โดย คุณมานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในเชิงพฤติกรรมประชาชน ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและสุขอนามัยทั้งของตนเองและส่วนรวมมากขึ้น รวมทั้งการขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีผ่านระบบออนไลน์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่ออุตสาหกรรมการแพทย์ และสุขภาพในอนาคต
วิกฤติครั้งนี้ ยังเป็นตัวเร่งในการเปลี่ยนแปลงทุกมิติของชีวิต และ เทคโนโลยี รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่เฉพาะการพัฒนาวัคซีนหรือตัวยาสำหรับการรักษาที่ร่นระยะเวลาให้เร็วขึ้น แต่ยังรวมถึงการเร่งพัฒนา และผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือการทำงานด้านวงการแพทย์มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบรับกับวิถี New Normal ของสังคมไทยหลังวิกฤติโรคระบาด ในส่วนของโรงพยาบาลต่างๆ ก็ได้มีการปรับตัวสำหรับการดำเนินธุรกิจในอนาคตด้วยการลงทุนและสร้างระบบ Telemedicine เพื่อให้บริการแบบ Real Time Consultation ผ่านสมาร์ทโฟนแทนการลงทุนด้านการขยายพื้นที่ แต่ให้บริการแบบเดิมๆ
องค์ประกอบสำคัญ นอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานที่เป็น "ระบบการสื่อสารโทรคมนาคม" ของประเทศที่ต้องมีความมั่นคงด้วยเทคโนโลยี 5G แล้ว การพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือ และวิทยาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงระบบ AI และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่จะเข้ามารองรับ จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
ปัจจุบัน แม้ศักยภาพทางบุคคลากรด้านการแพทย์ สถานพยาบาล และบริการที่เกี่ยวข้อง ของประเทศไทยจะมีความพร้อมสูง โดยเป็นที่ประจักษ์กระทั่งได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพในระดับต้นๆ ของโลก ถึงกับประเทศไทยจะชูความโดดเด่นเรื่องความก้าวหน้าแนวอุตสาหกรรมด้านการแพทย์แบบ World Tourism Medical Hub ของโลกก็ตาม แต่ภายใต้บริการที่เป็นเลิศนี้ ก็อยู่บนพื้นฐานของการทำผ่านเครื่องมือทางการแพทย์ ที่ต้นทุนการใช้เทคโนโลยี ซึ่งก็ยังต้องนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ทางตะวันตกเกือบทุกชิ้น
นอกจากนี้ ความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ ที่มีsensor วิเคราะห์ วัดผลเหล่านี้จะสูงขึ้นอย่างมากตามมาในอนาคต เพราะคนไทยจะเป็นสังคมสูงวัยแบบเต็มตัวในอีกไม่เกิน 10ปีข้างหน้า ดังนั้นโอกาสทางการพัฒนา อุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ที่ทั้งแบบทดแทนที่ใช้อยู่ปัจจุบัน และนวัตกรรมการประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพความปลอดภัยและเที่ยงตรง ที่ทัดเทียมกับของปัจจุบัน และทำให้การเข้าถึงได้อย่างสะดวก ด้วยต้นทุนราคาถูก
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาในการก้าวสู่จุดเปลี่ยนด้วยการวิจัยพัฒนา ระบบไมโครชิพอัจฉริยะ เพื่อรองรับกับอนาคตสังคมล้ำยุคแบบ Smart Health ที่เทคโนโลยีการแพทย์ (Medical Technology) ในแนว deepTech อาจจะมีบทบาทหลักที่จะปฏิวัติการแพทย์ระบบปัจจุบันให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค Digital Health ซึ่งจะมาช่วยอำนวยความสะดวก สร้างมาตรฐานการป้องกันและรักษาสุขภาพ (DIagnostic Screening and Wellness) และที่สำคัญ คือการลดความเสี่ยง การเกิดโรคได้อย่างฉับไว หรือจำกัดความเสียหาย ก่อนที่อาการจะเกิดภาวะวิกฤติได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลงเป็นอย่างมาก
สำหรับบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SIC ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ Deep Tech โดยทีมงานคนไทย และเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการออกแบบและผลิตไมโครชิพอัจฉริยะ สำหรับอุปกรณ์ RFID (Radio Frequency Identification) เชิงประยุกต์ล้ำสมัย ซึ่งนอกจากจะเป็นเทคโนโลยีบ่งชี้อัตลักษณ์ด้วยคลื่นวิทยุในรูปแบบการใช้แบบที่มีอยู่เดิมแล้ว ด้วยความมุ่งมั่นในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ไม่หยุดนิ่ง SIC เสริมศักยภาพของ RFID ให้เกิดการ disruptive โดยสร้างนวัตกรรมประยุกต์ทางการแพทย์ ให้เข้ามาตอบโจทย์บริการแพทย์ และบริการเพื่อสุขภาวะของคนไทยและในอนาคตอาจจะตอบโจทย์วงการแพทย์ทั้งโลกที่รอสิ่งประดิษฐ์ของSICที่เป็นที่ยอมรับ ให้มีความสะดวก ปลอดภัยมากต่อสังคมโลกยิ่งขึ้น
ซิลิคอน คราฟท์ เริ่มเข้าสู่แผนการพัฒนาชิพตัวตรวจวัดบนแพลทฟอร์มมือถือNFC (Near Field Communication) โดยไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ ตั้งแต่ปี 2017 กับคู่ค้าต่างประเทศ ในกลุ่มการวัดเคมีไฟฟ้า เพื่อตอบโจทย์การประยุกต์ในSmartlife ทว่าเราเล็งเห็น Trend ของการนำไปใช้ใน Teleheath จึงต่อยอดการใช้งานกับ Electrochem และ BioChem ที่จะล้ำหน้ากว่าวิธีการแบบดั้งเดิมที่ยังคงเป็นแบบ desktop ราคาแพงและยังใช้เฉพาะในโรงพยาบาลหรือจำกัดใช้เฉพาะในห้องแล็ปวินิจฉัย ซึ่งส่งผลให้ราคาค่าบริการวิเคราะห์ยังคงสูงและใช้ได้เพียงบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ในขณะนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมวิจัยและอยู่ระหว่างการพัฒนาไมโครชิพสำหรับเครื่องตรวจวัดอัจฉริยะ (Smart Sensor) รุ่นใหม่เพื่อเชื่อมต่อการวัดและการอ่านค่าองค์ประกอบต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกชนิด sensor ทางเคมี ชีวะและ ก๊าซ ที่กว้างขึ้น ให้มีความสะดวกรวดเร็ว เที่ยงตรง และใช้งานได้ง่าย สามารถอ่านค่าได้โดยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่รองรับระบบ NFC (Near Field Communication) ซึ่งต่อไปจะอยู่ในมือถือทุกเครื่องเฉกเช่นเดียวกับการเชื่มต่อบลูธูท หรือ Wifi ซึ่งผู้ใช้งานสามารถนำไปพัฒนาเป็นอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นได้ อาทิ การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจวัดเชื้อโรคในสารคัดหลั่ง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาปรับปรุงให้มีมาตรฐานสูง ให้ใกล้เคียงกับการวัดของเครื่องมือชั้นสูงในโรงพยาบาล
และล่าสุดได้มีการพัฒนานวัตกรรมไมโครชิพอัจฉริยะ RFID สำหรับธุรกิจด้านสุขภาพ (Smart Healthcare) ที่สามารถนำไปใช้เป็นอุปกรณ์ติดตัวผู้ป่วยเพื่อเก็บข้อมูลการรักษาและติดตามตำแหน่งผู้ป่วย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลและการให้บริการที่ดีขึ้น ทำให้ทั้งแพทย์และผู้ป่วย สามารถเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพได้ง่ายขึ้น มีความปลอดภัยสูงและมั่นใจได้ถึงคุณภาพ อาทิ Blockchain Card ซึ่งเป็นบัตรที่ช่วยบันทึกและแชร์ข้อมูลที่เป็นประวัติของผู้ป่วยในการให้ข้อมูลกับทางโรงพยาบาล และสะดวกในการรักษากรณีที่โยกย้ายการรักษาไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ทันได้ตั้งตัว และสายรัดข้อมือผู้ป่วย (Patient Wristband) ที่สามารถยืนยันสถานะ การรักษา และติดตามขั้นตอนการตรวจรักษาตั้งแต่เข้ามาลงทะเบียนจนกระทั่งเดินทางกลับบ้าน โดยเชื่อมต่อเข้ากับระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาลเอง เพื่อให้เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ขั้นตอน หรือปรับปรุงการบริการ ในการอำนวยความสะดวกทั้งผู้ป่วย ผู้เข้าใช้บริการ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งนวัตกรรมไมโครชิพอัจฉริยะ RFID ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่นำไปใช้ตรวจสอบและบันทึกผลการตรวจเลือดที่ถูกต้อง โดยใช้ติดกับเครื่องมือติดตามหลอดตรวจเลือดตัวอย่าง อุปกรณ์ดังกล่าวจะทำหน้าที่บันทึกขั้นตอนตั้งแต่การลงทะเบียนหลอดเลือดให้ตรงกับผู้ตรวจ และยืนยันสถานะการจัดเก็บเลือดตามคำสั่งแพทย์ อีกทั้งยังติดตามสถานะการตรวจเลือดจนแล้วเสร็จ พร้อมทั้งยืนยันสถานะกับทางบุคลากรการแพทย์เพื่อจัดเก็บผล และบันทึกส่งต่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ได้ระบุเป็นแพทย์ประจำตัวได้ในลำดับต่อไป นอกจากนี้การเพิ่มอุปกรณ์ติดตามที่หลอดเลือดตัวอย่างนี้ จะยังช่วยให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บผลการทดลองต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและลดขั้นตอนเวลาการรอคอยของผู้ป่วย และลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ณ สถานพยาบาลอีกด้วย ด้วยสถานการณ์ความปลอดภัย และห่างไกลจากเชื้อโรค เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญทำให้การบริหารจัดการภายในสถานพยาบาล ต้องมีความรัดกุม และรวดเร็ว เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่างๆ กับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะนี้ ยังสามารถเข้ามามีส่วนช่วยด้านการแพทย์ในหลากหลายธุรกิจ ทั้ง ธุรกิจประกันชีวิต ที่สามารถเพิ่มบริการสำหรับลูกค้าที่เป็นผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง สามารถรับบริการปรึกษาแพทย์ทางออนไลน์ และการจัดส่งยาถึงบ้านลูกค้า โดยครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามวงเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก ได้แก่ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการเฉพาะการตรวจเลือด ค่าแพทย์รวมทั้งค่าจัดส่งยาถึงบ้าน
สิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ คือ กฎระเบียบของทางภาครัฐ จะต้องเปิดรับข้อกำหนดใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น แม้ว่าระบบสาธารณสุขของไทยเป็นระบบที่แข็งแกร่งดีอยู่แล้ว แต่ยังตกหล่นข้อบังคับด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติด้าน MediCare (Medical Healthcare) หรือสนับสนุนการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้อยู่มาก ซึ่งเห็นควรว่าประเทศไทยควรเร่งศึกษา เตรียมปรับรูปแบบแผนงาน หรือกลวิธีที่ดีต่างๆ จากต่างประเทศแบบองค์รวมและนำมาประยุกต์ใช้ เพราะในวันนี้ผู้ประกอบการที่ทำงานในสาย Deep Tech มีความพร้อมแล้วทั้งบุคลากร และองค์ความรู้สำหรับการศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพของเมืองไทยไปอย่างสิ้นเชิง
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด