ถ้าพูดถึงโปรแกรมออกแบบที่ใช้ง่าย สะดวก แถมฟรีด้วย คุณคิดถึงโปรแกรมไหนเป็นอันดับแรก? สำหรับหลาย ๆ คน คำตอบก็คงหนีไม่พ้น Canva ที่ตอนนี้มีคนใช้งานทั่วโลกมากกว่า 170 ล้านคนแล้ว และสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่สุดของ Canva
ในปี 2023 มีชิ้นงานถูกสร้างขึ้นบนแพลตฟอร์มนี้กว่า 20,000 ล้านชิ้น โดยเกือบ 4 พันล้านชิ้นมาจากผู้ใช้ในอเมริกา นอกจากนี้ แบรนด์ดัง ๆ อย่าง Reddit และ Zoom ก็ไว้ใจใช้ Canva ในการสร้างสื่อ และบริษัทในกลุ่ม Fortune 500 กว่า 90% ก็เริ่มใช้งานกันแล้ว
ที่น่าสนใจคือ ตอนนี้ Canva กำลังเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยการเสนอขายหุ้น IPO เพื่อไปสู้กับยักษ์ใหญ่อย่าง Adobe โดยเน้นเจาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ หวังคว้าส่วนแบ่งจากตลาด Corporate บทความนี้ Techsauce จึงอยากเล่าเส้นทางการต่อสู้ของ Canva สตาร์ทอัพที่คิดใหญ่จนกล้าท้าชนกับเจ้าตลาดอย่าง Adobe
ย้อนไปเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ในปี 2006 Canva ยังเป็นแค่ไอเดียเล็ก ๆ ของผู้หญิงที่ชื่อ Melanie Perkins และตอนนั้นเธอก็ยังเป็นแค่นักศึกษาอายุ 19 ปีที่มหาวิทยาลัยในเมืองเพิร์ธ เธอรับงานเป็นติวเตอร์สอนการใช้โปรแกรมออกแบบเพื่อหารายได้เสริม แต่สิ่งที่เธอเจอคือ ลูกศิษย์ต่างพากันบ่นว่าโปรแกรมอย่าง Microsoft กับ Adobe นั้นทั้งซับซ้อนและใช้งานยากเกินไป
นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของความคิดที่ว่า “ทำไมมันจะต้องยากขนาดนี้?” เธอเกิดไอเดียว่าในอนาคตจะต้องมีเครื่องมือออกแบบที่ใช้ออนไลน์ ใช้งานง่าย และช่วยให้คนทำงานร่วมกันได้อย่างสะดวก ดังนั้น เธอจึงได้ร่วมมือกับแฟนหนุ่มของตนเองอย่าง Cliff Obrecht เพื่อพัฒนาไอเดียนี้ให้เป็นจริง
Perkins และ Obrecht ทั้งคู่ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย พวกเขาจึงเริ่มธุรกิจแรกที่ในการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เปิดให้เด็กนักเรียนสามารถออกแบบและจัดทำหนังสือรุ่นของตัวเองได้ชื่อว่า Fusion Books เนื่องจากพวกเขาทั้งคู่สังเกตุเห็นจากแม่ของตนเองที่เป็นครูมักเจอปัญหาในการออกแบบหนังสือรุ่นอยู่บ่อยๆ
Fusion Books มันเลยไม่ได้เป็นแค่จุดเริ่มต้นของเส้นทางการสร้าง Canva เท่านั้น แต่ยังเป็นบทพิสูจน์ว่า การมองปัญหาเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน แล้วตั้งคำถามกับมัน อาจเป็นก้าวแรกของไอเดียที่เปลี่ยนแปลงโลกได้เช่นกัน
Fusion Books เริ่มต้นขึ้นมาจาก ‘เงินที่ยืมเพื่อนมา’ เพราะ Melanie Perkins ในตอนนั้นไม่มีทั้งเงินทุนหรือความรู้ด้านเขียนโค้ด เลยต้องหันไปพึ่งเพื่อน ๆ ช่วยลงขันกันเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อจ้างฟรีแลนซ์สายเทคมาสร้างเว็บให้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่เด็กนักเรียนสามารถออกแบบหนังสือรุ่นได้ด้วยตัวเอง
สำนักงานแรกของ Fusion Books ก็ไม่ได้หรูหราอะไร เริ่มจากแค่ห้องนั่งเล่นบ้านคุณแม่ของ Perkins โดยทั้งเธอและแฟนหนุ่ม Cliff Obrecht ก็ออกโปรโมท Fusion Books แบบบ้าน ๆ โทรหาโรงเรียนทีละแห่ง อธิบายไอเดีย แจกตัวอย่างงานออกแบบฟรี จนค่อย ๆ สร้างชื่อเสียงและดึงดูดความสนใจจากโรงเรียนในออสเตรเลียกว่า 400 แห่ง
แต่สำหรับ Perkins แล้ว Fusion Books เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะความฝันของเธอใหญ่กว่านั้น เธออยากสร้างแพลตฟอร์มที่รวมทุกเครื่องมือการออกแบบไว้ในที่เดียว และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาแพลตฟอร์มอย่าง Canva ขึ้นมา
Perkins ยอมลาออกจากมหาวิทยาลัยและเดินสายสร้างเครือข่าย พบกับนักออกแบบ บล็อกเกอร์ นักการตลาดบนโซเชียลมีเดีย และนักลงทุนเพื่อพยายามโปรโมทแพลตฟอร์ม จนเริ่มมีคนสนใจและเข้าคิวรอเปิดตัวถึง 50,000 คน และเมื่อ Guy Kawasaki หนึ่งในคนดังวงการเทคโนโลยีสนใจจนช่วยโปรโมท Canva ให้ เพราะมีพนักงานของเขาคนหนึ่งบอกว่าใช้แล้วติดใจ จนยอดลงทะเบียนพุ่งไปถึง 150,000 คนในพริบตา
หลังจากเปิดตัว ทั้งคู่พยายามวิ่งหานักลงทุน แต่ช่วงแรก Canva ถูกปฏิเสธอย่างหนัก จนกระทั่งราวปี 2010 ขณะที่ Perkins ประชุมอยู่ที่เพิร์ธ วันนั้นดูเหมือนจะเป็นวันธรรมดา แต่กลับกลายเป็นวันเปลี่ยนชีวิตของเธอ เพราะเธอได้พบกับ Bill Tai นักลงทุนชื่อดังจาก Silicon Valley ที่ไม่เพียงแค่ฟังไอเดียของเธอ แต่ยัง “อิน” จนถึงขั้นเชิญเธอไปนำเสนอที่ซานฟรานซิสโก
Perkins เล่าต่อว่าตอนแรกเธอรู้สึกกลัวนิด ๆ เพราะบิลเอาแต่ก้มมองโทรศัพท์ เธอคิดว่าเขาคงไม่สนใจ แต่จริง ๆ แล้วเขากำลังเร่งหาคอนเนคชั่นให้เธออยู่ เมื่อกลับถึงบ้าน เธอก็พบกับข้อความติดต่อเข้ามารัว ๆ นี่แหละคือจุดเริ่มต้นที่พาไอเดีย Canva ขึ้นสู่การเป็นแพลตฟอร์มออกแบบที่กล้าท้าชนกับ Adobe
หลังจากต่อสู้มาอย่างยาวนาน ในที่สุด Perkins และ Obrecht ก็สามารถดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่และขยายทีมเทคโนโลยีให้กลายเป็นฝันที่เป็นจริง
ในปี 2012 นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เมื่อ Lars Rasmussen ผู้ร่วมก่อตั้ง Google Maps ชี้แนะให้พวกเขาขยายทีม พร้อมกับดึง Cameron Adams เข้ามาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งด้านเทคโนโลยี และ Dave Hearnden นักพัฒนา (Developer) ฝีมือดีมาร่วมเสริมทัพ ทีมงานที่มีความมุ่งมั่นเริ่มลงลึกกับการออกแบบแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ผู้ใช้มากขึ้น
ไม่นานหลังจากนั้น Canva ก็สามารถปิดระดมทุนครั้งแรกได้ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 50 ล้านบาท และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลียช่วยขับเคลื่อนความฝันนี้ให้เกิดขึ้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Canva ก็สามารถระดมทุนได้ถึงประมาณ 580 ล้านดอลลาร์จากการระดมทุนหลายรอบ โดยได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนรายใหญ่ เช่น Goldman Sachs Group Inc. และกองทุนบำนาญครูแห่งออนแทรีโอ (Ontario Teachers' Pension Plan)
ในปีถัดมาความฝันที่ Perkins รอคอยก็เป็นจริง แพลตฟอร์ม Canva เปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการและเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ทั่วโลกสามารถสร้างสรรค์ดีไซน์ฟรีแบบง่าย ๆ ได้อย่างเต็มที่ จากทีมที่เคยไม่มีความรู้เรื่องการเขียนโค้ด ตอนนี้ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 4,500 คน และมีสำนักงานกระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก
ปัจจุบัน Canva กลายเป็นสตาร์ทอัพของผู้หญิงที่มีมูลค่าสูงสุดของโลก ด้วยมูลค่ากว่า 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8.7 แสนล้านบาท นับเป็นยูนิคอร์นในวงการเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของออสเตรเลีย
ซึ่งในตอนนี้ Canva เตรียมตัวจะเข้าตลาดหุ้น (IPO) บริษัทจำเป็นต้องพิสูจน์ว่ามีความพร้อมในการแข่งขันกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ โดย Canva ตั้งเป้าขยายส่วนแบ่งในตลาดซอฟต์แวร์สร้างสรรค์มูลค่า 15.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในขณะนี้ตลาดดังกล่าวถูกครองส่วนใหญ่โดย Adobe
หากเราย้อนกลับไปดูโมเดลธุรกิจของ Adobe ในช่วงก่อนปี 2013 เราจะพบว่าพวกเขาใช้วิธีการขายผลิตภัณฑ์แบบซื้อขาด (licenses) โดยเน้นขายซอฟต์แวร์ออกแบบแยกย่อยเป็นหลายๆ ผลิตภัณฑ์ เช่น Adobe Illustrator, Adobe Photoshop, และ Adobe Acrobat ซึ่งทำให้การเข้าถึงโปรแกรมเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่จำกัดมากขึ้นสำหรับผู้ใช้ทั่วไป
Canva เข้าใจว่าถ้าต้องการประสบความสำเร็จต่อไป ก็ต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เจอชะตากรรมเดียวกับบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เริ่มต้นมาอย่างแข็งแกร่งแต่ไม่สามารถเติบโตต่อได้ ดังนั้น กลยุทย์หลักที่ Canva ทำเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดนั้นมาก็คือ การทุ่มเงินเดิมพันด้วย AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ผู้คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจมากที่สุด
ในปี 2023 ยอดขายของ Canva เติบโตขึ้นกว่า 50% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นคนรุ่นใหม่และเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม รายได้ส่วนใหญ่ยังมาจากผู้สมัครสมาชิกแบบรายบุคคล มากกว่าการมีลูกค้ารายใหญ่ที่จะสร้างผลกำไรให้บริษัทได้มากกว่า
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Canva จึงได้ซื้อกิจการ Leonardo.Ai ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์คอนเทนต์รูปแบบใหม่ด้วย AI นอกจากนี้ ก่อนหน้านั้น Canva ยังได้เข้าซื้อกิจการของ Affinity ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาซอฟต์แวร์ที่คล้ายกับ Adobe Photoshop และ Illustrator การเข้าซื้อกิจการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของ Canva ในการขยายธุรกิจและดึงดูดลูกค้ารายใหญ่มากขึ้น
การที่ Canva หันมาลงทุนใน AI เพื่อเพิ่มความสามารถของแพลตฟอร์ม เพราะพวกเขาเชื่อว่า AI จะช่วยให้บริษัทสามารถแข่งขันกับ Adobe ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ เช่น บรรดานักการตลาดสามารถสร้างเนื้อหามืออาชีพได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น เช่น บริษัทที่ต้องการเปลี่ยนโลโก้หรือข้อความโฆษณาสามารถทำได้อย่างรวดเร็วด้วย AI ของ Canva โดยไม่ต้องจ้างดีไซเนอร์เพิ่ม
จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในห้องนั่งเล่นที่เพิร์ธ Canva ได้พาตัวเองขึ้นสู่เวทีระดับโลกด้วยความฝันที่ท้าชน Adobe แบบไม่เกรงกลัว การใช้เทคโนโลยี AI เสริมพลังแพลตฟอร์มเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะพาเราเข้าสู่ยุคที่การออกแบบไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอีกต่อไป
ดังนั้นการต่อสู่ครั้งนี้ Canva ไม่ได้แค่สู้กับยักษ์ใหญ่อย่าง Adobe แต่ยังปฏิวัติวงการออกแบบ เพื่อให้ทุกคนสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ในแบบของตัวเอง
อ้างอิง: bloomberg, canva, cnbc, kickstartsidehustle
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด