‘ปารีสโอลิมปิก’ 124 ปี ความล้มเหลวในอดีต สู่ 'Luxury Olympics' ที่จะเปลี่ยนภาพจำคนทั้งโลก | Techsauce

‘ปารีสโอลิมปิก’ 124 ปี ความล้มเหลวในอดีต สู่ 'Luxury Olympics' ที่จะเปลี่ยนภาพจำคนทั้งโลก

โอลิมปิก ปารีส 2024 จะเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ปารีสได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยมี LVMH เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลัก ซึ่งทำให้คนทั่วโลกต่างจับตาโอลิมปิกในปีนี้อย่างมากว่ามันจะกลายเป็น Luxury Olympics หรือมหกรรมกีฬาที่หรูหราและมีสไตล์มากที่สุดในประวัติศาสตร์

แต่เชื่อหรือไม่ว่า การเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิกครังที่ 1 และ 2 เมื่อ 124 ปีที่แล้วของฝรั่งเศสไม่ได้ยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้ แต่ ทบไม่มีคนสนใจ !

โอลิมปิก ปารีส 2024

บทความนี้ Techsauce จะพาไปย้อนรอยเรื่องราวของ 'ปารีสโอลิมปิก' 2 ครั้งที่ผ่านมาว่า ฝรั่งเศสทุ่มสุดตัวเท่าปีนี้ไหม และเขาเคยได้อะไรกลับไปบ้าง

ฝรั่งเศสผู้ฟื้นคืนชีพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของโลกสมัยใหม่

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมีประวัติยาวนานกว่าพันปี แต่การแข่งโอลิมปิกโบราณถูกยกเลิกตั้งแต่ 393 ปีก่อนคริสตกาล และการชุบชีวิตโอลิมปิกสู่ยุคใหม่เกิดขึ้นได้เพราะชายชาวฝรั่งเศสชื่อ Baron Pierre de Coubertin 

เขาเชื่อว่าโอลิมปิกจะเชื่อมคนทั่วโลกเข้าด้วยกันได้ โดยยังคงใช้โมเดลการจัดแข่งขันทุก 4 ปีเหมือนเดิม ภายใต้ชื่อ The Modern Olympic Games ที่ครั้งแรกจัดขึ้น ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในปี 1896 เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศต้นกำเนิดของโอลิมปิกโบราณ

1900: โอลิมปิกที่ไม่มีใครจำ

4 ปีผ่านไปจากการจัดโอลิมปิกยุคใหม่ครั้งแรก ในปี 1900 ฝรั่งเศสก็ได้โอกาสเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก แต่มันดันมาจัดตรงกับงาน Paris EXPO งานแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรมครั้งใหญ่ของโลก อีกหนึ่งงานที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพขณะนั้น

ในงาน Paris EXPO มีการแสดงเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น บันไดเลื่อนตัวแรก รถยนต์ เครื่องบิน และภาพยนตร์ สร้างความฮือฮาไม่แพ้การเกิดขึ้นของ AI ในยุคปัจจุบัน ไทยเองก็ได้รับการสนับสนุนจากรัชกาลที่ 5 ให้ส่งสินค้า ผ้าไหม และเฟอร์นิเจอร์แบบไทยไปโชว์ด้วย

            รูปภาพจาก: www.silpa-mag.com

Paris EXPO แย่งซีนการแข่งโอลิมปิกไปหมด บวกกับโอลิมปิกครั้งนั้นไม่มีพิธีเปิดหรือปิดอย่างเป็นทางการที่น่าจดจำ ทำให้คนเข้าใจผิดว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นส่วนหนึ่งของงาน Paris EXPO และที่แย่ไปกว่านั้นนักกีฬาหลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการแข่งกีฬาที่ตนเองเข้าร่วม คือ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 

ฝรั่งเศสทุ่มสุดตัวกับโอลิมปิกแค่ไหน ?

ค่าใช้จ่ายในการจัดโอลิมปิกครั้งนี้ไม่มาก เมื่อเทียบกับเงิน 120 ล้านฟรังก์ (ราว 4.8 พันล้าน) ที่ฝรั่งเศสใช้กับงาน Paris Expo สำหรับงานโอลิมปิกเงินที่ใช้ไปส่วนใหญ่ คือ การให้เงินรางวัลแก่ผู้ชนะ เช่น Albert Ayat แชมป์กีฬาฟันดาบที่ได้รับเงินรางวัลกว่า 3,000 ฟรังก์ หรือประมาณแสนกว่าบาท

โอลิมปิกในปี 1900 ฝรั่งเศสได้อะไรกลับคืนมาบ้าง ?

แม้โอลิมปิก 1900 จะดูเงียบเหงาแต่ก็มีนักกีฬาที่เดินทางมาแข่งเกือบ 1,000 คนจากทั้งหมด 24 ประเทศ ฝรั่งเศสประกาศว่าได้ขายตั๋วเข้าชมงานมูลค่า 1,000,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 35 ล้านบาท) 

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่การขายตั๋วหรือการดึงดูดคนเข้ามายังฝรั่งเศส ( Paris Expo มีคนมาเยี่ยมชมงานกว่า 50 ล้านคน มากกว่าโอลิมปิกหลายเท่า) แต่คือ ‘การทำลายกำแพงเรื่องเพศ’

เพราะในปีนี้นับเป็นครั้งแรกในโลกตั้งแต่มีโอลิมปิกมาที่ผู้หญิงลงแข่งได้อย่างเป็นทางการ แม้ว่าจำนวนจะน้อยมากก็ตาม โดยมีนักกีฬาชาย 975 คนและหญิง 22 คน เข้าร่วมการแข่งขัน และมี Briton Charlotte Cooper กลายเป็นแชมป์โอลิมปิกหญิงเดี่ยวคนแรกในกีฬาประเภทเทนนิสเดี่ยว 

การที่ผู้หญิงได้มีโอกาสลงแข่งขันโอลิมปิกเป็นการเปิดประตูสู่ความเท่าเทียมทางเพศในวงการกีฬา หญิงยุคนั้นแต่งชุดกระโปรงยาว ตีกอล์ฟ ตีเทนนิส และยิงธนู ถือเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน

1924: โอลิมปิกที่สร้างภาพจำใหม่ให้คนทั่วโลก

นับเป็นครั้งที่ 2 ของฝรั่งเศสในฐานะเจ้าภาพผู้จัดการแข่งขันโอลิมปิก ทำให้การแข่งขันครั้งนี้ฝรั่งเศสตั้งใจที่จะฟื้นฟูกีฬานี้อย่างจริงจัง และสร้างภาพจำใหม่ให้กับคนทั่วโลก

ส่งผลให้ในปี 1924 ฝรั่งเศสทุ่มเงินมากขึ้นในการจัดงานโอลิมปิก โดยใช้เงินที่ราวๆ 10,000,000 ฟรังก์ หรือกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งเยอะพอสมควรเมื่อเทียบกับค่าเงินเมื่อ 100 ปีที่แล้ว แต่การทุ่มทุนในครั้งนี้ก็ช่วยให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปารีสครั้งที่ 2 ได้รับความนิยมมากกว่าครั้งแรก

มีผู้เข้าร่วมงานถึง 60,000 คนต่อวัน นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันก็เพิ่มขึ้นถึง 44 ประเทศ รวมถึงมีการรายงานข่าวจากสื่อทั่วโลกมากขึ้น ออกอากาศทางวิทยุ จนไปถึงการทำเป็นหนัง ซึ่งทำให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเข้าถึงผู้ชมในวงกว้างขึ้น

จนผู้คนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1924 ที่กรุงปารีสถือเป็นจุดเปลี่ยนของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ทำให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมีขนาดใหญ่ขึ้นและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมากกว่าแต่ก่อน

ทำไมถึงเป็นจุดเปลี่ยน ?

อย่างที่รู้กันดีว่าก่อนหน้านี้ภาพลักษณ์ของโอลิมปิกไม่ใช่อีเวนต์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก ผู้คนไม่ได้ให้ความสนใจกับงานนี้มากเท่าปัจจุบัน ซึ่งการกลับมาเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 2 ของฝรั่งเศสก็เหมือนเป็นการเซ็ทระบบให้กับการแข่งขันโอลิมปิก ทำให้เกิดประเพณีและแนวคิดใหม่ๆ มากมายที่ยังคงยึดถือไว้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปัจจุบัน อาทิ 

  • หมู่บ้านโอลิมปิก : จุดเริ่มต้นของการมีหมู่บ้านโอลิมปิกแห่งแรกของโลก สร้างขึ้นเพื่อให้นักกีฬาได้อยู่อาศัยในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก มีบริการขั้นพื้นฐาน เช่น การแลกเปลี่ยนเงินตรา ร้านซักแห้ง ช่างทำผม แผงขายหนังสือพิมพ์ และที่ทำการไปรษณีย์
  • ธงโอลิมปิก : สัญลักษณ์สำคัญของการแข่งขันโอลิมปิกก็เริ่มต้นขึ้นในปีนี้ การอัญเชิญธงคือสิ่งที่บอกให้ผู้คนทราบว่าโอลิมปิกได้เริ่มต้นขึ้น และจบลงแล้วเมื่อไหร่ นอกจากนั้นยีงเป็นสัญลักษณ์ของการถ่ายทอดจิตวิญญาณของโอลิมปิกไปยังเมืองที่จะเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเมืองถัดไป
  • The International Sports Exhibition: งานที่จัดแสดงเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของโลกกีฬา รวมถึงยังจัดแสดงด้านศิลปะ วรรณกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม สถาปัตยกรรม และดนตรีร่วมด้วย หนึ่งในนวัตกรรมที่ได้จัดแสดงในงานนั้นก็เช่น รองเท้าฟุตบอลของ José Andrade หนึ่งในนักฟุตบอลที่เก่งที่สุดในยุคนั้น หรือจดหมายของ William DeHart Hubbard คนผิวดำคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก

แต่โอลิมปิกปีนี้ก็ยังขาดทุน !

หากวัดกันในแง่ของตัวเงินการจัดการแข่งขันที่ใช้เงินไปกว่า 400 ล้านบาท เงินที่ได้คืนมาตามการายงานของ New York Times ชี้ว่ารายได้รวมอยู่ที่ 5.4 ล้านฟรังก์หรือราวๆ 223 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งขาดทุนไปเกือบ 200 ล้านบาท

แล้วโอลิมปิกในปี 1924 ฝรั่งเศสได้อะไรกลับคืนมาบ้าง ?

นอกจากความสำเร็จในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับกีฬาโอลิมปิก ในฐานะอีเวนท์กีฬาที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก ฝรั่งเศสไม่เพียงสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้โอลิมปิก แต่ยังเน้นพัฒนาโครงสร้างเมืองที่ยั่งยืน ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องได้แม้หลังจบการแข่งขัน ซึ่งสะท้อนแนวคิดที่ฝรั่งเศสยึดมั่นในเรื่องความยั่งยืนมาตลอดกว่า 100 ปี อาทิ

  • ปรับปรุงเส้นทางรถไฟ 3 สายและสร้างสถานีรถไฟใหม่อย่าง Gare du Stade นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาเยือนในระหว่างการแข่งขัน ยังสร้างประโยชน์ระยะยาวในระบบการคมนาคมของเมืองอีกด้วย และปัจจุบันก็ยังคงใช้งานอยู่
  • สนามกีฬา Stade Olympique de Colombes ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าสนามกีฬา Yves-du-Manoir เป็นสถานที่สำคัญในการแข่งขันกีฬาปี 1924 โดยเป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาและพิธีกรรมต่างๆ เกือบ 100 ปีต่อมา สนามกีฬาแห่งนี้จะถูกนำมาใช้อีกครั้งสำหรับการแข่งขันฮอกกี้ในโอลิมปิกที่ปารีส 2024
  • สนามกีฬา Stade Nautique des Tourelles อีกแห่งจากการแข่งขันปี 1924 (ปัจจุบันคือสระว่ายน้ำ Georges-Vallerey) เดิมสร้างขึ้นสำหรับการว่ายน้ำ ดำน้ำ และโปโลน้ำ สำหรับโอลิมปิกปารีส 2024 สิ่งอำนวยความสะดวกนี้จะใช้สำหรับการฝึกนักกีฬาว่ายน้ำ ว่ายน้ำมาราธอน และไตรกีฬา
  • หมู่บ้านโอลิมปิก สำหรับโอลิมปิกปารีสปี 2024 หมู่บ้านโอลิมปิกแห่งใหม่จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนผ่านกระบวนการก่อสร้างที่ลดการปล่อยคาร์บอนและใช้วัสดุรีไซเคิล มีอพาร์ทเมนท์ 2,800 ห้อง พร้อมสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ร้านค้า และโรงเรียน ซึ่งหลังจบการแข่งขันหมู่บ้านโอลิมปิกแห่งนี้จะกลายมาเป็นย่านที่อยู่อาศัยของประชากรราว 6,000 คน 

ทั้งนี้ การจัดโอลิมปิกในปี 2024 ฝรั่งเศสยังคงเน้นเรื่องความยั่งยืนและได้ LVMH อาณาจักรแบรนด์หรูระดับโลก ที่มีธุรกิจในเครืออย่าง Louis Vuitton, Christian Dior, Givenchy, Celine, Tag Heuer, Sephora และอีกมากมายรวมกว่า 75 แบรนด์ มาเป็น Premium Partner 

และคาดว่าบริษัทใช้งบประมาณถึง 166 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6 พันล้านบาท ซึ่งมากกว่าครั้งแรกที่จัดหลายร้อยเท่า และมากกว่าปี 1924 ถึง 15 เท่า ทำให้การแข่งขันนี้คาดว่าจะดึงดูดความสนใจจากผู้ชมทั่วโลกได้กว่าพันล้านคน ไม่รวมผู้ชมที่จะเดินทางไปยังปารีสอีกราว 2-3 ล้านคน

ในฐานะสปอนเซอร์รายใหญ่และตัวแทนของฝรั่งเศส แน่นอนว่าธุรกิจของ LVMH จะได้รับการประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลก ไม่ว่าจะผ่านงานออกแบบที่สะท้อนถึงความหรูหราของแต่ละแบรนด์ การมีส่วนร่วมกับการแข่งกีฬา 

แต่การลงทุนนี้ครั้งนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ เงินที่ใช้ไปกับการเป็นสปอนเซอร์โอลิมปิกนั้นจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมฝรั่งเศสในระยะยาวอย่างไร และฝรั่งเศสจะได้อกำไรกลับมาไหมยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป 

อ้างอิง: athensenvironmental, britannica, stillmed.olympics, showstudio, olympics1, olympics2

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ย้อนรอยเส้นทางความสำเร็จของ TSMC จากบริษัทเล็กๆ ในไต้หวัน สู่ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเซมิคอนดักเตอร์

ย้อนกลับไปในปี 1987 บนเกาะไต้หวันที่ไม่เป็นที่รู้จักในวงการเทคโนโลยีในขณะนั้น ใครจะคาดคิดว่าการก่อตั้งบริษัทเล็ก ๆ อย่าง Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC จะกลาย...

Responsive image

21 ปี Subway ในประเทศไทย ขายแซนด์วิชชิ้นละร้อยอย่างไรให้อยู่รอด

ทำไม Subway ถึงสามารถขายแซนด์วิชชิ้นละเกินร้อยบาทในไทยได้ ทั้งที่ประเทศไทยก็มีแซนวิชไส้แน่นราคา 20 ขายกันทั่วไป ?...

Responsive image

การต่อสู้ของ Canva สตาร์ทอัพที่กล้าท้าชน Adobe

เจาะเส้นทางการต่อสู้ของ Canva สตาร์ทอัพสายดีไซน์ที่กล้าท้าชน Adobe ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในห้องนั่งเล่นจนสู่เวทีโลก พร้อมแผนบุกตลาดด้วย AI และการเข้าซื้อกิจการ หวังคว้าส่วนแบ่งจ...