ยุค AI อาชีพนี้จะอยู่รอด และไม่โดนแย่งงานง่ายๆ มารู้จัก Gold-collar worker แรงงานระดับทองคำหายากที่ทุกอุตสาหกรรมต้องการตัว
Gold-collar worker คืออะไร ?
Gold-collar worker หมายถึงผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูงในสาขาที่มีความต้องการสูง เช่น แพทย์ ทนายความ วิศวกร นักบิน หรือนักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น แรงงานระดับ ‘ทองคำ’ กลุ่มนี้ มาพร้อมทักษะที่หาตัวจับยากและแน่นอนมาพร้อมค่าตอบแทนที่เหนือกว่าแรงงานประเภทอื่น
คำนี้ถูกใช้ครั้งแรกโดย Robert Earl Kelley ในหนังสือของเขาเรื่อง Gold-Collar Worker ในปี 1985 ซึ่งในอีกความหมายหนึ่งคำนี้หมายถึง คนอายุน้อยที่ลงทุนในสินค้าฟุ่มเฟือย
และถึงแม้ว่าจะทำงานนั่งโต๊ะเหมือนกับ White-collar worker แต่ตำแหน่งระดับ Gold-collar จะมีการทำงานด้านเทคนิคระดับสูงมากกว่างานธุรการ การประสานงาน หรือการวิเคราะห์ทั่วไป
ยิ่งในยุคเทคโนโลยี ยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) พัฒนาไปมากจนสามารถทำงานแทนมนุษย์ในบางอาชีพได้แล้ว ยิ่งทำให้ Gold-collar worker ทวีความสำคัญยิ่งขึ้น เพราะตำแหน่งงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ การแก้ปัญหา และการคิดเชิงวิพากษ์มีคุณค่ามากขึ้นกว่าที่เคย
แต่การจะก้าวไปเป็นแรงงานระดับทองคำนี้ก็ต้องแลกมาด้วยความยากลำบาก และต้องเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงการศึกษาระดับสูงเท่านั้นด้วย แรงงานระดับนี้มักจะมีความรู้กว้างขวางในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และต้องมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เนื่องจากต้องเพิ่มพูนทักษะของตนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีที่เกิดใหม่และการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว
10 อาชีพ Gold-collar worker น่าสนใจ
- Specialized Engineer (วิศวกรเฉพาะทาง) เช่น วิศวกรโครงสร้าง วิศวกรไฟฟ้า และวิศวกรเครื่องกล
- Data Scientist (นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล) ในยุคที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยข้อมูล Data Scientist จะช่วยให้องค์กรบูรณาการการใช้งาน AI Machine Learning กับข้อมูลที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- Quantitative Analyst (นักวิเคราะห์เชิงปริมาณ) มืออาชีพด้านการใช้วิธีเชิงปริมาณ ใช้เทคนิคทางคณิตศาสตร์และสถิติ เพื่อช่วยให้บริษัทต่างๆ ทำการตัดสินใจสำคัญทางธุรกิจและทางการเงิน มักทำงานในธนาคารเพื่อการลงทุนและ Trading Firm
- Specialized Developer (นักพัฒนาเฉพาะทาง) มุ่งเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น การพัฒนา Front-end หรือ Back-end แอปมือถือ แอปพลิเคชันการวิเคราะห์ข้อมูล หรือการทดสอบความปลอดภัย ต่างจาก Full Stack Developer ที่ทำงานส่วน Front-end และ Back-end ของโปรเจกต์
- Genetic Counselor (ที่ปรึกษาทางพันธุศาสตร์) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่มีการศึกษาเฉพาะทางและการฝึกอบรมด้านพันธุศาสตร์ทางการแพทย์ ทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านความผิดปกติทางพันธุกรรม ประเมินความเสี่ยงของบุคคลหรือครอบครัวต่อความผิดปกติทางพันธุกรรม
- Nanosystems Technologists (นักเทคโนโลยีนาโนซิสเต็มส์ หรือ วิศวกรนาโนซิสเต็มส์) เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ การพัฒนา และการประยุกต์ใช้ระบบและเทคโนโลยีระดับนาโน ซึ่งต้องมีความเชี่ยวชาญรอบด้าน ทั้งด้านวัสดุศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และวิศวกรรมไฟฟ้า
- Space Tech Engineer (วิศวกรเทคโนโลยีอวกาศ) มีพื้นฐานด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
- Neurosurgeon (ศัลยแพทย์ระบบประสาท) ทำหน้าที่วินิจฉัยและผ่าตัดรักษาความผิดปกติที่ส่งผลต่อระบบประสาท รวมถึงสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาท
- Researcher (นักวิจัย) สามารถพบได้ในหลากหลายสาขา ทั้งวิทยาศาสตร์ วิชาการ ธุรกิจ และเทคโนโลยี
- Intellectual Property Lawyer (ทนายความด้านทรัพย์สินทางปัญญา) อาชีพนี้จะยิ่งสำคัญมากขึ้นในยุค AI ที่สามารถเรียนรู้ข้อมูลมหาศาลและผลิตซ้ำออกมาได้ไม่รู้จบ ทำให้อาจเกิดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และละเมิดสิทธิของบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ง่ายขึ้น
อ้างอิง : forbes