โอกาส Startup ของไทยมีมากเพียงใดในการขาย IPO ผ่านตลาดหุ้น | Techsauce

โอกาส Startup ของไทยมีมากเพียงใดในการขาย IPO ผ่านตลาดหุ้น

โดย ประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)

Startup ส่วนใหญ่ที่มีความมุ่งหวังในการสร้างธุรกิจให้เติบโตต่างต้องการแรงสนับสนุนตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ จนสามารถก้าวสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วนำหุ้นเสนอขาย IPO (การออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก)    ที่สุดท้ายแล้วจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นและน่าเชื่อถือให้กับบริษัท โดยเฉพาะเสริมความแกร่งให้กิจการกลายเป็นแบรนด์ระดับภูมิภาคหรือระดับโลก

Startup

ทว่าหนทางในการเตรียมตัวสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนอาจไม่ง่ายอย่างที่ฝันไว้ แต่ไม่ได้ยากเกินเอื้อมหากมีความตั้งใจ Startup ควรมีการเตรียมตัวอย่างไร จึงจะมีศักยภาพเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ และทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) /ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) มีการช่วยสนับสนุนอย่างไร

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจ Startup ในทุกขั้นตอนให้เติบโต ตั้งแต่เริ่มต้นการทำธุรกิจด้วยการฝึกอบรมให้ความรู้ผ่านห้องเรียนผู้ประกอบการ การสร้างชุมชนดิจิทัลให้ผู้ประกอบการพบผู้ลงทุน การเปิดให้ระดมทุนในรูปแบบ Crowdfunding และการระดมทุนตรง จนธุรกิจเติบโตต้องการขยายธุรกิจด้วยการทำจับคู่ธุรกิจกับบริษัทขนาดใหญ่ 

โดยแต่ละขั้นตอนมีการทำงานร่วมกับพันธมิตรในการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับธุรกิจ Startup เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมในการหาผู้ลงทุน สร้างการเติบโตและผลกำไร

ตลาดหุ้นไทยมีสภาพคล่องสูงสุดใน SEA

Startup ของไทยอาจมีแนวคิดในการนำบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศ โดยยังไม่ทราบว่า ตลาดหลักทรัพย์ไทยเองก็มีความโดดเด่นสามารถดึงดูดผู้ลงทุนจากทั่วโลกจนมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดในอาเซียนนับตั้งแต่ปี 2545 

ด้วยมูลค่าการซื้อขายต่อวันเฉลี่ย (Average Daily Trading Value) 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐมากกว่าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ถึง 2 เท่า มีมูลค่าการระดมทุน (Initial Public Offering: IPO) สูงสุดติดต่อกันมาหลายปี จนมีขนาดของตลาด (Market Capitalization) ขึ้นมาเป็นอันดับสองเข้าใกล้ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ 

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการส่งเสริมธรรมาภิบาลบริษัทจดทะเบียนจนมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนใน DJSI (Dow Jones Sustainability Indices) เป็นเครื่องมือวัดธรรมาภิบาลระดับโลกมากที่สุดในภูมิภาค ทำให้สามารถดึงดูดกองทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี

Startup

IPO คืออะไร ทำไมต้อง IPO

IPO หรือ Initial Public Offering คือการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก การทำ IPO เป็นการเพิ่มช่องทางการระดมทุนของบริษัท เป็นแหล่งเงินทุนที่ไม่มีดอกเบี้ย สร้างภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือจากสถาบันการเงิน คู่ค้า ลูกค้า พนักงาน และประชาชนโดยทั่วไป เพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ถือหุ้นคือสามารถขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันที ทำให้ผู้ที่ลงทุนใน Startup ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นธุรกิจมีช่องทางขายหุ้นเพื่อรับผลตอบแทนจากการลงทุน 

แต่ทว่าภาพลักษณ์และชื่อเสียงของบริษัทที่จะออกสู่สาธารณชนย่อมมาพร้อมกับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ เมื่อเป็นบริษัทมหาชนแล้วต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบมากขึ้น ต้องมีความโปร่งใส ชัดเจน มีคนกลางที่มีความเป็นอิสระจากบริษัทเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการอย่างเข้มงวด

ขณะที่เมื่อบริษัทได้รับความน่าเชื่อถือแล้ว สิ่งที่ตามมาอย่างแน่นอนคือ ทีมบริหารและพนักงานที่มีคุณภาพก็อยากจะเข้ามาร่วมงานด้วย ไม่เพียงเท่านั้นระบบการทำงานก็จะต้องถูกปรับให้เป็นมาตรฐานด้วยเช่นกัน

 Startup

เส้นทางระดมทุนต้องเตรียมตัวอย่างไร

Startup ของไทยโดยส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับสภาพการขาดทุนในช่วงต้นอันเนื่องจากใช้เงินลงทุนทำระบบและหาลูกค้า แต่การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนต้องคำนึงผลกำไรและการเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้นผู้ประกอบการต้องมีการจัดทำงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด

การวางระบบภายในที่ดีจะเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะจะทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น โดย Startup อาจมองหาผู้ช่วยที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้วางระบบการควบคุมภายใน ผู้ตรวจสอบบัญชีที่ได้รับการรับรองจากตลาดหลักทรัพย์ และสรรหาคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท

ที่ปรึกษาทางการเงินยังมีหน้าที่ให้คำแนะนำในการจัดโครงสร้างการถือหุ้น และธุรกิจให้ชัดเจน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ให้มั่นใจได้ว่าการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะมีความโปร่งใส ไม่เอื้อต่อบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest)

ทีมงานของ Startup ต้องมีการปรับตัวเช่นกัน เนื่องจากการที่จะเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือ CFO  (Chief Financial Officer) ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น CFO ต้องผ่านการอบรมพัฒนาความรู้ต่อเนื่องด้านบัญชี 6 ชั่วโมงต่อปี และมีประสบการณ์ด้านการบัญชี หรือการเงิน 3 ปี ใน 5 ปีล่าสุด หรือด้านใด ๆที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการดำเนินกิจการ 5 ปี ใน 7 ปีล่าสุด เป็นต้น

Startup ของไทยที่สนใจการเตรียมตัวสู่ IPO สามารถ download “IPO Roadmap Guide Book : เส้นทางสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียน” https://www.set.or.th/education/th/enterprise/files/IPOGuideBook.pdf หรือเข้าอบรมหลักสูตร IPO Roadmap

หากยังไม่พร้อมจะมีทางเลือกอย่างไรได้บ้าง

Startup อาจต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์ธุรกิจให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ตลาดหลักททรัพย์ฯ ตระหนักถึงการช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพแต่ยังไม่พร้อม มีโอกาสได้ก้าวสู่การเป็นบริษัทมหาชน โดยจัดตั้ง “LiVE Platform” (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.live-mkt.com หรือ facebook: LiVE Platform)  เพื่อช่วย Startup ได้เตรียมความพร้อม

LiVE Platform ทำงานร่วมกับพันธมิตรหลายองค์กรเพื่อช่วยให้ธุรกิจ Startup ได้เติบโตตั้งแต่ การจัดหลักสูตรความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการ การรวบรวมคลังความรู้ในการทำธุรกิจ การประชาสัมพันธ์ในวงกว้างผ่าน Social Media และ YouTube Channel ในรูปแบบ Virtual Pitching 

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับพันธมิตรในการนำเสนอระบบงานบัญชี บริหารบุคคล ภาษี ที่ปรึกษาทางกฎหมาย เพื่อช่วยในการปรับปรุงระบบของธุรกิจ Startup เพื่อให้ผู้ลงทุนที่สนใจในธุรกิจเกิดใหม่ได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนที่เพียงพอ และเชื่อมโยงพันธมิตรธุรกิจขนาดใหญ่ในการช่วยขยายฐานลูกค้าและสร้างการเติบโตร่วมกัน

สำหรับ Startup ที่ต้องการระดมทุนสามารถเลือกรูปแบบการระดมทุนทางเลือกแบบ Crowdfunding เพื่อเปลี่ยนลูกค้าเป็นผู้ร่วมทุนของธุรกิจ และเปิดการซื้อขายหุ้นสำหรับผู้ลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อให้เกิดสภาพคล่องและมีการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐาน ช่วยให้ Startup ที่ต้องการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ลงทุนในวงกว้างและจูงใจพนักงานด้วยการให้หุ้น (Employee Stock Option: ESOP) สามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ


 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึกบทบาท CVC กับการลงทุนใน Startups ยุคใหม่ กับ Nicolas Sauvage หัวเรือใหญ่ TDK Ventures

เจาะลึกบทบาทของ CVC ในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ พร้อมเผยกลยุทธ์การเฟ้นหาและสนับสนุน Startups รวมถึงแบ่งปันวิสัยทัศน์เชิงลึกรวมถึงกลยุทธ์การลงทุนใน Startups ที่น่าจับตามอง โดย Nico...

Responsive image

คุยกับ ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบริษัทบ้านปู และอนาคตของธุรกิจพลังงานสู่ทศวรรษที่ 5

รู้จัก ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบริษัทบ้านปู และอนาคตของธุรกิจพลังงานสู่ทศวรรษที่ 5...

Responsive image

คุยกับ Andrew Ng ผู้ทรงอิทธิพล AI ระดับโลก | Exec Insight EP.75

พบกับบทสัมภาษณ์พิเศษจาก Andrew Ng โดย Techsauce...