Stop Bullying คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่ | Techsauce

Stop Bullying คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่

โดย รศ. อัจจิมา เศรษฐบุตร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสด้านกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SVP - CSD) บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS

Bullying หรือปัญหาการรังแกกันทางสังคมหลายรูปแบบ ทั้งในชีวิตจริงและสังคมในโลก online เป็นหนึ่งในประเด็นที่ บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS เล็งเห็นผลกระทบต่อพัฒนาการทางด้านความคิด อารมณ์ และการดำรงชีวิตของประชาชนในระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก วัยรุ่น และวัยทำงาน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามและควรได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที

Bullying

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุข เผยว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีอัตราเด็กถูกรังแกในโรงเรียน คิดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น โดยเฉลี่ยมีเด็กถูกรังแกปีละ 6 แสนคน ซึ่งสามารถส่งผลให้เกิดปัญหาโรคซึมเศร้าและปัญหาอื่นตามมา 

โดย นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในปี 2561 มีกลุ่มเยาวชนโทรเข้ามาปรึกษาบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพิ่มสูงขึ้น โดยได้ให้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตไปทั้งสิ้น 70,534 ครั้ง ยิ่งกว่านั้น ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 345 ราย ต่อเดือน เฉลี่ยวันละ 11-12 ราย ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก ซึ่งในปัจจุบัน การกลั่นแกล้งที่ส่งผลกระทบในระยะยาวเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะการกลั่นแกล้งและทำร้ายกันด้วยคำพูด 

ด้วยเหตุนี้ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) จึงริเริ่มโครงการ “Shared Kindness - คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่” เพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยสร้างแรงกระเพื่อมส่งต่อการรับรู้และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ลดการทำร้ายกันผ่านคำพูด ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมร่วมกัน ระหว่างเด็ก ๆ จากชุมชนแออัด และ BDMS ที่ต้องการสร้างความตระหนักรับรู้และความรับผิดชอบให้แก่คนในสังคมไทยไตร่ตรองคำพูดของตนเอง ก่อนที่จะได้ส่งต่อคำพูดไปทำร้ายจิตใจผู้อื่น และสนับสนุนให้คนในสังคมไทย เลือกที่จะมอบความสุข ผ่านคำพูดที่ดีต่อกันแทนคำพูดที่ถูกใช้เป็นอาวุธทำร้ายจิตใจกัน

“หลายคนไม่ตระหนักว่า คำพูดหรือการกระทำของตนเองในหลาย ๆ ครั้ง เป็นการทำร้ายจิตใจผู้อื่นโดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากยังขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ “Bullying” หรือ “การกลั่นแกล้ง” ยกตัวอย่างเช่น การวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกของผู้อื่นจนเคยชิน จนลืมนึกไปว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องสร้างค่านิยมใหม่ให้คนในสังคมเข้าใจว่า การกระทำแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง”

Bullying คืออะไร? 

การรังแก กลั่นแกล้งผู้อื่น หรือ Bullying หมายถึงพฤติกรรมการใช้คำพูดเชิงลบทำร้ายจิตใจผู้อื่น หรือการกระทำรุนแรงร่างกายต่อผู้ที่อ่อนแอกว่าซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการกระทำความรุนแรงดังกล่าว สามารถทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความทุกข์ หรือเกิดความรู้สึกเจ็บปวด เครียด วิตกกังวล ที่ส่งผลกระทบสภาพจิตใจและร่างกายของผู้ฟังหรือผู้ถูกกระทำ และสามารถสร้างบาดแผลในใจและก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตของผู้ฟังเป็นระยะยาว รวมไปถึงก่อให้เกิดการเกลียดชังในสังคมไทย*

นอกจากนี้ การรังแกกลั่นแกล้งกันในสังคม ล้วนแล้วแต่เกิดจากความไม่สมดุลในอำนาจของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ อาทิ การรังแกผู้ที่ด้อยกว่าตนเองในสังคม** ตัวอย่างเช่น การมีความนิยมและเป็นที่ยอมรับมากกว่า การมีร่างกายที่แข็งแรงมากกว่า หรือมีอายุมากกว่าผู้ถูกกระทำ เพื่อข่มขู่คุกคามให้ผู้ที่ด้อยกว่ารู้สึกไม่ปลอดภัย ให้ตนเองรู้สึกดีขึ้นและช่วยให้ตนเองมีที่ยืนในสังคม 

การรังแกกลั่นแกล้งนั้น สามารถแบ่งออกได้ตามลักษณะต่างๆ 3 ประเภท*** ดังนี้

1) การรังแกทางวาจา (Verbal Bullying) การใช้คำพูดทำร้ายจิตใจผู้ฟัง เป็นพฤติกรรมที่คนในสังคมปัจจุบัน ได้ประสบพบเจอมากที่สุด เนื่องจากเหตุผลที่ว่า เราต้องใช้คำพูดในการสนทนากับผู้อื่นในทุกๆ วัน จึงทำให้เราไม่สามารถทราบได้เลยว่า คำพูดที่เราได้พูดไป จะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจผู้ฟังได้มากน้อยแค่ไหน ในหลายๆ ครั้ง เราอาจจะเผลอใช้คำพูด ที่เป็นการด่าทอ ดูถูก วิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียน ผู้อื่นโดยที่เราตั้งใจและไม่ตั้งใจ เมื่อทุกคนในสังคมเกิดความเคยชินต่อปัญหานี้ จึงทำให้คนในสังคมเกิดความละเลย ปราศจากการระมัดระวังคำพูดตนเอง ไม่ให้กระทบจิตใจผู้อื่น 

2) การรังแกทางร่างกาย (Physical Bullying) การใช้กำลังทำร้ายร่างกาย เป็นการกระทำที่สามารถแสดงออกให้เห็นชัดมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการ หยิก ผลัก ตี ต่อย เตะ ข่มขู่ หรือทำลายร่างกายและทรัพย์สินผู้อื่น การกระทำเช่นนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการรังแกทางร่างกายทั้งสิ้น ในหลายๆ ครั้งที่เราเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมไทย จะมีสักกี่ครั้งที่เราได้เข้าไปมอบความช่วยเหลือให้กับผู้ถูกกระทำเหล่านั้น ให้ได้พ้นจากความทุกข์ใจจากการถูกทำร้ายร่างกาย

3) การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) การรังแกกันบนโลก online กลายเป็นสิ่งที่มีแน้วโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีกลายเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตของใครหลาย ๆ คน ทำให้เข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้ง่ายขึ้น ติดต่อสื่อสารได้สะดวกมากขึ้น 

แต่ในขณะเดียวกัน ถึงแม้เทคโนโลยีจะสร้างความสะดวกให้เรามากเพียงใด การใช้เทคโนโลยี ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ อาทิ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม กลับมีผลเสีย ที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงคำพูดและเนื้อหาที่รุนแรงและไม่เหมาะสมได้ง่ายมากขึ้น จนกลายเป็นเรื่องปกติที่จะพูดไม่ดีกับคนอื่นโดยที่เราไม่มีความรู้สึกผิดต่อการกระทำเหล่านี้ 

อีกทั้ง การกลั่นแกล้งบนโลก online เป็นการกระทำที่ทำได้ง่าย เพียงแค่พิมพ์และกดส่งไปโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อและตัวตนของผู้กระทำ เทคโนโลยีจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์มากขึ้นในทุกๆ ปี

 “การกลั่นแกล้งกัน ไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือในโลก online ล้วนแต่เป็นปัญหาที่สร้างปมในใจให้ผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก อีกทั้ง ยังเป็นปัญหาที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นในทุกๆ ปี แต่ไม่ได้มีวิธีจัดการหรือแก้ไขที่ชัดเจน โครงการ Shared Kindness ต้องการสร้างความตระหนักรับรู้ในสังคมไทยให้ไม่ควรมองข้ามหรือละเลยต่อปัญหานี้ แต่ควรมาร่วมมือช่วยกัน สร้างสังคมที่น่าอยู่ เพียงแค่ส่งต่อคำพูดที่ดีต่อกันมากขึ้น”

ทำไมการใช้คำพูดทำร้ายผู้อื่น ถึงเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญ?

“คำพูดเป็นทั้งอาวุธและดอกไม้” คำพูด สามารถเป็นพลังบวกที่สร้างความสุข รอยยิ้ม และประโยชน์ให้แก่ผู้ฟัง เปรียบได้กับดอกไม้ที่มีสีสันสวยงามและมีกลิ่นที่หอมหวาน แต่ในทางกลับกัน คำพูดก็สามารถสร้างพลังด้านลบ เสมือนกับอาวุธที่สามารถทำร้ายและสร้างความเจ็บปวดให้แก่ใครหลายๆ คนได้เช่นกัน อีกทั้ง คำพูดนั้น เมื่อได้พูดออกไปแล้ว ไม่สามารถที่จะเรียกกลับคืนมาได้ หากว่า คำพูดของเราได้ออกไปกระทบหรือสร้างปมในใจให้ใครแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เสียงสะท้อนเหล่านั้น ลบออกจากใจของผู้ฟังได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจ และให้ความสำคัญกับคำพูดของตนเอง 

ยอมรับในความต่าง สร้างสังคมน่าอยู่

การใช้คำพูดทำร้ายจิตใจผู้อื่น แท้จริงแล้ว ล้วนเกิดจากการไม่ยอมรับในความแตกต่างทางสังคม อาทิ การมีรูปลักษณ์ภายนอกที่แตกต่างจากคนในสังคม เช่น ผู้ที่ความผิดปกติทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือผู้พิการในด้านต่างๆ หรือการมีเพศสภาพที่แตกต่างจากคนในสังคม เช่น เพศที่สามหรือผู้ที่มีรสนิยมทางเพศที่ต่างออกไป หรือแม้แต่ การมีความคิดที่ไม่สอดคล้องกับคนส่วนมาก เช่น ทัศนคติในบริบททางสังคมหรือการเมืองส่วนบุคคล ดังนั้น เราจำเป็นต้องสร้างค่านิยมใหม่ให้แก่คนในสังคม โดยเริ่มจากการเปลี่ยนมุมมองว่า ความแตกต่างไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด หากเรามีความเข้าใจและยอมรับในตัวผู้อื่น เราจะสามารถสร้างสังคมที่น่าอยู่ได้

หยุดการใช้คำพูดที่รุนแรง เริ่มจากตัวเรา

จะดีกว่าไหม หากเราในฐานะพลเมืองในสังคม ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมและชุมชนน่าอยู่ขึ้น ผ่านการส่งต่อคำพูดที่ดีต่อกัน   ซึ่งคำพูดที่ดีสามารถเริ่มต้นได้ หากเรามีสติ คิดก่อนพูด และคำนึงถึงจิตใจของผู้รับฟังให้มากขึ้น เราทุกคนสามารถสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคมได้  สร้างภูมิคุ้มกันด้วยคำพูดสร้างสรรค์ หยุดการรังแกกลั่นแกล้ง หรือทำร้ายผู้อื่นผ่านคำพูด และร่วมสร้างสังคมปลอดภัยและน่าอยู่ และรับมือกับการถูกกลั่นแกล้งได้อย่างมีสติ

Shared Kindness มอบสิ่งดี ๆ ให้แก่กันในสังคมไทย

เราสามารถสร้างสังคมให้น่าอยู่ได้ หากเราทุกคนร่วมใจ ส่งต่อความสุขให้แก่กันผ่านคำพูดที่ดี เพราะเราเชื่อว่า การมอบสิ่งดี ๆ และความรู้สึกดี ๆ ให้กัน จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่สามารถทุกคนในสังคมอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข 

BDMS ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงขับเคลื่อนให้สังคมไทยน่าอยู่ ผ่านโครงการ “Shared Kindness – คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่” เพื่อรณรงค์ให้คนในสังคมไทย ส่งต่อคำพูดที่ดีและสร้างสรรค์ให้แก่กัน หยุดการทำร้ายกันด้วยคำพูด ยอมรับและการเคารพถึงความแตกต่างของกันและกัน เพียงเท่านี้ เราจะสามารถสร้างสรรค์สังคมน่าอยู่ได้อย่างยั่งยืนสืบต่อไป

ที่มา

* www.pobpad.com 

** www.honestdocs.co 

*** www.yuvabadhanafoundation.org




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์: ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย 2025 | Exec Insight EP.77

เจาะลึกทิศทางการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่อุตสาหกรรมยุคใหม่กับ รมต. เอกณัฐ พร้อมพันธุ์...

Responsive image

เตรียมตัวอย่างไรในปี 2025 ? เผยเคล็ดลับการทำ AI Transformation ให้สำเร็จจริง | Exec Insight EP.76

จะเป็นอย่างไร เมื่อ AI ไม่ใช่แค่เทรนด์อีกต่อไป แต่คือเครื่องมือพลิกโฉมธุรกิจ!...

Responsive image

เจาะลึกบทบาท CVC กับการลงทุนใน Startups ยุคใหม่ กับ Nicolas Sauvage หัวเรือใหญ่ TDK Ventures

เจาะลึกบทบาทของ CVC ในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ พร้อมเผยกลยุทธ์การเฟ้นหาและสนับสนุน Startups รวมถึงแบ่งปันวิสัยทัศน์เชิงลึกรวมถึงกลยุทธ์การลงทุนใน Startups ที่น่าจับตามอง โดย Nico...