ธุรกิจอัญมณีปรับตัวอย่างไรทั้งจาก COVID-19 และ Digital Disruption | Techsauce

ธุรกิจอัญมณีปรับตัวอย่างไรทั้งจาก COVID-19 และ Digital Disruption

โดย สุริยน ศรีอรทัยกุล กรรมการการผู้จัดการ บริษัท บิวตี้เจมส์ จำกัด 

COVID-19 (ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019) เป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจอัญมณีไม่น้อยไปกว่าธุรกิจอื่น ๆ เช่นเดียวกับปัญหาอัตราค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้ผู้ประกอบการค้าเพชรพลอยต่างต้องต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด เช่นเดียวกับมองหาเทคโนโลยี เช่น AI มาประยุกต์ใช้ เพื่อสนับสนุนทั้งด้านการผลิตและการตลาดเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคปัจจุบันในยุค Digital Disruption

COVID-19

ก่อนอื่นเราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าสภาพการค้าและเศรษฐกิจของปี 2562 ที่ผ่านมา ด้วยบรรยากาศการค้า การลงทุนโดยรวมทั้งในประเทศและทั่วโลกไม่ค่อยเอื้ออำนวยกับการค้าและธุรกิจมากนัก ทั้งนี้สืบเนื่องจากปัจจัยภายนอกซึ่งเกิดจากการสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรง ทำให้การค้าขายทั้งในประเทศและต่างประเทศเกิดการชะลอตัว

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การส่งออกชะลอตัวคือสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างหนักหนาสาหัสในประเทศจีน และในหลายประเทศทั่วโลกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา 

จนส่งผลกระทบถึงผู้ประกอบการทั้งส่งออกและนำเข้า ตลอดจนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศจีนได้ผลลบมากที่สุดจากการปิดเมืองและจำกัดการเดินทางของประชาชนเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส COVID-19 

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าในอาเซียนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ทั้งในแง่การได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากประเทศจีน รวมไปถึงยังต้องเผชิญผลกรทบจากปัจจัยการระบาดภายในประเทศของตนเองด้วยเช่นกัน 

ดังนั้นเราจะต้องเฝ้าติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เมื่อผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าวไปแล้วความเชื่อมั่นและการส่งออกและสภาพเศรษฐกิจโดยรวม น่าจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลำดับ 

ทั้งนี้เมื่อเราทราบถึงสาเหตุแล้วในฐานะผู้บริหารธุรกิจ จึงต้องทำงานให้ขยันมากขึ้น ทุ่มเทมากขึ้น สร้างความเข้าใจกับลูกค้าและพนักงานถึงความจำเป็นของสภาวะที่เราต้องฟันฝ่าไปให้ได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปี 2563 ยิ่งทำให้ต้องปรับเปลี่ยนตัวเราให้ทันเหตุการณ์กับทั้งเทคโนโลยีและสภาพวิกฤติการณ์ต่าง ๆ 

ปัจจัยต่อมาซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนกับธุรกิจต่าง ๆ มาสักระยะแล้ว คือการแข็งตัวของค่าเงินบาทที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมากทั้งการนำเข้าและส่งออก ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ 

แม้การขึ้นลงของค่าเงินบาทสามารถผันแปรได้ตามกลไกตลาดการเงินโลก ซึ่งถ้าค่าเงินบาทอ่อนหรือแข็งเป็นเวลานานย่อมส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเช่นกัน ดังนั้นผู้ประกอบการทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจใดจำต้องติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เข้าใจถึงสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอัตราค่าเงินบาทที่แข็งค่าไม่ได้ส่งผลเพียงแง่ลบเท่านั้น แต่ก็มีเหรียญอีกด้านในแง่ดี คือ อัตราค่าเงินบาทที่มีการแข็งค่ากลับส่งผลบวกต่อการประหยัดในการนำเข้าสินค้าทุนหรือวัตถุดิบที่ประเทศไทยจะต้องพึ่งพาจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน

COVID-19

จากสภาวการณ์ข้างต้น ในฐานะที่ Beauty Gems Group เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ส่งออกอัญมณี เราจึงวางเป้าหมายยอดการส่งออกของปีนี้ในลักษณะประคับประคองสถานะทางการค้าเอาไว้อย่างมั่นคงและให้ผ่านพ้นวิกฤติโรคระบาดและข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ 

ภายใต้กรอบความเชื่อที่ว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์เลวร้ายนี้จะคลี่คลายลงและตลาดจะฟื้นคืนให้มีความมั่นใจกลับขึ้นมาอีกเมื่อไร ตอนนี้คงไม่ต้องไปตั้งเป้าหรือทำยอดขยายตัวใด ๆ นอกจากประคองตัวให้รอดพ้นวิกฤติน่าจะเป็นเรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญอันดับแรกก่อน 

กระนั้น เราเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับก็ยังคงมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป เนื่องจากประเทศไทยเป็นต้นกำเนิดของอัญมณีหลายชนิด เช่น พลอย ทับทิม ไข่มุก และเงิน 

นอกจากนี้ยังมีการจัดงานแสดงสินค้าด้านอัญมณีและเครื่องประดับที่มีความยิ่งใหญ่ในระดับสากล ซึ่งถือเป็นช่องทางสำคัญในการจำหน่ายสินค้า มีการรวมตัวกันของผู้ผลิต และผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายการค้า และเรายังมีความชำนาญด้านเจียระไนอัญมณี เพชร พลอย และมีฝีมือในการผลิต ทำให้เครื่องประดับของไทยโดดเด่นด้านรูปแบบและความสวยงาม ซึ่งเป็นที่ยอมรับและไว้วางใจจากลูกค้า 

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีต่างยึดมั่นในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน รูปแบบที่ทันสมัย และร่วมสมัย พัฒนาการผลิตให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การใช้ระบบ AI (Artificial Intelligence) การสร้างสรรค์รูปแบบบริการใหม่ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ รวมถึงสามารถประเมินพฤติกรรมของลูกค้า ประวัติก่อนและหลังการใช้บริการซึ่งสามารถนำข้อมูลมาใช้ได้อย่างถูกต้อง ทำให้เราสามารถขายสินค้าที่ตรงใจลูกค้าได้ในยุค Digital Disruption

นอกจากนี้ระบบ AI ยังสามารถช่วยให้เจ้าของธุรกิจตัดสินใจได้ดีขึ้น เพราะระบบนี้สามารถทำงานประมวลผลด้วยข้อมูลมาวิเคราะห์ และตัดสินใจโดยอิงจากข้อมูลที่เคยมีมาก่อน เพื่อหาทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุด มีความเสี่ยงน้อยที่สุด หรือใช้เวลาน้อยที่สุดได้ ทำให้ตัดสินในเรื่องยากๆ ได้ 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้เราสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ทำให้สินค้าสามารถตอบสนองรสนิยมของทั้งคนรุ่นใหม่ และสามารถรองรับความต้องการของลูกค้าทุกเพศวัยได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ในฝั่งผู้ประกอบการเองยังใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์ภาพสินค้า และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เป็นที่รู้จักของลูกค้าในวงกว้าง  และเชื่อมั่นมากขึ้น

เนื่องจากสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้ประเทศและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ใน 5 ของสินค้าส่งออกเป็นเวลาต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ภาครัฐก็เห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนก็มีหลายวิธี เช่น การสนับสนุนด้านภาษีนำเข้าวัตถุดิบ การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม การให้การสนับสนุนด้านวิชาการ การพัฒนาตลาดในประเทศและต่างประเทศ นำนักธุรกิจร่วมงานแสดงสินค้าที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศเป็นการเปิดโอกาสให้เข้าถึงตลาดต่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดในเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกา และยุโรป 

รวมถึงให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เพื่อแก้จุดอ่อน เสริมจุดแข็ง พัฒนาทักษะความรู้เรื่องการประกอบธุรกิจส่งออก บริการข้อมูลทางการค้าการตลาด กฎระเบียบ ตลอดจนนัดหมายเจรจาการค้าที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการจะต้องใส่ใจและพัฒนาตนเองให้เข้มแข็งพร้อมที่จะแข่งขันในตลาดอีกด้วยเช่นกัน 

เราต้องยอมรับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกปี 2562 ต่อเนื่องปี 2563  นี้ เราต้องตั้งสติให้ดี ระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่าย ควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ อย่าเพิ่งไปหาอะไรที่ไกลตัวมากทั้งระยะสั้นและระยะยาว ติดตามข่าวสารและการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกตลอดเวลา 

โดยจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการซื้อขายหรือการค้าเกิดขึ้นเร็วมากและใช้เวลานานกว่าจะกลับสู่สภาพเดิม นอกจากนั้นรูปแบบการค้า การผลิต และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายก็เปลี่ยนไปมาก เราต้องปรับปรุงรูปแบบให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย

 



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึกทิศทางประกันภัยในยุคดิจิทัล | Exec Insight EP.74

Techsauce ได้พูดคุยกับ ดร.สุทธิพล อดีตเลขาธิการคปภ. ถึงการปรับตัวของธุรกิจประกันภัยในการนำเทคโนโลยีมาใช้...

Responsive image

นวัตกรรม อีกหนึ่งความหวังในการเติบโตของประเทศไทย | Exec Insight EP.73

Techsauce ได้รับโอกาสพิเศษในการพูดคุยกับ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA พูดคุยถึงแนวทางและภารกิจหลักในการผลักดันนวัตกรรม รวมถึงการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการขยายเข้าไปใน...

Responsive image

ไปรษณีย์ไทย 140 ปี สู้สมรภูมิโลจิสติกส์อย่างไร ?

จากบริษัทที่เริ่มต้นจากการสื่อสารเมื่อ 140 ปีก่อน สู่บริษัทโลจิสติกส์ และเตรียมต่อยอดสู่ Tech Company ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมหาศาล ไปรษณีย์ไทย สู้ศึกโลจิสติกส์อย่างไร สงครามราคาจะ...