บทบาทโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลกับการพัฒนาตลาดทุนไทย | Techsauce

บทบาทโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลกับการพัฒนาตลาดทุนไทย

บทความโดย คุณถิรพันธุ์ สรรพกิจ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปร่วมการเปิดตัวแอปพลิเคชันรายใหม่ด้านการลงทุนถึง 2 งานติด ๆ กัน คือ FinVest app ซึ่งเป็นการจับมือกันของ KBANK, RoboWealth, Lufax แอปพลิเคชันที่จะทำให้ผู้ลงทุนไทยสามารถลงทุนในกองทุนรวมจาก บลจ. ชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศได้โดยตรง และอีกรายคือบริการใหม่ True Money ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน Ascend Wealth และอีก 10 บลจ. ให้บริการเปิดบัญชีและซื้อขายกองทุนรวมผ่าน TrueMoney Wallet app

ทั้งสองแอปพลิเคชันมุ่งเป้าไปที่ฐานลูกค้าใหม่ที่อาจจะยังไม่มีประสบการณ์ด้านการลงทุน โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ Pain Point หลัก คือ ความยากในการเข้าใจเรื่องการลงทุนของกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง รวมถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เหมาะสมกับลูกค้าได้ในระดับบุคคล ซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับบริการทางการเงินในอนาคต โดยได้นำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยหลายด้านมาปรับใช้ ทั้งการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ลงทุนเพื่อนำมาซึ่งข้อแนะนำในการเลือกกองทุนที่เหมาะสมในแบบรายบุคคล (Personalized) ถ้าจะเปรียบไปก็คล้าย Netflix ที่แนะนำหนังตามพฤติกรรมของผู้ชมรายคนเพื่อให้ถูกใจที่สุด เพราะแต่ละคนมีรสนิยมการดูหนังที่ต่างกัน การลงทุนก็เช่นกัน ความต้องการผลิตภัณฑ์ในแต่ละช่วงอายุ แต่ละอาชีพ ปัจจัยด้านครอบครัวที่แตกต่างกัน ก็ย่อมส่งผลต่อการเลือกลงทุนในรูปแบบที่แตกต่างกันเป็นธรรมดา

หากจะเปรียบเทียบกับการพัฒนาในอุตสาหกรรมรถยนต์ แอปทั้งสองตัวนี้ก็น่าจะเทียบได้กับรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ ที่ไม่ใช่แค่ขับเองได้ แต่สามารถแนะนำทางเลือกที่ดีให้เราได้อีกด้วย เช่น เราแค่บอกว่า อยากหาร้านอาหารสำหรับมื้อเย็น รถอัจฉริยะก็สามารถเลือกร้านอาหารที่มีคุณภาพ เหมาะกับเราได้ทั้งในเรื่องความชอบและราคาที่พอเหมาะกับขนาดกระเป๋าของเราให้ด้วยเลย รวมถึงยังสามารถเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดในการขับไปได้เองอีกต่างหาก ซึ่งนอกจากทำให้เราได้ถูกปากถูกใจกับอาหารแล้ว ก็น่าจะทำให้ร้านอาหารดี ๆ มีคุณภาพ สามารถมียอดขายที่เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

แต่รถที่มีสมรรถนะดีและขับเคลื่อนเองได้ จะแสดงศักยภาพได้เต็มที่หรือไม่นั้น ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีรองรับด้วย เช่น ผังเมือง สภาพถนนดี ไฟจราจรดี แสงสว่างดี ป้ายบอกทางดี ตำแหน่งร้านที่ชัดเจนถูกต้อง รายละเอียดร้านค้า และรายการอาหาร เป็นต้น จะช่วยให้ผู้ออกแบบรถทำงานได้ง่ายขึ้นและรถอัจฉริยะเหล่านี้จะสามารถทำงานได้ถูกต้องตามการออกแบบ

สำหรับแอปพลิเคชันด้านการลงทุนแนวใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ก็ต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเช่นเดียวกัน เรียกว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในการต่อเชื่อมกับระบบรอบข้างในการลงทุน เช่น ความสามารถในการต่อเชื่อมระบบส่งคำสั่งซื้อขายไปยังบริษัทจัดการกองทุนได้หลาย ๆ แห่ง เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมหลากหลายประเภท รวมถึงสามารถต่อเชื่อมกับกองทุนในต่างประเทศโดยตรงได้ในอนาคต ซึ่งจะเพิ่มความหลากหลายมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยการต่อเชื่อมดังกล่าว ยิ่งต่อได้มากแอปนั้นก็จะยิ่งสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผู้ลงทุนที่มีความต้องการหลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตามการต่อเชื่อมนี้ก็ไม่ง่ายเพราะจะมีต้นทุนในทุก ๆ การต่อเชื่อม ซึ่งหากผู้พัฒนาแอปแต่ละรายไปต่อเชื่อมกันเอง ก็อาจทำให้ต้นทุนสูงเกินจุดที่เหมาะสม ซึ่งสุดท้ายภาระต้นทุนเหล่านั้นก็จะกลับมาที่ผู้ลงทุนในที่สุด อีกทั้งระยะเวลาที่ใช้ในการพัฒนาการต่อเชื่อมหลาย ๆ แห่ง จะทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ความต้องการลูกค้า ไม่สามารถทำได้รวดเร็วทันความต้องการ ทั้งนี้ หากมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่แอปต่อเชื่อมได้ในจุดเดียวแต่สามารถเข้าถึงกองทุนในประเทศไทยได้เกือบทั้งหมด และจะต่อเชื่อมไปยังกองทุนต่างประเทศได้ในอนาคต ก็จะทำให้แต่ละแอปสามารถพัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ 

ทั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในความภูมิใจของตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า โครงสร้างพื้นฐานที่ผมได้ยกตัวอย่างนั้น ได้เกิดขึ้นและมีการใช้งานจริงแล้วมากว่า 3 ปี ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวมีชื่อว่า “FundConnext Platform” ที่ได้ริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2560 โดยท่านผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ท่านปัจจุบัน ดร. ภากร ปีตธวัชชัย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการสายงานกลยุทธ์องค์กร โดยแอปทั้งสองตัวที่ผมกล่าวข้างต้น ก็ได้ใช้ FundConnext ในการต่อเชื่อมเข้าถึงผลิตภัณฑ์กองทุนรวมทั้งหมด และในอนาคตอันใกล้ FundConnext จะสามารถต่อเชื่อมกับกองทุนต่างประเทศผ่าน Clearstream ซึ่งเป็นศูนย์รับฝากหลักทรัพย์นานาชาติระดับโลกภายใต้กลุ่มตลาดหลักทรัพย์เยอรมัน ทำให้แอปต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อ FundConnext อยู่แล้วเข้าถึงกองทุนต่างประเทศได้เลยโดยไม่ต้องไปพัฒนาการต่อเชื่อมเอง และสามารถตอบโจทย์การให้บริการลูกค้าได้อย่างเต็มศักยภาพด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

ดังนั้น เพื่อให้ตลาดทุนไทยมีการพัฒนาให้สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มีความจำเป็นในระบบนิเวศของตลาดทุนไทย เพื่อช่วยให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันทำงานง่ายขึ้น มีรูปแบบการต่อเชื่อมที่เป็นมาตรฐาน โดยไม่ต้องแบกรับต้นทุนในการออกแบบเองทั้งหมด ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนในเกิด FinTech app ประเภทใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ตัวอย่างโครงสร้างพื้นฐานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สร้างมาแล้ว เช่น Settrade Streaming Platform ที่ให้บริการมาตั้งแต่ปี 2543 ทำให้การพัฒนาการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่าน Internet Trading และ Mobile Trading เติบโตได้แบบก้าวกระโดดจนถึงปัจจุบัน และ FundConnext Platform ที่เป็น Gateway เชื่อมต่อไปยังกองทุนที่หลากหลายของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทั้งในประเทศและกำลังจะให้บริการกองทุนในต่างประเทศที่ได้ยกตัวอย่างมา รวมถึง FinNet Payment Platform ที่เป็นระบบ Payment สำหรับผู้ร่วมตลาดทุน 

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนงานที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับ Digital Asset อันได้แก่ Digital Token ที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Asset-backed Digital Token ที่แสดงกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ เช่น คอนโดห้องหนึ่ง อาจจะมีเจ้าของร่วมถือ Token ได้เป็นสิบเป็นร้อยคน เพื่อสามารถแบ่งผลตอบแทนในการปล่อยเช่าได้ ซึ่ง Digital Token เหล่านี้ก็จะเป็นทางเลือกในการลงทุนในอนาคตได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยโครงสร้างพื้นฐานหลัก ๆ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนามาแล้วแทบทั้งหมดได้พิสูจน์ในระดับหนึ่งแล้วว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนไทยในภาพรวม ทั้งในเรื่องของการเติบโตแบบก้าวกระโดดของผู้ใช้งานในระบบ รวมถึงการขยายบริการเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่นว่าการมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลด้านตลาดทุนที่ดี จะช่วยให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ร่วมตลาดร่วมกันพัฒนาบริการที่ดีสำหรับผู้ลงทุน เพิ่มความสามารถตลาดทุนไทยในการแข่งขันในโลกดิจิทัลระดับโลกได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะเป็นประโยชน์โดยรวมของผู้ร่วมตลาดทุนไทยตามวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” ครับ

บทความโดย คุณถิรพันธุ์ สรรพกิจ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 


RELATED ARTICLE

Responsive image

ภารกิจ ORion หาโอกาสใหม่ให้ OR อย่างไร ? ทำได้จริงหรือ ?

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน ปฏิเสธไม่ได้ว่า OR เป็นหนึ่งในบริษัทที่เคลื่อนตัวไว และยังมีการเงินลงทุนใน Startup & SMEs ไทยหลายราย จนเกิดเป็นวลีที่ใครก็จำได้ว่า โออาร์ = โอกาส...

Responsive image

เงินเฟ้อ น้ำมันแพง เศรษฐกิจถดถอย หัวเรือใหญ่ SCG เดินเกมอย่างไรไปพร้อมกับความยั่งยืน

Techsauce พูดคุยกับคุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG ในประเด็นความยั่งยืน และ ESG SCG เดินหน้าธุรกิจอย่างไร ในวันที่ทุกองค์กรต้องตระหนักเรื่องของความยั่งยืน แต่ใน...

Responsive image

InnovestX กับความคิดที่ว่า Digital Asset และ Blockchain คือพื้นฐานของโลกดิจิทัลใบใหม่

Blockchain และ Digital Asset 2 เรื่องนี้ คือหัวข้อสำคัญในการขยับตัวครั้งใหญ่อีกครั้งของ SCBX ที่ล่าสุดได้ Rebranding บริษัทในเครืออย่างบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด สู่ บริษัทห...