การแข่งรถ Formula 1 (F1) เป็นหนึ่งในกีฬาที่ท้าทายเป็นอย่างมาก เป็นกีฬาที่ต้องอาศัยรถที่แรงและเร็ว และนักแข่งที่ต้องมีความสามารถในการขับที่ยอดเยี่ยม พร้อมกับการตัดสินใจที่แม่นยำในทุกเสี้ยววินาทีของการแข่งขัน ดังนั้น ก่อนการแข่งขันแต่ละทีมและนักแข่งแต่ละคนจะต้องเตรียมตัวกันอย่างหนัก ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ F1 Simulator ที่จะช่วยนักแข่งได้พัฒนาทักษะและเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันจริง รวมไปถึงเป็นตัวช่วยในด้านการพัฒนารถอีกด้วย
F1 Simulator ก็คือ ระบบจำลองการแข่งรถเสมือนจริงนั่นเอง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย มูลค่าหลายล้านปอนด์ ที่ช่วยพัฒนารถโดยไม่จำเป็นต้องทดสอบในสถานที่จริง ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดทรัพยากร พลังงาน และช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก อีกทั้งยังช่วยให้นักแข่งได้ฝึกฝนการขับรถแข่งและสร้างความคุ้นชินต่อสนามแข่งแต่ละที่ รวมไปถึงพัฒนาความจำของกล้ามเนื้อหรือที่เรารู้จักกันดีว่า Muscle memory และปฏิกิริยาตอบสนองที่จำเป็นในการจัดการกับการขับรถ F1 ที่มีความเร็วสูง ไม่ว่าจะเป็นการหักหลบ หรือการเลี้ยวต่าง ๆ
Credit : Mercedes-AMG
โดยลักษณะคร่าว ๆ ของ F1 Simulator ก็คือ มีจอโค้งขนาดใหญ่ที่จะแสดงภาพของสนามแข่ง ที่นั่งของนักแข่งที่จำลองเสมือนกับที่นั่งนักแข่งบนรถแข่งจริง และอุปกรณ์จะมีน้ำหนักเท่ากับอุปกรณ์บนรถ F1 จริง ไม่ว่าจะเป็น พวกมาลัยหรือแป้นเบรค ส่วนตัวนักแข่งมักจะสวมชุดแข่งเหมือนเวลาแข่งจริงด้วยเช่นกัน
เนื่องจาก F1 ต้องการลดค่าใช้จ่ายในกีฬาชนิดนี้ เพราะ การขนส่งรถยนต์ อุปกรณ์ และช่างเครื่องไปยังสนามที่ทีมวางแผนจะทดสอบนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และต้องการเพิ่มโอกาสให้แก่ทีมเล็ก ๆ และลดช่องว่างระหว่างทีมชั้นนำให้มีความเท่าเทียมกัน ทาง F1 จึงแบน private test หรือ การฝึกซ้อมส่วนตัวบนสนาม ในปี 2009 ซึ่งทำให้ทีมต่าง ๆ ต้องหาวิธีอื่นเพื่อเตรียมตัวสำหรับการแข่งขัน ซึ่งวิธีนั้นก็คือ การใช้ 'Simulator'
ความเจ๋งของ Simulator ตัวนี้ก็คือ มีความแม่นยำและความละเอียดสูง เนื่องจากมีการใช้ เลเซอร์ไลดาร์ (Lidar scanning) ในการสแกนเพื่อสร้างโมเดลสนาม โดยสร้างสนามที่เสมือนจริงมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวจนไปถึงขอบถนน นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์จำลองจากภายนอก เช่น rFpro เพื่อสร้างความสมจริงของสภาพแวดล้อมในสนาม เนื่องจากสภาพแวดล้อมของสนามเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักแข่งไม่ว่าจะเป็นการหาจุดเบรกหรือจุดที่เหมาะสมในการหักเลี้ยวรถ
Credit : Mercedes-AMG
Simulator มีอยู่ 2 แบบ คือ การจำลอง Driver-in-Loop (DiL) และการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ การจำลองแบบ DiL เป็นการจำลองสนามทดสอบเสมือนจริงซึ่งรถและสนามแข่งที่ใช้แข่งขันจะถูกจำลองอย่างละเอียดเพื่อให้สามารถพัฒนารถ ค้นหาทิศทางการตั้งค่าที่เหมาะสม และช่วยให้นักแข่งคุ้นเคยกับสนามในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง ซึ่งคล้ายกับเครื่องจำลองเครื่องบินมืออาชีพที่ใช้ในการฝึกนักบิน แตกต่างกันตรงที่ค็อกพิทที่มีลักษณะเหมือนรถ F1 ไม่ใช่ห้องควบคุมการบิน และยังเอื้อให้นักแข่งทำระยะทางการแข่งขันได้อย่างเต็มรูปแบบ
ในส่วนของการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ จะสามารถจำลองรอบเสมือนจริงได้ 100% อีกทั้งยังสามารถให้นักแข่งเร่งความเร็วของรถไปพร้อมกันกับทำการจำลองอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยเพื่อช่วยในการหากลยุทธ์ที่เหมาะสมและไดนามิกของรถ
Credit : Pirelli
อย่างไรก็ตาม Simulator ยังคงมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ซึ่งก็คือ เทคโนโลยีนี้ไม่สามารถเลียนแบบโมเดลยางรถยนต์ที่มีอยู่ 3 แบบ คือ Hard Medium และ Soft อีกทั้งยังมียางที่ใช้สำหรับถนนเปียกอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำลองในสถานการณ์ที่อากาศร้อนเป็นอย่างมาก หรือการยึดเกาะของยางเมื่ออากาศเย็นเกินหรือร้อนเกินไป และสำหรับสนามใหม่ ๆ การสแกนเลเซอร์มักจะไม่สามารถจำลองจุดกระแทกที่มีอยู่ในสนามจริงได้
ถึงจะมีข้อจำกัดบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Simulator กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับนักแข่งและทีมทุกทีม เพราะทุกคนใช้มันเพื่อฝึกฝน เตรียมพร้อม และพัฒนาทักษะสำหรับการแข่งขันจริงถึงขนาดที่ แม็กซ์ เวอร์สแตปเพน แชมป์โลก F1 3 สมัยติดต่อกัน เผยว่า อยากติดตั้ง Simulator ไว้ในรถบ้านส่วนตัว เพื่อฝึกฝนทักษะการขับขันยามค่ำคืน
อ้างอิง : businessinsider, redbull, mercedesamgf1, eurosport, silverstone, thesun
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด