ถอดบทเรียนการเผชิญวิกฤตจากอดีตสู่ ​COVID-19 กับ ‘จรัมพร โชติกเสถียร’ | Techsauce

ถอดบทเรียนการเผชิญวิกฤตจากอดีตสู่ ​COVID-19 กับ ‘จรัมพร โชติกเสถียร’

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้เข้ามาสร้างผลกระทบที่ไม่ใช่เพียงแค่ภาคสาธารณสุข ที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ต้องมีมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจาย ของเชื้อ ซึ่งส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

วิกฤตในครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ชีวิตของผู้คนตกอยู่บนความ ไม่แน่นอนสูงมาก จนหลายฝ่ายได้มีการประเมินว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้นับเป็นวิกฤตที่รุนแรง ที่สุดนับตั้งแต่ The Great Depression ในปี 1929 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1

ในบทความนี้เราจะพาไปพูดคุยกับ ‘คุณจรัมพร โชติกเสถียร’ กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในการฝ่าฟันกับวิกฤตในหลาย ๆ ครั้งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จนกระทั่งในวิกฤต COVID-19 ว่าในแต่ละช่วง วิกฤตนั้นได้สร้างผลกระทบกับใคร และได้มอบบทเรียนอะไรที่คนไทยควรเรียนรู้เพื่อนำมา เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและเสริมเกราะป้องกันให้กับธุรกิจได้ต่อไปบ้าง

จรัมพร โชติกเสถียร

ในฐานะที่คุณจรัมพรเป็นผู้บริหารที่ผ่านวิกฤตมาหลายช่วง นับตั้งแต่วิกฤต ต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และในครั้งนี้วิกฤต COVID-19 ได้เห็นถึง ผลกระทบในแต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 เป็นวิกฤตการเงิน ในช่วงนั้นเกือบทุกบริษัทมีโครงสร้างทางการเงิน ที่อ่อนแอ เนื่องจากมีทุนน้อย แต่เงินกู้มาก อีกทั้งยังได้มีการกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามามาก เช่นกัน ดังนั้นปัญหาก็ได้ลามมาจากสถาบันการเงิน จนกระทั่งประเทศไทยได้ประกาศลอยตัว ค่าเงินบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทตกลงครึ่งหนึ่ง 

ในขณะเดียวกันค่าเงินดอลลาร์ก็ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นไปอีกเท่าตัว หนี้ต่างๆ ที่กู้มาจากต่างประเทศ ก็เพิ่มเป็นสองเท่าทันที ส่งผลให้บริษัทต่างๆ อยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และ ขนาดกลาง ปัญหาได้เริ่มจากประเทศไทยและได้ลามไปในระดับเอเชีย แต่ ณ ตอนนั้นทางฝั่ง สหรัฐอเมริกา และยุโรปนั้นไม่ได้มีผลกระทบไปด้วย

ต่อมาการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ทันทีที่มีการลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินของเราถูก จึงทำให้สามารถผลิตสินค้าได้ราคาถูกกว่าที่อื่น ด้านการท่องเที่ยวก็ทำให้ผู้คนจาก ต่างประเทศต้องการมาเที่ยวประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นก็เป็นโอกาสให้สามารถทำรายได้จาก ภาคส่วนเหล่านี้เข้ามา

แต่สิ่งที่เป็นบทเรียนในวิกฤตต้มยำกุ้งที่ทำให้หลายคนได้เรียนรู้ คือ สถาบันการเงินและ บริษัทต่าง ๆ สามารถเข้าใจได้ว่าการมีโครงสร้างทางการเงินที่อ่อนแอนั้นไม่ดี และได้ปรับให้มี ความแข็งแรงมากขึ้น จนกระทั่ง ณ ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่รวมภาคการเงิน มีค่าเฉลี่ยของอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) เพียงแค่ 1.3 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่มีความแข็งแกร่ง

ในส่วนของปี 2008 เป็นวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ จากทางฝั่งสหรัฐอเมริกา และยุโรป จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยตอนนั้นค่อนข้างจะมีความอนุรักษนิยมในการลงทุนตราสารหนี้ที่เป็นสินเชื่อซับไพรม์ โดยเฉพาะสถาบันการเงิน ที่ลงทุนน้อย จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก 

แต่ผลกระทบที่ประเทศไทยได้รับในตอนนั้น คือ ประเทศที่มีปัญหาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ เป็นคู่ค้ากับทางเรา ส่งผลเสียต่อการลงทุนที่ทำให้เราตกลงไปด้วย เนื่องจากเมื่อ ทางฝั่ง สหรัฐอเมริกา และยุโรปมีวิกฤต นักลงทุนต่างก็ขาดทุนอย่างหนัก ดังนั้นจึงต้องมองหาตลาด ที่มีความแข็งแกร่งอย่างประเทศไทย ในการเทขายเพื่อทำกำไร เพื่อชดเชยจากทางฝั่ง สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยด้วย เนื่องจากผู้ซื้อรายใหญ่ ของไทยต่างก็มีปัญหาในด้านของเศรษฐกิจที่ซบเซาลง

ส่วนวิกฤตจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ส่งผลกระทบกับ ภาคเศรษฐกิจแท้จริง (real sector) และเกิดขึ้นทั่วโลกโดยในระยะแรกหลายคนมองว่า จะเกิดขึ้นแค่ในจีน แต่กลับแพร่ระบาดทั่วโลก ซึ่งบทเรียนจากจีนที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้ ทางฝั่งตะวันตกสามารถระวังตัวได้ดีขึ้น แต่ตอนแรกคิดว่ามาจากเมืองจีน บทเรียนจาก ทางนี้น่าจะทำให้โลกตะวันตกนั้นระวังตัวได้ดี แต่กลายเป็นว่าทางฝั่งตะวันตกเกิดความชะล่าใจ หรืออาจจะมีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป จึงทำให้เห็นได้ว่าเกิดความเสียหายมากกว่า จีนหลายเท่า

ดังนั้นผลกระทบในครั้งนี้ถือว่ารุนแรงกว่าวิกฤตปี 1997 และปี 2008 มาก โดยสิ่งที่เกิดขึ้น อยู่ดี ๆ ภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย คือ การท่องเที่ยวมีสัดส่วนคิดเป็น 12-15% ของGDP เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมากนักท่องเที่ยวกลายเป็นศูนย์ จากที่เราเคยมีเดือนละประมาณ 3 ล้านกว่าคน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวทั้งหมด จนตอนนี้คนทั่วประเทศที่เริ่มมีผลกระทบจากการตกงาน ซึ่งถ้านับทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และ SME รวมกัน ทำให้ตอนนี้ประชาชนประมาณ 13 ล้านคนเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งเราก็ยังไม่ทราบว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะลากยาวถึงกี่เดือน

ในส่วนการช่วยเหลือจากรัฐบาลถือว่าออกมามาตรการค่อนข้างเร็ว แต่ปัญหา คือ ยังไม่สามารถกระจายได้ทั่วถึงให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ วิกฤตในครั้งนี้จึงค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะผลกระทบลงไปถึง real sector จริง ๆ

ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็เห็นความสำคัญของสภาพคล่องที่ผู้ประกอบการจะต้องใช้ในการหมุนเวียนธุรกิจ จึงได้ออกมาตรการต่าง ๆ มาเยียวยาที่จะให้ธุรกิจ sme มีสภาพคล่องที่ทำให้ บริษัทนั้นยังดำเนินการต่อไปได้ รวมถึงสามารถจ้างงานได้ ซึ่งถ้าหากบริษัทยังสามารถ จ้างงานได้ ประชาชนจะไม่เดือดร้อน เพราะการที่ต้องปิดบริษัทและเปิดใหม่อีกครั้งใน 4-5 เดือนข้างหน้า จะส่งผลให้เกิด Disruption ขึ้น

ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการที่ต้องพยุงธุรกิจต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ แต่ก็สามารถช่วยได้เพียงแค่ระดับหนึ่ง เท่านั้น เมื่อประเมินแล้วธุรกิจสามารถเก็บคนไว้ได้ 70% ส่วนอีก 30% ก็อาจจะต้องมีการ ปลดพนักงานออกและ 70% ที่ยังอยู่นั้นก็ต้องทำให้เขาสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องด้วย อย่างไรก็ตามผลกระทบครั้งนี้จะส่งผลให้หลายธุรกิจอาจจะไม่สามารถกลับมาที่เดิมได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านท่องเที่ยว

ส่วนธุรกิจที่จะสามารถกลับมาได้เร็วที่สุดจะเป็นกลุ่มร้านอาหาร ซึ่งตอนนี้ก็ได้เริ่มกลับมา บ้างแล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่มียารักษาโรคกับวัคซีนออกมา และทุกคนยังต้องใช้ชีวิตโดยมี ระยะห่างทางสังคมกันอยู่ ร้านอาหารสามารถรับคนได้แค่ครึ่งเดียวเท่านั้น ก็อาจจะทำให้ ธุรกิจกลับมาได้แค่ครึ่งเดียว ซึ่งยังหากเป็นเช่นนี้ต่อไปธุรกิจและจำนวนการจ้างงานก็จะ เริ่มหายไปพอสมควร

ขณะที่ธุรกิจที่จะกลับมาช้าที่สุดก็จะเป็นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ ซึ่งในตอนนี้ถ้าหากให้เลือกจับจ่ายใช้สอย ผู้คนก็จะเลือกสินค้าดังกล่าวทีหลัง รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยว ที่อาจจะต้องรอวัคซีนออกมาก่อนจึงจะสามารถกลับมาได้อย่างเต็มตัว แต่สำหรับการเดินทางนั้นคาดว่าการเดินทางในเชิงธุรกิจอาจจะกลับมาก่อน ทำให้ยังพอมีโอกาสจากตรงนี้อยู่

จรัมพร โชติกเสถียร

คุณจรัมพรมีคำแนะนำอย่างไรให้กับธุรกิจ SME ในการบริหารจัดการเงินช่วงที่ COVID-19 ยังมีการแพร่ระบาดอยู่

 ช่วงนี้คงเป็น Cash is King สภาพคล่องนั้นสำคัญที่สุด อย่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออก มาตรการมาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาระดอกเบี้ย โครงการพันธบัตรต่าง ๆ โครงการที่จะ ให้เงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด (soft loan) ผ่านทางธนาคารพาณิชย์ไปยัง sme จำนวน 5 แสนล้านบาท รวมถึงเงินที่จะไปซื้อหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่ออกมาใหม่ เพื่อแทนหุ้นกู้เดิม ที่จะหมดอายุในปีนี้ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการเติมสภาพคล่องเพื่อทำให้ธุรกิจ สามารถเดินต่อไปได้

ทั้งนี้ก็ยังต้องคิดอีกว่าถ้าต้องปิดเมืองไปอีกจะมีเงินพอหรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่ต้องตัดไปก่อน คือการลงทุนทั้งหมด แต่ถ้าหากมีเงินพอแล้ว ก็เป็นจังหวะที่สามารถลงทุนได้ เนื่องจากจะซื้อของได้ในราคาที่ถูกมาก ๆ แต่ถ้ายังไม่แน่ใจ ก็ต้องมองว่าถ้าอีก 2-3 เดือนต่อจากนี้เกิดการระบาดระลอก 2 และส่งผลให้ต้องมีการปิดเมืองไปอีก 3-4 เดือน เราก็ต้องเตรียมเงินไว้อย่างน้อย 6 เดือน 12 เดือนหรือ 18 เดือน ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ

นอกจากเรื่องของสภาพคล่องแล้ว อยากจะให้ย้อนกลับไปดูสมมติฐานของธุรกิจด้วยว่า มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างไร หรือจะถูกทดแทนด้วยอะไรบ้าง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าต่าง ๆ ที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า ที่แม้ว่าลูกค้าจะหายไป แต่ยังมีโรงงาน มีแบรนด์ ดังนั้นจากสมมติฐานที่บอกว่า ลูกค้าจะเดินมาซื้อของหรือใช้บริการที่หน้าร้านนั้นได้หายไปแล้ว ถ้าจะระบายสินค้าที่มีอยู่ก็ต้องใช้ช่องทางอื่น เช่น การขายออนไลน์ เป็นต้น 

แม้แต่ธนาคารเองก็เช่นเดียวกันต้องมีการปรับตัว ต่อไปถามว่าใครบ้างที่ต้องการจะเดินมา เปิดบัญชีที่สาขา ต่อให้มีการพัฒนาระบบและกระบวนการต่างๆ ให้ใช้เวลาเพียงแค่ครึ่งนาที แต่ถ้าลูกค้าไม่มาก็จบ ดังนั้นต้องเปลี่ยนทันที หรือตู้ ATM จะไม่ค่อยมีใครต้องการที่จะใช้การ์ด เพราะเสี่ยงติดเชื้อโรค ตรงนี้ก็ต้องเปลี่ยนเหมือนกัน ธนาคารเองก็ต้องมีการคิดใหม่ทำใหม่

สิ่งสำคัญที่นอกเหนือไปจาก  Cash is King คือ ต้องมาตรวจดูว่าทิศทางพฤติกรรมผู้บริโภคใน Value Chain ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และต้องปรับให้เท่าทัน

ในมุมของสถาบันการเงิน ทางธนาคารกรุงเทพได้รับผลกระทบจาก วิกฤตครั้งนี้อย่างไรบ้าง และมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร

 เราเคยคิดกันบ้างไหมว่าธุรกิจใหญ่อย่างธนาคารมี Business Continuity Planning (BCP) แต่ครั้งนี้ต้องบอกว่าใช้ไม่ได้เลย เกือบจะต้องรื้อแผนใหม่หมด เพราะในอดีตหากพูดถึงปัญหา ด้านสถานที่ทำงาน เช่น น้ำท่วมทำให้พนักงานไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้ หรือแผ่นดินที่ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงาน เราก็จะสามารถคิดได้ว่าจะไป อยู่ที่ไหนอย่างไร

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวิกฤตนี้เป็นเรื่องของ คน เพราะหากคนใดคนหนึ่งในบริษัทเกิดติด COVID-19 แล้วคนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ชิดก็ไม่สามารถมาทำงานได้ 14 วัน และเมื่อไวรัสไปติดที่ใด จะต้องมีการปิดทั้งชั้น ซึ่งทำให้ต้องมีการปรับแผนแบ่งการทำงานของทีมงานใหม่ทั้งหมด จากเดิมอาจจะมีแค่ 2 ทีมก็อาจจะต้องแบ่งย่อยเป็น 5-6 ทีม เพื่อจะเสียพนักงานในการ ทำงานน้อยที่สุด และกระจายตัวได้มากที่สุด

ทั้งนี้การ work from home ทางธนาคารกรุงเทพก็ใช้กันอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะวิกฤต ครั้งนี้ทำให้ทุกคนต้องอยู่บ้าน ดังนั้นจึงมีเรื่องของการประชุมออนไลน์เข้ามาใช้กันอย่างเต็มที่ ซึ่งต่อไปก็จะกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดี เนื่องจากทุกคนเริ่มชินกับเทคโนโลยี และต่างก็มีความรู้สึกว่าสะดวกสบายมากกว่าเดิม หลังจากนี้การประชุมที่ครึ่งโต๊ะอยู่กันละที่ จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปหากันแล้ว ต้องยอมรับว่า วิกฤตในครั้งนี้ได้ผลักทุกคนให้ใช้ชีวิตกับดิจิทัลอย่างปฏิเสธไม่ได้ และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 หลายคนเริ่มกังวลการใช้เงินสด ที่อาจจะกลายเป็นพาหะของเชื้อไวรัส หลังจากนี้จะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการเงินที่จะเข้ามารองรับอย่างไรบ้าง

ผมเชื่อว่าหลังจากนี้ สังคมไร้เงินสด (cashless society) จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น เป็นอย่างมากแน่นอน จากการที่ผู้บริโภคมีความต้องการใช้มากขึ้น เพราะมีความปลอดภัย และสะดวกสบาย ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต้องยอมรับว่าการจ่ายเงินผ่าน QR Code และระบบพร้อมพ์เพย์เข้ามามีส่วนช่วยได้มาก เพียงแต่ก่อนหน้านี้การใช้ QR Code อาจจะยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่หลังจากนี้ไปจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา

สุดท้ายนี้ให้คุณจรัมพรฝากคำแนะนำและกำลังใจให้กับคนไทยในการที่จะฝ่าฟันวิกฤตไปได้

 ทุกวิกฤตมีโอกาส ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ต้องลองประเมินดูว่าหลัง COVID-19 จะเกิดอะไรขึ้น หรือที่หลายคนเรียกว่า New Normal และต้องพยายามเตรียมพร้อมให้ได้ ใครที่พร้อมกว่าก็จะโตเร็วกว่า ตัวอย่างเช่น ร้านอาหาร ต้องจัดทุกอย่างให้เป็นมาตรฐาน ใหม่โดยเฉพาะเรื่องของสุขอนามัย (Hygiene) ถ้าเรารู้ว่า มาตรฐานใหม่เป็นอย่างไร ให้รีบเรียนรู้ และปรับตัว ในพื้นที่เดียวกันหรือตลาดเดียวกัน ถ้ามีธุรกิจเหมือนกัน 100 บริษัท แต่มีเพียงแค่ 10 บริษัทที่ปรับได้ก่อน ให้ความสำคัญกับมาตรฐานใหม่ และทำให้ลูกค้าแน่ใจ และเชื่อใจตามที่คาดหวังไว้ บริษัทนั้นก็จะได้รับโอกาสนั้น

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึกบทบาท CVC กับการลงทุนใน Startups ยุคใหม่ กับ Nicolas Sauvage หัวเรือใหญ่ TDK Ventures

เจาะลึกบทบาทของ CVC ในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ พร้อมเผยกลยุทธ์การเฟ้นหาและสนับสนุน Startups รวมถึงแบ่งปันวิสัยทัศน์เชิงลึกรวมถึงกลยุทธ์การลงทุนใน Startups ที่น่าจับตามอง โดย Nico...

Responsive image

คุยกับ ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบริษัทบ้านปู และอนาคตของธุรกิจพลังงานสู่ทศวรรษที่ 5

รู้จัก ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบริษัทบ้านปู และอนาคตของธุรกิจพลังงานสู่ทศวรรษที่ 5...

Responsive image

คุยกับ Andrew Ng ผู้ทรงอิทธิพล AI ระดับโลก | Exec Insight EP.75

พบกับบทสัมภาษณ์พิเศษจาก Andrew Ng โดย Techsauce...