ถอดบทเรียนผู้นำ กับการนำทัพฝ่าทุกวิกฤต และบทเรียนใน COVID-19 | Techsauce

ถอดบทเรียนผู้นำ กับการนำทัพฝ่าทุกวิกฤต และบทเรียนใน COVID-19

ในสภาวะวิกฤตจากผลกระทบของ COVID-19 ทำให้ธุรกิจหลายตัวต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด บ้างต้องเปลี่ยนรูปแบบการบริหาร บ้างต้องปิดให้บริการ และเมื่อวิกฤตเหล่านี้เข้ามา สิ่งที่สำคัญมากที่สุดในการดำเนินธุรกิจต่อไปคือ ‘ผู้นำ’ เพื่อความอยู่รอดขององค์กรและพนักงานทุกคน สภาวะความเป็นผู้นำ การตัดสินใจที่ถูกต้อง และการบริหารงานที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ มาถอดบทเรียนจาก 10 ผู้บริหารมากความสามารถที่สามารถขับเคลื่อนองค์กรผ่านวิกฤต COVID-19 ไปได้ พร้อมคำแนะนำในการดำเนินธุรกิจ

‘เมื่อมีวิกฤต ก็ย่อมมีโอกาส’ บทเรียนจาก คุณธนินท์ เจียรวนนท์

หลายคนมักจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “พลิกวิกฤต ให้เป็นโอกาส” แล้วความหมายแท้จริงของมันคืออะไร จะมีจริงๆ หรือที่คำว่าโอกาสจะเกิดขึ้นได้ในยามที่มีวิกฤต แต่สำหรับคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ท่านได้ชี้ให้เห็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่เรียกได้ว่า ถ้ามีวิกฤต เราก็จะมีโอกาสเสมอ

ในการบริหารงานในช่วงการระบาดของ COVID-19 ถือว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ในการแก้ปัญหา ไม่ใช่การที่จะไล่พนักงานออก หรือปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นวิกฤตไป คุณธนินท์ได้อธิบายไว้ว่า ในช่วงเวลาแบบนี้ทางออกที่ดีคือการรัดเข็มขัด ช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งตัวหัวหน้าและลูกน้อง จากนั้นให้กลับมาทบทวนข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ปรับปรุงการให้บริการ ทำให้ลูกค้าพึงพอใจ ถึงแม้ว่าโรคระบาดนี้จะเข้ามาทำให้เกิดวิกฤต แต่ก็เป็นแค่เรื่องชั่วคราว ถ้าหลุดพ้นวิกฤตไปได้ โอกาสก็จะกลับมา ในช่วงนี้ก็ให้พยุงธุรกิจกันไปก่อน การไล่พนักงานออกเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น เพราะเมื่อหมดวิกฤต ใครจะเป็นคนมาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจต่อ หากไม่ใช่พนักงานดีๆ เก่งๆ ที่เรามีอยู่ และการเตรียมพร้อมก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในอนาคตไม่มีใครรู้ได้แน่นอนว่าวิกฤตแบบนี้จะกลับมาอีกหรือไม่ คนที่เตรียมพร้อมได้ ถือเป็นผู้ชนะ และจงจำไว้เสมอว่า เมื่อเราอยู่ในจุดที่ดีที่สุดแล้ว จงอย่าลืมช่วงที่เราย่ำแย่ที่สุด อย่าดีใจเกินไป และอย่าตกใจเกินไป ให้เตรียมพร้อมและปรับตัวกับวิกฤตและโอกาสนั้นให้ได้เสมอ

‘รีบเรียนรู้ รีบปรับตัว’ บทเรียนจาก คุณจรัมพร โชติกเสถียร

สำหรับคุณจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ที่เป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในการฝ่าฟันกับวิกฤตในหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จนกระทั่งในวิกฤต COVID-19 บทเรียนที่สำคัญคือ ต้องเรียนรู้ให้เร็ว และปรับตัวให้ทัน

หลายๆ ธุรกิจเมื่อพบเจอกับวิกฤตแล้วให้มองที่สภาพคล่องเป็นสิ่งสำคัญ เงินหมุนเวียนในระบบของธุรกิจต้องอย่าให้ขาด สิ่งที่ตัดได้ในช่วงวิกฤต คือ ควรเลี่ยงการลงทุน ให้หันไปมองธุรกิจของเราว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มีอะไรที่จะมาทดแทนได้บ้าง เช่น การขายในออนไลน์ แทนการขายหน้าร้าน สำหรับธุรกิจที่ดีควรศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ดี เพื่อให้ปรับตัวได้ก่อน ถ้าเราปรับตัวได้ก่อน เราจะได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ ในตลาด และจะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของเรามากขึ้น

‘คน คือสิ่งสำคัญในยามวิกฤต’ บทเรียนจาก คุณคุณเศรษฐา ทวีสิน

ถึงแม้ว่าการรักษาระยะห่าง (Social Distancing) ในสังคมจะเป็นเรื่องจำเป็นในช่วงของการระบาด COVID-19 แต่การลดจำนวนคนลงในที่ทำงานกลับเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ ถอดบทเรียนการเอาตัวรอดในยามวิกฤต กับการบริหารคนจาก คุณเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกองค์กร ‘คน’ คือสิ่งสำคัญ การจะดำเนินธุรกิจให้รอดไปได้ ทั้งตัวผู้บริหารเอง พนักงานในองค์กร ผู้ร่วมทำธุรกิจ และลูกค้าต้องเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน เมื่อไม่มีการไล่ออก หรือลดเงินเดือน พนักงานทุกคนก็มีความสบายใจในการทำงาน ผลที่ตามมาคือ ผลตอบแทนที่ดีจากการทำงานของทุกคน ทั้งในรูปแบบของกำไร และผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า และนอกจากนี้การจะขายสินค้า หรือบริการในช่วงวิกฤต อย่าเอากำไรเป็นที่ตั้ง ให้ราคาที่ลูกค้ามีกำลังซื้อได้ ให้มองที่ว่า ความอยู่รอดของทุกคนเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้การจ้างงานในช่วงที่ยากลำบากจะยิ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปได้อีกด้วย

‘คีย์สำคัญ คือ การบริหารคน’ บทเรียนจาก คุณขัตติยา อินทรวิชัย

‘การบริหารงาน’ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘การบริหารคน’ ถอดบทเรียนจาก CEO หญิงคนแรกของธนาคารกสิกรไทย คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ด้วยประสบการณ์การทำงานกับธนาคารมากว่า 33 ปี การจะสร้างงานขึ้นมาได้ ผู้นำต้องเรียนรู้ตลอดเวลา คนต้องพร้อม เมื่อโอกาสมาก็ให้รีบคว้าไว้ ธุรกิจจึงจะเดินไปข้างหน้า

ผู้นำที่ดีในยามวิกฤตจะต้องเข้มแข็ง เพื่อไม่ให้คนอื่นเสียกำลังใจ สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา จะต้องแสดงออกหรือสื่อให้พนักงานรู้ว่าเขาจะปลอดภัย และจะไม่มีใครไม่มีงานทำ ต้องทำให้พนักงานทุกคนมั่นใจในการทำงาน นอกจากนี้ในส่วนขององค์กร สิ่งสำคัญที่ต้องเฝ้าดูตลอดเวลาคือ cash flow จะต้องมีเงินเหลือเพื่อหมุนเวียนในระบบของกิจการ เพราะเมื่อเกิดวิกฤต จะได้มีเงินเพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อ และในส่วนของลูกค้า ธุรกิจจะต้องคอยติดตาม และให้ข่าวสารข้อมูลว่าเรายังอยู่ตลอด ต้องคอยบอกเขาเสมอว่าเราพร้อมให้บริการพวกเขาตลอด เพื่อไม่ให้เกิดความห่างเหิน จนทำให้ลูกค้าเลิกใช้บริการ เพราะฉะนั้น ‘ทุกคน’ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการขับเคลื่อนองค์กร

‘Digital Transformation ตัวช่วยขับเคลื่อนในยุค COVID-19’ บทเรียนจาก คุณนิธิ ภัทรโชค

สำหรับการปรับตัวในยุคของการระบาดของ COVID-19 สิ่งที่สามารถนำมาช่วยได้อีกอย่างนึงคือ เทคโนโลยี เพราะในโลกที่ทุกคนต้องรักษาระยะห่าง การทำงานในระบบออนไลน์จึงมีบทบาทมากขึ้น ในส่วนของธุรกิจการมองเรื่องของ Digital Transformation จึงเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนกิจการ ถอดบทเรียนการปรับตัวให้ทันโลกและเทคโนโลยีจาก คุณนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการ SCG CBM และรองประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA)

การมีความพร้อมที่ดี จะทำให้เมื่อมีวิกฤต ระบบ และทุกๆ อย่างสามารถทำงานได้ตามปกติ แนวความคิดนี้ทาง SCG ได้นำมาปรับใช้ โดยการมองถึงเรื่องของ Digital Transformation แล้วนำมาปรับใช้ให้เข้ากับระบบการทำงานของบริษัท เมื่อมี COVID-19 เข้ามาแต่ทาง SCG ยังสามารถทำการผลิต และดำเนินงานด้านต่างๆ ไปได้ตามปกติ สิ่งนี้เกิดมาจากการมองเห็นเทรนด์ของเทคโนโลยี ทำการเตรียมพร้อมตลอดเวลา เมื่อเกิดวิกฤตเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ยังสามารถทำงานได้แม้ว่าไม่มีคนควบคุม หรือมีการควบคุมจากระยะไกล อีกทั้งยังสามารถลดเวลา และต้นทุนในการผลิตลงได้ นอกจากนี้ยังต้องมองถึงพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า และตลาด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเราต้องปรับตัวและรับมือให้ทัน ต้องมองหาตลาดที่ทำให้เราสามารถซัพพอร์ตลูกค้าได้ตามที่พวกเขาต้องการได้ทันเวลา และมีคุณภาพ

‘เรียนรู้ไป ปรับตัวไป’ บทเรียนจาก คุณสาระ ล่ำซำ

เมื่อวิกฤตที่เข้ามาแต่ละครั้งส่งผลกระทบต่างกันออกไป การเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อการปรับตัวที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ บทเรียนการบริหารจาก คุณสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

ถึงแม้ว่าเราจะเตรียมตัวมาพร้อมขนาดไหน แต่เมื่อเจอวิกฤตของโรคระบาด สิ่งที่เตรียมไว้แล้วอาจจะไม่ได้ผลเต็ม 100% ดังนั้น องค์กรและคนจะต้องพร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา และต้องพร้อมจะปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ การปรับตัวธุรกิจให้เข้ากับเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และยังสามารถทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ในยามวิกฤตอีกด้วย คนก็เช่นกันที่จะต้องปรับตัวในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วแบบนี้ ทั้งการ Reskill และ Upskill เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามธุรกิจก็ไม่สามารถนำนวัตกรรมมาแทนคนได้ทั้งหมด รวมไปถึงการปรับเปลี่ยน Mindset ให้พร้อมเรียนรู้ และพร้อมสร้างกำลังใจให้กับทุกคนในยามวิกฤต

‘เรียนรู้ให้เยอะ ขยันให้มาก อดทนให้เก่ง’ บทเรียนจาก คุณแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์

คีย์สำคัญของการดำเนินธุรกิจที่ถึงแม้จะมีวิกฤตก็ฆ่าไม่ตาย จากนักปั้นธุรกิจเบอร์หนึ่งอย่าง คุณแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จะอยู่เหนือเมฆได้ต้องขยันเรียนรู้ อดทนให้เก่ง และต้องมี Persistence ธุรกิจถึงจะไปได้ไกลกว่าคนอื่น

แม้จะเกิดการระบาดของ COVID-19 แต่ทาง JKN กลับไม่ได้รับผลกระทบมากมายแต่อย่างใด เพราะแนวคิดของผู้นำที่ว่า ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นห้ามชะล่าใจ และให้คิดว่าทุกเรื่องที่เกิดมันจะดีเสมอ เพราะเราจะได้เรียนรู้ไว้เป็นประสบการณ์ในการพัฒนาทั้งตัวเราและองค์กร สิ่งสำคัญคือ การเรียนรู้ อดทน ขยัน และไม่รอคอยวาสนา เรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อให้เป็นวิชาอยู่กับตัวเราตลอด แล้วนำมันมาปรับใช้ จงขยันให้มาก อดทนให้มาก ให้มีความเชื่อมั่นว่าทุกอย่างเป็นไปได้ ถ้าเรายังเชื่อมั่นในตัวเราเอง แล้วทุกอย่างจะทำให้เราแข็งแกร่งแม้กระทั่งในยามวิกฤต

‘ปรับ Mindset เพิ่มโอกาส’ บทเรียนจาก คุณญนน์ โภคทรัพย์

เมื่อเหรียญมี 2 ด้าน เมื่อมีวิกฤต ก็ต้องมีโอกาส แต่ถ้ามุมมองและทัศนคติของผู้นำไม่พร้อม เหรียญด้านโอกาส ก็อาจจะพลิกเป็นด้านวิกฤต ถอดบทเรียนการเป็นผู้นำในยามวิกฤตจาก คุณญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถ้าอยากรอดวิกฤตนี้ เริ่มได้จากการปรับเปลี่ยน Mindset 

สำหรับผู้นำแล้วการสร้างองค์กรให้ดีได้จะต้องมีหลากหลายทักษะ และในยามวิกฤต สติและความสงบนิ่งของผู้นำ คือสิ่งสำคัญที่สุด ต้องไม่หวั่นไหวตามกระแส และตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ เด็ดขาด นำพาองค์กรไปในทิศทางที่ถูกต้อง สำหรับผู้นำแล้วให้คิดว่า “ผู้นำไม่ได้เป็นผู้อัจฉริยะ แต่สร้างคนอัจฉริยะ” เพื่อผสานพลังองค์กรให้เป็นหนึ่ง การปรับ Mindset ก็เช่นกัน การมองโลกในแง่บวกหรือลบก็เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจที่ดีของผู้นำ รวมถึงต้องมีความพร้อมเสมอสำหรับการเปลี่ยนแปลง เมื่อรับมือได้ ก็จะเกิดความคิดหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา และต้องลงมีทำทันที แล้วมันจะเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจเราได้

‘อย่ากลัววิกฤต ให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน’ บทเรียนจาก คุณ William E. Heinecke

หลายคนที่เมื่อวิกฤตเข้ามา ก็กลัวที่จะดำเนินธุรกิจต่อ หรือหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตภายใต้ความเสี่ยง แต่สำหรับคุณ William E. Heinecke ผู้ก่อตั้งเครือบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หนึ่งในกลุ่มบริษัทด้านการบริการที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กลับมองว่า เราควรจะเรียนรู้ผ่านวิกฤต เพื่อให้ใช้ชีวิตกับมันได้

การจะฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ หรือครั้งต่อๆ ไปที่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจะมาอีกเมื่อไหร่ไปให้ได้ ทุกธุรกิจจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับวิกฤตให้ได้ การกลัวต่อวิกฤตจะทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก และส่งผลทำให้คนอีกหลายคนตกงาน ซึ่งผลที่ตามมาอาจจะเป็นความสูญเสียที่มากกว่าผลที่เกิดจากวิกฤต COVID-19 ธุรกิจจะต้องพยายามรักษาสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อให้หมุนเวียนได้ทัน ต้องปรับตัวให้เร็ว ให้ทันกับสถานการณ์ และต้องนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยในการดำเนินธุรกิจ ต้องปรับตัวให้ได้ เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ แล้วธุรกิจก็จะสามารถดำเนินต่อไปได้เช่นกัน

‘จัดลำดับความสำคัญ ลดความเสี่ยงทางธุรกิจ’ บทเรียนจาก คุณศุภจี สุธรรมพันธ์

สำหรับธุรกิจโรงแรม ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากในช่วงการระบาดของ COVID-19 แต่สำหรับนักธุรกิจหญิงแกร่งผู้เฉียบคม อย่างคุณศุภจี สุธรรมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ผู้ที่สามารถคืนชีพโรงแรมในช่วงยากลำบากเช่นนี้ ด้วยแนวคิดเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงให้กับธุรกิจ

การจัดลำดับความสำคัญ คือปัจจัยสำคัญของความอยู่รอดในช่วงนี้ ซึ่งหลายๆ ธุรกิจและองค์กรจะให้ลำดับความสำคัญที่ต่างกันออกไป แต่สำหรับดุสิตธานี สิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือ ต้นทุน การจัดการทำให้ต้นทุนคงที่ หรือลดต้นทุนลงไปได้ถือเป็นหนึ่งความสำเร็จของธุรกิจนี้ รวมไปถึงการบริหารจัดการความเสี่ยง ที่ทุกธุรกิจควรจัดการเรื่องนี้ให้ดี ทุกองค์กรต้องรู้จักประมาณกำลังตัวเอง ไม่วิ่งเร็วเกินไปจนล้ม หรือช้าเกินไปจนหยุดนิ่ง และให้มองว่าความสำเร็จที่ได้มาไม่ใช่แค่ความสำเร็จของผู้นำ แต่เป็นความสำเร็จของทีมทุกคน จงทำงานร่วมกัน และเป็นแรงผลักดันให้กันและกันในทีมเสมอ


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึกทิศทางประกันภัยในยุคดิจิทัล | Exec Insight EP.74

Techsauce ได้พูดคุยกับ ดร.สุทธิพล อดีตเลขาธิการคปภ. ถึงการปรับตัวของธุรกิจประกันภัยในการนำเทคโนโลยีมาใช้...

Responsive image

นวัตกรรม อีกหนึ่งความหวังในการเติบโตของประเทศไทย | Exec Insight EP.73

Techsauce ได้รับโอกาสพิเศษในการพูดคุยกับ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA พูดคุยถึงแนวทางและภารกิจหลักในการผลักดันนวัตกรรม รวมถึงการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการขยายเข้าไปใน...

Responsive image

ไปรษณีย์ไทย 140 ปี สู้สมรภูมิโลจิสติกส์อย่างไร ?

จากบริษัทที่เริ่มต้นจากการสื่อสารเมื่อ 140 ปีก่อน สู่บริษัทโลจิสติกส์ และเตรียมต่อยอดสู่ Tech Company ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมหาศาล ไปรษณีย์ไทย สู้ศึกโลจิสติกส์อย่างไร สงครามราคาจะ...