'รถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) กลายเป็นยานพาหนะที่กำลังได้รับความนิยมในไทยเป็นอย่างมาก ด้วยอัตราการจดทะเบียนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจำนวนรถบนท้องถนนที่เห็นจนชินตา และสถานีชาร์จที่ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศไทย แต่เมื่อลองมองกลับมาที่วงการมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (EV Bike) ในประเทศไทย ดูจะเหมือนยังไม่เป็นที่นิยมสำหรับผู้ใช้มากนัก
ตามสถิติยอดการจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์จากกรมขนส่งตลอดปี 2023 ที่ผ่านมาพบว่า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามียอดจดทะเบียนราว 43,744 คัน ขณะที่มอเตอร์ไซค์น้ำมันขนาด 51-126+ ซีซี มียอดจดทะเบียนมากถึง 3,714,748 คัน
น่าคิดต่อว่า เพราะเหตุใดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่มีราคาเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายกว่าหลายเท่า แถมตอนนี้ก็มีราคาพอๆ กับมอเตอร์ไซค์น้ำมัน ถึงยังดูไปไม่ค่อยได้ไกลในตลาดไทยมากนัก ? ประเด็นนี้อาจเกิดมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญที่กำลังรอ Solution ดีๆ มาตอบโจทย์ก็เป็นได้
แม้ว่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะมีจุดเด่นในเรื่องของอัตราเร่งที่มาเร็วดั่งใจ ไร้เสียง ไร้การปล่อยมลพิษ แต่จุดที่หลายคนที่อาจมองข้ามไปคือเรื่อง “ระยะทาง” และ “แบตเตอรี่”
อ้างอิงจากตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทยแบบจดทะเบียนได้ ช่วงราคาไม่เกิน 100,000 บาท จะสามารถวิ่งได้ไกลสุดที่ประมาณ 90-150 กม./ชาร์จ แม้ตัวเลขอาจดูสูง แต่ระยะทางสูงสุดที่ทำได้จะแปรพันตามปัจจัยหลายอย่าง เช่น น้ำหนักบรรทุก, มอเตอร์, ระบบการจ่ายไฟ รวมไปถึง การขับขี่
หมายความว่าหากคุณเป็นคนที่ต้องการขับขี่เร่งแซง ขับด้วยความเร็วสูง ตัวรถก็จะบริโภคพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ระยะทางที่วิ่งได้ไกลสูงสุดที่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าวิ่งได้อาจจะเหลือเพียงแค่ 50% จากที่ผู้ผลิตระบุไว้เท่านั้น เช่น ระยะทางเคลมไว้ 150 กม. อาจขับได้สูงสุด 70 กม. เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น
สเปกมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารุ่นหนึ่ง
มอเตอร์ : 2000W
แบตเตอรี่ : 60V/28Ah
จำนวนแบตเตอรี่ : 2 ลูก
สมมติว่าใช้ความเร็วขับขี่เฉลี่ย 70 กม./ชม.
ระยะทางสูงสุดแบบไม่คำนึงปัจจัยอื่น :
ระยะทางที่วิ่งได้ = (ความจุแบตเตอรี่ (Ah) * แรงดันไฟฟ้า (V)) / (กำลังมอเตอร์ (W) * ประสิทธิภาพ) * ความเร็ว (km/h)
ดังนั้นระยะทางที่วิ่งได้ของมอเตอร์ไซค์ที่มีสเปกด้านบนแบบไม่คำนึงปัจจัยอื่น หากขับที่ความเร็วเฉลี่ย 70 กม./ชม. = (56 Ah * 60 V) / (2000 W) * 70 km/h = 117.6 กม.
แต่อย่างที่กล่าวไปว่า การคำนวนด้านบนเป็นการคำนวนแบบไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่น เช่น แรงต้านต่างๆ, น้ำหนักบรรทุก, สภาพถนน, สภาพอากาศ ไปจนถึงลักษณะการขับขี่ ซึ่งต้องหักลบจากตัวเลขด้านบนีอกครั้ง จึงทำให้ระยะทางที่วิ่งได้จริงน้อยลงจากนี้พอสมควร หากเราต้องการวิ่งได้ไกลกว่านี้ ก็จำเป็นต้องอัพเกรดแบตเตอรี่ใหม่ ซึ่งต้องอาศัยทั้งเงิน และความเชี่ยวชาญจากผู้มีประสบการณ์
อ่านมาถึงตรงนี้หลายน่าจะเริ่มสงสัยแล้วว่า ตอนนี้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ แถมมีบริการตู้สลับแบตเตอรี่ตามปั้มน้ำมัน หรือสถานที่ต่างๆ ทำให้การใช้งานหนักๆ อย่างการวิ่งไรเดอร์ วิ่งส่งของ ขับไปเที่ยว เป็นเรื่องที่ไม่น่ามีปัญหาอะไร ไม่จำเป็นต้องอัพเกรดรถให้ยุ่งยาก คำตอบก็คือ
มอเตอร์ไฟฟ้าที่ขายในประเทศไทยแต่ละแบรนด์ ต่างมีขนาดแบตเตอรี่ และ “หัวชาร์จ” แบตเตอรี่ที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ไม่สามารถยกแบตเตอรี่ไปเปลี่ยนที่ตู้ได้หากคุณไม่ได้ใช้ค่ายเดียวกัน นึกภาพง่ายๆ ว่า หากคุณใช้ iPhone ที่มีหัวชาร์จเป็นแบบ Lightning อยู่ ก็ไม่สามารถนำเครื่องของเราไปชาร์จร่วมกับตู้ชาร์จ Android หรือ iPhone ที่เป็นหัวชาร์จแบบ USB-C ได้ เป็นต้น ต่างจากรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราที่มีหัวชาร์จไม่กี่แบบเท่านั้น
นอกจากนี้ ราคาแบตเตอรี่ต่อลูกถือว่าค่อนข้างสูงทีเดียว (หลักหมื่นบาท) เพราะเป็นสิ่งที่เปรียบเสมือนหัวใจคอยสูบฉีดพลังงานไปให้ตัวรถ จึงทำให้ผู้ผลิต และผู้นำเข้ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าหลายรายตัดสินใจไม่ลงทุนในตู้สลับแบตเตอรี่ เพราะนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างตู้ ค่าไฟ และสถานที่แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายในเรื่องแบตเตอรี่ที่ต้องซื้อตุนไว้ในตู้เพื่อรอคนมาสลับแบตเตอรี่นั่นเอง
แต่ก็นับว่าเป็นโอาสที่ดีสำหรับแบรนด์ผู้ผลิต และผู้นำเข้ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในไทย ที่อาจต้องมีการพูดคุย และร่วมมือกับผู้พัฒนาแพลตฟอร์มสลับแบตเตอรี่ เพื่อรองรับจำนวนรถมอเตอร์ไซค์ไฟ้าที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน
อะไหล่และการซ่อมบำรุง เป็นอีกปัจจัยที่อาจทำให้วงการมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเติบโตในไทยค่อนข้างช้า แม้ว่า EV Bike จะมีชิ้นส่วนที่ต้องดูแลรักษาไม่มากนัก แต่ก็มีบางชิ้นส่วนที่ยังจำเป็นต้องใช้ร่วมกับมอเตอร์ไซค์น้ำมันอยู่ แถมเป็นดูจะเป็นเรื่องยากสำหรับช่างทั่วไปก็คือ ยาง และระบบไฟฟ้า
มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ขายในบ้านเรามีอยู่ 2 ประเภทแบ่งตามรูปแบบการวางมอเตอร์ขับเคลื่อน ได้แก่
Mid-Drive Motor (ขับกลาง : มอเตอร์ติดตั้งอยู่กลางตัวรถ ใช้โซ่หรือสายพานในการส่งกำลัง)
Hub Motor (ขับหลัง : มอเตอร์ติดตั้งอยู่ที่ล้อหลังของรถ)
โดยการเปลี่ยนยางใหม่ หรือการปะในกรณียางรั่ว หากเป็นรุ่นที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ Mid-Drive ช่างทั่วไปสามารถทำได้เพราะขั้นตอนเหมือนกับมอเตอร์ไซค์น้ำมันปกติ แต่หากเป็นรุ่นที่ใช้ระบบ Hub-Drive ที่ส่วนใหญ่นิยมใช้กัน ช่างจำเป็นจะต้องมีความรู้ในการถอดสายมอเตอร์ รวมถึงเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับมอเตอร์ล้อ รวมถึงต้องมีเครื่องมือที่ช่วยในการถอดล้อคล้ายกับของรถยนต์ ซึ่งหมายความว่าการเข้าเซอร์วิสแต่ละครั้งจะต้องเป็นร้านเฉพาะทาง หรือร้านที่มีความเชี่ยวชาญด้านรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสูง
ปัจจัยสุดท้ายก็คือ ‘เวลา’ ที่ทำให้หลายคนใช้เกณฑ์ในการเลือกซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แม้ว่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะสามารถเติมพลังงานระหว่างการเดินทาง ด้วยการใช้ตู้ชาร์จแบบรถยนต์ไฟฟ้าได้ แต่ก็ใช้เวลาชาร์จค่อนข้างนานเพราะมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าใช้ระบบชาร์จแบบ AC หรือ Normal Charge ที่รองรับการจ่ายกำลังไฟแบบจำกัด ส่งผลให้การชาร์จแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้เต็มใช้เวลาสูงถึง 3-5 ชั่วโมง (*มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ในรุ่นที่ใช้แบตเตอรี่ 2 ก้อน ความจุต่อก้อน 60V 35Ah) ต่างจากรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้การชาร์จแบบ DC ที่ชาร์จเพียงครึ่งชั่วโมงก็เพียงพอต่อการขับต่อในหลักร้อยกิโลเมตรได้แล้ว
การชาร์จแบตเตอรี่ของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าผ่านตู้ชาร์จ อาจเป็นสิ่งที่ยังดูไม่ค่อยคุ้มค่าเมื่อเทียบกับเวลาที่เสียไป จึงทำให้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในตอนนี้ดูจะเหมาะกับผู้ที่ต้องการขับขี่ในระยะสั้น ขับไปจ่ายตลาด ขับไปกลับที่ทำงานแล้วกลับมาชาร์จในที่พักในระหว่างที่ไม่ได้ขับขี่เสียมากกว่า
แต่อย่างไรก็ตาม วงการมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในช่วงตั้งไข่ แบรนด์เจ้าตลาดยังไม่ลงมาทำตลาดจริงจังมากนัก จึงทำให้ในตอนนี้เป็นโอกาสทองสำหรับธุรกิจที่มี Solution เกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ทั้งในเรื่องของการชาร์จแบตเตอรี่, แพลตฟอร์มการสลับแบตเตอรี่, การฝึกอบรบช่าง ไปจนถึงการสร้างบุคคลากรที่มีความรู้ด้าน EV ซึ่งหากมีการผลักดันในด้านนี้อย่างเต็มที่เชื่อว่า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะกลายเป็นยานพาหนะที่โลดแล่นบนท้องถนนประเทศไทยไม่แพ้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแน่นอน
อ้างอิง : ศูนย์สารสนเทศยานยนต์, tromox, QSMotor,
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด