

เผยกลุ่ม 5 บริษัทยักษ์นำทัพ Virtual Bank ไทย สู่การปฏิวัติการเงินครั้งใหม่

1. กลุ่มธนาคารกรุงไทย (KTB) ร่วมกับ 

  • บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) 
  • บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) 
  • บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) *มีข่าวลือว่าอาจถอนตัว*

การรวมตัวกันของ 4 ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานของไทย ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีความพร้อมสูง โดยมีจุดเด่นที่แข็งแกร่งทั้งด้านธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และฐานลูกค้ารวมกันกว่า 100 ล้านคน

2. กลุ่มซีกรุ๊ป (Sea Group) ร่วมกับ

  • กลุ่มธนาคารกรุงเทพ (BBL)
  • บมจ.วีจีไอ (VGI) บริษัทลูกของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS)
  • เครือสหพัฒน์ (SPC)
  • ไปรษณีย์ไทย

กลุ่มนี้ถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่น่าจับตามอง โดย Sea Group ผู้นำแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีประสบการณ์ในการทำ Virtual Bank ในสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ร่วมมือกับ 3 ยักษ์ใหญ่ไทย มุ่งใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่าย พัฒนานวัตกรรมการเงิน และเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่เข้าถึงบริการทางการเงินได้ยาก เข้าถึงบริการได้มากขึ้น

3. กลุ่ม ซี.พี. (CP) ร่วมกับ

  • แอสเซนด์ มันนี่ (Ascend Money บริษัทแม่ของ True Money)
  • แอนท์ กรุ๊ป (Ant Financial Services Group ในเครือ Alibaba)

ความร่วมมือระหว่าง Ascend Money (True Money) และ Ant Group สะท้อนถึงการผนึกกำลังของผู้นำค้าปลีกไทยและฟินเทคยักษ์ใหญ่จากจีน โดย True Money มีฐานลูกค้าในไทยกว่า 27 ล้านคน และ Ant Group มีฐานลูกค้าในจีนกว่า 1.3 พันล้านคน การรุกเข้าสู่ธนาคารไร้สาขาของ True Money เป็นไปอย่างน่าจับตา ด้วยความเชี่ยวชาญด้านฟินเทค และเป้าหมายในการเป็น Virtual Bank ที่จะให้คนไทย 'ครึ่งประเทศ' ได้ใช้แพลตฟอร์มของพวกเขา

4. กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ร่วมกับ 

  • คาเคาแบงก์ (KakaoBank)
  • วีแบงก์ (WeBank)

การร่วมมือกันของ 3 ธนาคารยักษ์ใหญ่จาก 3 ประเทศ โดย KakaoBank มีจุดเด่นด้านเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น Chatbot และ AI ส่วน WeBank มีความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีทันสมัยระดับโลก การจับมือครั้งนี้สะท้อนความพร้อมของ SCBX ในการแข่งขัน Virtual Bank ที่กำลังคึกคักในไทย โดย SCBX มองว่าเป็นโอกาสดีที่จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น และถือเป็นการรวมพลังที่น่าจับตามอง ด้วยฐานลูกค้าในแต่ละประเทศรวมกันราว 400 ล้านคน

5. กลุ่ม Lightnet

  • ไลท์ฮับ แอสเสท (Lighthub Asset)
  • วีแล็บ (Welab)

การผนึกกำลังกันระหว่าง Lightnet นำโดย ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ มีเครือข่ายในไทย 46 ล้านราย ครอบคลุมภาคเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม และอีคอมเมิร์ซ มีช่องทางบริการ 150,000 แห่ง และประมวลผลปริมาณเงินทุนต่อปีกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ร่วมมือกับ WeLab ฟินเทคยูนิคอร์นจากฮ่องกง มีประสบการณ์ดำเนินการธนาคารเสมือนจริงที่ประสบความสำเร็จในฮ่องกงและอินโดนีเซียในฐานะ ‘Bank Saqu’ ซึ่งมีลูกค้าถึง 1 ล้านรายภายในเวลา 6 เดือนหลังเปิดตัว โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็กที่ยังเข้าไม่ถึงบริการจากธนาคารทั่วไป

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์และบริการจาก Virtual Bank ต่างประเทศ

Virtual Bank ในต่างประเทศได้นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งอาจเป็นแนวทางให้กับ Virtual Bank ในไทยได้ เช่น

  • Starling Bank (สหราชอาณาจักร): ธนาคารไร้สาขาแห่งแรกของสหราชอาณาจักรที่ให้บริการทางการเงินแก่ธุรกิจขนาดเล็กและประชาชนทั่วไป โดยมีการปรับแต่งผลิตภัณฑ์และบริการให้เหมาะกับผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่ม
  • Monzo (สหราชอาณาจักร): ธนาคารไร้สาขาที่เน้นให้บริการทางการเงินเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ (Millennials)
  • Kakao Bank (เกาหลีใต้): ธนาคารไร้สาขาที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ มีจุดเด่นที่ฐานลูกค้าเดิมจาก Kakao Talk การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และการออกแบบที่ใช้งานง่าย
  • Livi และ Mox (ฮ่องกง): ธนาคารไร้สาขาที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เพื่อนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ Virtual Bank
  • WeBank (จีน): ธนาคารไร้สาขาของกลุ่ม Tencent ผู้ให้บริการ WeChat มีจุดเด่นที่ฐานลูกค้าเดิมจาก WeChat กว่า 100 ล้านคนและเน้นการให้สินเชื่อแก่ SMEs และประชาชนที่เข้าไม่ถึงบริกาทางการเงินจากธนาคารดั้งเดิม

อนาคตของ Virtual Bank ในไทย

Virtual Bank มีศักยภาพในการปฏิวัติระบบการเงินไทย โดยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน พัฒนานวัตกรรม และส่งเสริมการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ Virtual Bank จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า การใช้ประโยชน์จากข้อมูล การมีฐานลูกค้า การพัฒนาเทคโนโลยี และการกำกับดูแลที่เหมาะสม

ด้วยการเปิดกว้างให้มีผู้เล่น Virtual Bank มากขึ้น และการมีกลุ่มทุนที่มีศักยภาพเข้าร่วมแข่งขัน ทำให้เราสามารถคาดหวังได้ว่า Virtual Bank จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าการเงินไทย และนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

สรุป

Virtual Bank เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการเงินดิจิทัลของไทย ผู้เล่นทั้ง 5 รายที่เข้าร่วมแข่งขันล้วนมีจุดเด่นและความพร้อมที่แตกต่างกันไป คงต้องติดตามกันต่อไปว่าใครจะได้รับใบอนุญาต และ Virtual Bank จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าการเงินไทยอย่างไรในอนาคต

อ้างอิง ธปท., Bloomberg, Bank of Thailand

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก LLMs’ Explainability การเข้าใจกลไกสมอง AI หนึ่งใน Tech Trends 2025 ที่จะมาเปลี่ยนโลกเอไอ

เจาะลึกเบื้องหลัง Large Language Models (LLMs) และเทคโนโลยี LLMs’ Explainability ที่ช่วยเปิดเผยกระบวนการทำงานของ AI จากกล่องดำสู่ความโปร่งใส ความก้าวหน้าที่เปลี่ยนโลก AI ในอนาคต!...

Responsive image

รู้จัก AI Product Management สายงานที่ Andrew Ng ชี้มาแรง

สำรวจบทบาท AI Product Management และเหตุผลที่ Andrew Ng ยกให้เป็นตำแหน่งสำคัญในการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ AI ตั้งแต่การพัฒนาแนวคิดจนถึงการนำไปใช้งานจริง...

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...