บทบาทของ Data center ที่เชื่อมโยงธุรกิจให้ไม่สะดุดในสถานการณ์ระบาดของ Covid-19 และโอกาสที่สะท้อนการเติบโตของประเทศ | Techsauce

บทบาทของ Data center ที่เชื่อมโยงธุรกิจให้ไม่สะดุดในสถานการณ์ระบาดของ Covid-19 และโอกาสที่สะท้อนการเติบโตของประเทศ

โดย ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสทีที จีดีซี (ประเทศไทย) จำกัด

Data center  เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับอานิสงค์จากการระบาดของ Covid-19 ด้วยบทบาทสำคัญในการจัดเก็บและรักษาข้อมูล เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ หลังภาครัฐออกมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ด้วยการรณรงค์ให้เว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing

Data center

ในช่วงระยะเวลาที่ทั่วโลกประสบกับสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ Covid-19 ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ด้วยการรณรงค์ขอความร่วมมือให้ประชาชนกักตัวอยู่บ้านตามช่วงระยะเวลาที่กำหนด และให้เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) 

สำหรับ Social Distancing ในครั้งนี้ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมในธุรกิจและบริการต่าง ๆ ได้รับผลกระทบอย่างมาก ทว่าธุรกิจออนไลน์ อี-คอมเมอร์ซ และบริการด้านดิจิทัลต่างเดินหน้าเติบโตสวนทางอย่างเห็นได้ชัด โดยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่ได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์นี้ ได้แก่ ธุรกิจ Data center  เพราะมีบทบาทสำคัญในการจัดเก็บและรักษาข้อมูล เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ 

ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในช่วงวิกฤต Covid-19 มีการปรับเปลี่ยนอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น และมีการใช้ข้อมูลที่สูงขึ้น

ด้วยการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดทำให้แอปพลิเคชันยอดนิยมทั้ง YouTube Facebook Twitter และ LINE ถูกจัดเป็นแอปพลิเคชันยอดนิยม 4 อันดับแรกในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมียอดการใช้งานต่อคนต่อวันมากถึง 731.11 เมกกะไบต์ 682.29 เมกกะไบต์ 78.68 เมกกะไบต์ และ 60.90 เมกกะไบต์ ตามลำดับ 

โดยเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2563 นับว่าทุกแอปพลิเคชันมีอัตราการใช้งานที่เติบโตสูงขึ้นทั้งหมด โดย Twitter เป็นโซเชียลมีเดียที่มียอดใช้งานเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 เติบโตสูงขึ้นถึง 266% ตามมาด้วยไลน์ที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้น 154% Facebook ใช้งานเพิ่มขึ้น 94%  และ YouTube ใช้งานเพิ่มขึ้น 82% 

นอกจากนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าที่มีคนจำนวนมาก ผู้บริโภคได้หันมาจับจ่ายสินค้าที่จำเป็นผ่านช่องทางออนไลน์สำหรับเตรียมการในช่วงกักตัวและเพื่อเลี่ยงการติดต่อซึ่งหน้า จนส่งผลให้ยอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในประเทศไทยโตสวนกระแสถึง 80% 

สำหรับแอปพลิเคชันขายสินค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่าง Shopee และ Lazada มีจำนวนการใช้งานต่อวันอยู่ที่ 41.48 เมกกะไบต์ และ 8.37 เมกกะไบต์ นับว่าเติบโตขึ้นจากเดือนมกราคม 2563 มากถึง 479% และ 122% ตามลำดับ 

ในส่วนของแอปพลิเคชันธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ก็ได้รับการตอบรับที่ดีมากเช่นเดียวกัน โดยมีอัตราใช้งานสูงขึ้นถึง 63% อัตราการใช้งานที่สูงขึ้นนี้สะท้อนความต้องการใช้งานของผู้บริโภคบนช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น ทำให้ธุรกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัลได้รับประโยชน์จากวิกฤตในครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงธุรกิจบันเทิงในกลุ่มผู้ให้บริการ Video Streaming อย่าง Netflix ที่สามารถขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มเติมได้อีกถึงแม้ว่าจะมีผู้ใช้งานอยู่ทั่วโลกแล้วก็ตาม

ประเทศไทยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นในช่วงเว้นระยะห่างทางสังคม

การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) เป็นแนวทางปฏิบัติที่หลายองค์กรตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐ ระบบคลาวด์ (cloud service) และระบบการทำงานออนไลน์ในรูปแบบของการประชุม การอบรมทางไกล และการร่วมงานกันบนออนไลน์แพลตฟอร์มกลายเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงที่มีข้อกำหนดให้หลีกเลี่ยงการพบปะกัน 

แพลตฟอร์ม Microsoft Teams ซึ่งเป็นระบบประชุมทางไกลของไมโครซอฟท์ 365 มีสถิติการใช้งานพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับแอปพลิเคชั่นเพื่อการประชุมอย่าง Webex และ Zoom ที่มีผู้ดาวน์โหลดจำนวนมาก และเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานที่บ้านในช่วงระยะกักตัว 

ภาครัฐยังสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) เพิ่ม 10 กิกกะไบต์ ต่อคนต่อเดือน ซึ่งจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้มีการใช้งานออนไลน์ด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น ในระหว่างการกักตัวนี้ มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตสูงขึ้นเกิน 50% และมีการใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายผู้ให้บริการมือถือสูงขึ้นเกือบ 20% เพียงระยะเวลา 1 เดือน หลังจากการระบาดในวงกว้างขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

Data center- สิ่งจำเป็นรองรับการใช้งานดิจิทัล

ทุกครั้งที่มีคนอ่านโซเชียลมีเดีย สั่งสินค้าออนไลน์ ดาวน์โหลดหนังภาพยนตร์ ส่งอีเมล ทำงานบนคลาวด์ ติดตามข้อมูลข่าวสาร หรือ ตรวจสอบสภาพอากาศ ล้วนเกี่ยวข้องกับ Data center ทั้งสิ้น โดยทั่วไปแล้วไม่ว่าจะทำกิจกรรมออนไลน์ใด ๆ แม้เพียง 1 ครั้งก็จะเป็นการใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์หลายแห่งไปพร้อมกันเสมอ 

ด้วย Data center ทำหน้าที่คล้ายฐานข้อมูลขนาดใหญ่ โดยรับข้อมูลเข้ามาเพื่อจัดเก็บและส่งต่อไปยังระบบหรือออนไลน์แพลตฟอร์มเมื่อมีการเรียกใช้ข้อมูล ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการสั่งสินค้าออนไลน์จากร้านค้า Data center จะรับส่งข้อมูลต่าง ๆเพื่อรองรับการสั่งสินค้าใหม่เข้ามาให้ทางร้าน ส่งต่อข้อมูลการดำเนินธุรกรรมทางการเงินระหว่างร้านค้าและธนาคาร และ ส่งข้อมูลให้บริษัทขนส่งเตรียมการจัดส่ง เป็นต้น  

ดังนั้นในช่วงที่คนกักตัวและ Social Distancing โดยมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่พึ่งพาดิจิทัลสูงขึ้นในหลายๆด้าน จึงส่งผลให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตมากกว่าเดิม ซึ่งหมายถึงมีการใช้งาน Data center มากขึ้น

เช่นเดียวกับสาธารณูปโภคดิจิทัลที่สำคัญและมีบทบาทในช่วงเวลาที่สำคัญเช่นนี้คือ Data center ที่มีประสิทธิภาพรองรับต่อการใช้งานจำนวนมากทุกวัน และให้ความปลอดภัยในการรักษาข้อมูลของผู้บริโภคและในการทำธุรกรรมออนไลน์

Data center

ความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โอกาสทองของ Data center

ในช่วงที่ภาคธุรกิจต่าง ๆ หยุดชะงักและได้รับผลกระทบในครั้งนี้ ธุรกิจ Data center ยังคงสามารถเติบโตได้ดี สะท้อนจากยอดตัวเลขการใช้งานอินเทอร์เน็ตและปริมาณดาต้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและตอบสนองต่อเทคโนโลยีดิจิทัลที่มากขึ้น 

นับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) อย่างจริงจัง เพื่อสร้างความมั่นคงเชิงเศรษฐศาสตร์ และลดผลกระทบจากการพึ่งพิงภาคอุตสาหกรรมการผลิต การเกษตรกรรม และ การท่องเที่ยว ที่มีความผันผวนตามสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และสถานการณ์โลก 

โดยสิ่งที่ประเทศไทยสามารถเริ่มผลักดันเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้ในเวลานี้คือ การส่งเสริมธุรกิจ Data center ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้กิจกรรมทุกประเภทบนออนไลน์แพลตฟอร์มสามารถดำเนินการได้

ทั้งนี้ประเทศไทยจะสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ประโยชน์จากการพัฒนาธุรกิจ Data center บนความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งของประเทศที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน และความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศได้เป็นจำนวนมาก 

ด้วยการผลักดันด้านดิจิทัลนี้จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น “ดิจิทัลฮับของอาเซียน” ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่คาดว่าในปี 2570 ธุรกิจดิจิทัลจะสามารถสร้างรายได้เกือบหนึ่งในสี่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (GDP)  และตลาด Data center ของอาเซียนในปี 2567 จะมีมูลค่าสูงถึง 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน 

นอกจากนี้ ยังจะเป็นการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ที่สนับสนุนภาคธุรกิจให้ร่วมมือกันได้อย่างทันท่วงที โดยก้าวข้ามข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์และความแตกต่างของอุตสาหกรรม ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มร่วมกันได้อย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตในระดับมหภาคต่อไป

การส่งเสริมธุรกิจ Data center ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงสร้างดิจิทัลพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจดิจิทัล จะเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในยุค Digital Economy และยังเป็นการลดการพึ่งพิงภาคอุตสาหกรรมที่มีความผันผวนตามสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และสถานการณ์โลก




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึกทิศทางประกันภัยในยุคดิจิทัล | Exec Insight EP.74

Techsauce ได้พูดคุยกับ ดร.สุทธิพล อดีตเลขาธิการคปภ. ถึงการปรับตัวของธุรกิจประกันภัยในการนำเทคโนโลยีมาใช้...

Responsive image

นวัตกรรม อีกหนึ่งความหวังในการเติบโตของประเทศไทย | Exec Insight EP.73

Techsauce ได้รับโอกาสพิเศษในการพูดคุยกับ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA พูดคุยถึงแนวทางและภารกิจหลักในการผลักดันนวัตกรรม รวมถึงการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการขยายเข้าไปใน...

Responsive image

ไปรษณีย์ไทย 140 ปี สู้สมรภูมิโลจิสติกส์อย่างไร ?

จากบริษัทที่เริ่มต้นจากการสื่อสารเมื่อ 140 ปีก่อน สู่บริษัทโลจิสติกส์ และเตรียมต่อยอดสู่ Tech Company ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมหาศาล ไปรษณีย์ไทย สู้ศึกโลจิสติกส์อย่างไร สงครามราคาจะ...