'ต้องเข้าถึงประชาชน' หัวใจของมาตรการ 'การเงินการคลัง' ในภาวะวิกฤต กับ กรณ์ จาติกวณิช | Techsauce

'ต้องเข้าถึงประชาชน' หัวใจของมาตรการ 'การเงินการคลัง' ในภาวะวิกฤต กับ กรณ์ จาติกวณิช

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ถือเป็นอุบัติเหตุทางเศรษฐกิจของโลกอย่างหนึ่ง เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ดังนั้นสถานการณ์ครั้งนี้จึงไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ในมิติทางสาธารณสุข แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือมิติทางเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงไม่แพ้กัน ดังนั้นภาคส่วนที่มีบทบาทมาที่สุดในการช่วยแก้ปัญหานี้ คือ รัฐบาลของแต่ละประเทศ

ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ที่รัฐบาลได้มีการออกมาตรการต่าง ๆ  เพื่อมาเยียวยาประชาชนทั้งประเทศ เพราะทุกคนได้รับผลกระทบทั้งหมด เพียงแต่เป็นไปในรูปแบบที่แตกต่างกัน จึงได้มีพรก.กู้เงินในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ออกมาในการมาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการใช้เงินตรงนี้ต้องมีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด จึงจะสามารถฟื้นฟูได้อย่างแท้จริง

ในบทความนี้ Techsauce ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ คุณ กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เมื่อครั้งสมัยที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ โดยคุณกรณ์ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการคิดค้นนวัตกรรมการเงินการคลัง ในการช่วยฟื้นฟูประเทศให้กลับมาได้ ถึงแนวคิด และข้อเสนอต่าง ๆ ที่เป็นแนวทางในการฟื้นฟูประเทศไทยหลัง COVID-19 ได้ 

‘พันธบัตร’ เพื่อประชาชน นวัตกรรมการเงินของรัฐบาลในช่วงวิกฤต

หนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล คือ การออกพระราชกำหนด ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่ออกโดยฝ่ายบริหารที่ให้อำนาจรัฐบาลที่จะกู้ยืมเงินในกรณีพิเศษได้ โดยปกติรัฐบาลจะกู้ยืมเงินอยู่แล้วทุกครั้งที่งบประมาณแผ่นดินนั้นขาดดุล นั่นคือรายรับ ซึ่งก็คือเงินภาษี ส่วนที่ต้องกู้เพิ่มก็คือส่วนต่าง โดยปกติอาจจะกู้ปีละ 3-4 แสนล้านบาท

 แต่เนื่องจากการเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้รัฐบาลต้องเยียวยาประชาชนและเศรษฐกิจ รวมไปถึงนโยบายงบ 5,000 บาท ที่อยู่ในช่วงที่กำลังแจกจ่ายให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่ ทั้งหมดมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินนอกเหนือไปจากเงินงบประมาณที่ได้กำหนดไว้แล้ว จึงได้ออกเป็นพระราชกำหนดขึ้นมา หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาในสภาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ 

ในครั้งนี้รัฐบาลจะต้องกู้ยืมเงินจากตลาดการเงินเพื่อมาใช้ มากสุดคือ 1 ล้านล้านบาท โดยที่รัฐบาลต้องกู้ยืมให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายน 2564 แต่เนื่องจากตอนนี้เริ่มมีการแจกจ่ายเพื่อเยียวยาให้ประชาชนแล้ว จึงจำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาทันที ฉะนั้นวิธีการกู้ยืมเงินของรัฐบาล โดยส่วนใหญ่แล้วคือการออกพันธบัตร...

โดยปกติจะเป็นการออกพันธบัตรให้แก่สถาบันการเงิน ประชนทั่วไปจะไม่มีสิทธิ์เข้าไปซื้อพันธบัตรนี้ แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วก็เกิดวิกฤต ที่มีต้นเหตุของปัญหามาจากทางตะวันตก ที่เราเรียกว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ก็ส่งผลโดยตรงกับเศรษฐกิจไทยเหมือนกัน และช่วงนั้นได้มีการออกกฎหมายพิเศษโดยให้รัฐบาลสมัยนั้นกู้ยืมเงินเป็นกรณีพิเศษ ตอนนั้นเราเรียกว่า พ.ร.ก. ไทยเข้มแข็ง 

เราบอกว่าหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจในยุคสมัยนั้น คือภาครัฐต้องกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลงทุนในโครงการต่างๆ นอกเหนือจากรายการที่ระบุไว้ในงบประมาณปีนั้นๆ จึงออกมาเป็นพระราชกำหนด รัฐบาลจึงต้องไปกู้เงิน ตอนนั้นเราจึงตัดสินใจว่านอกเหนือจากการออกพันธบัตรในวิธีทั่วๆ ไปแล้ว เราจะออกพันธบัตรขายตรงให้กับประชาชนด้วย 

ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว อย่างแรก...คือรัฐบาลจะได้มีเงินไปใช้ตามแผนงาน อย่างที่สอง...คือประชาชนจะได้มีทางเลือกในการออมผ่านการซื้อพันธบัตรของรัฐบาล มีอัตราดอกเบี้ยที่มั่นคง และเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากที่ประชาชนได้จากธนาคารในระบบปกติ ชื่อว่าพันธบัตรไทยเข้มแข็ง และเป็นครั้งแรกที่เราได้ใช้เครือข่ายธนาคารพาณิชย์ที่เราได้ใช้อยู่ตอนนี้ เป็นตัวแทนการขายพันธบัตรให้แก่รัฐบาล ซึ่งเขาก็ไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย

กรณ์ จาติกวณิช

เราเปิดสิทธิให้ผู้สูงอายุได้จองก่อน หลักคิดของเราตอนนั้นคือกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มประชาชนที่ในอดีตเคยพึ่งพาดอกเบี้ยในการดำรงชีวิต แต่ในยุคสมัยนั้นดอกเบี้ยปรับลดลงมาเรื่อยๆ เมื่อ 20 ปีก่อน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 10% ดังนั้นผู้สูงอายุที่มีเงินฝากก็สามารถอยู่ได้ด้วยรายได้จากดอกเบี้ย แต่เนื่องจากดอกเบี้ยลดลง จึงทำให้กลุ่มที่เดือดร้อนมากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะไม่ได้มีรายได้อื่นที่จะมาเสริมนอกเหนือจากเงินออกมที่มี เราจึงอยากสร้างทางเลือกให้ เพื่อให้เขาได้มีโอกาสมาถอนเงินจากที่ฝากไว้และมาซื้อพันธบัตรของรัฐบาล ซึ่งถือว่ามั่นคงและมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า จึงทำให้เราสามารถขายพันธบัตรให้กับประชาชนได้นับแสนคน

จากปกติทุกครั้งที่กระทรวงการคลังขายพันธบัตรให้แก่สถาบัน อาจจะมีผู้จองเป็นหลักร้อย หรือหลักพันบ้าง แต่แน่นอนว่าไม่เคยถึงหลักหมื่นและหลักแสน นั่นจึงเป็น นวัตกรรมที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง หลายคนที่ตัดสินใจซื้อพันธบัตรในตอนนั้น เพราะเขาอยากมีส่วนร่วมในการนำเงินออมของเขาไปมีส่วนร่วมกับกองทุนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เขาจะมีความรู้สึกความภาคภูมิใจว่าเงินต่างๆ ที่นำไปสร้างโรงพยาบาลหรือโรงเรียน ส่วนหนึ่งคือเงินของเขา 

ขณะนั้นเรามีระบบที่ออกแบบมาชัดเจนว่าห้ามมีการจองล่วงหน้า ให้สิทธิประชาชนทุกคนเท่ากัน ใครมาก่อนได้ก่อน คนที่จองน้อยก็จะได้ก่อนคนที่จองในวงเงินที่สูงกว่าด้วย พูดง่ายๆ คือการที่จองน้อยอาจจะสะท้อนถึงสถานะทางเศรษฐกิจไม่ได้เยอะ ให้คนจนมีโอกาสก่อนคนรวยที่จะซื้อพันธบัตรนี้ 

รัฐบาลนี้ก็เหมือนใช้ระบบนั้น ไม่ได้มีการขายพันธบัตรนั้นมาหลายสิบปี จนมาถึงวิกฤติครั้งนี้ จึงได้มีการออก พ.ร.ก. อีกครั้ง ชื่อว่าเราไม่ทิ้งกัน ได้มีการออกพันธบัตรด้วยเหตุผลเดียวกัน อย่างไรก็ต้องกู้เงิน แทนที่จะกู้จากสถาบันหรือต่างประเทศก็กู้โดยตรงโดยการขายพันธบัตรให้ประชาชน ที่มีดอกเบี้ยสูง เพื่อให้ประชาชนอย่างน้อยส่วนหนึ่งได้เข้าถึงหรือซื้อได้ทัน จะได้มีรายได้ดอกเบี้ยเป็นอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากด้วย

                       FYI :  รัฐบาลหาเงินจากไหนในยามวิกฤต ?

นอกจากการออกพันธบัตรขายให้กับประชาชนในประเทศแล้ว เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มาจากไหนได้อีกบ้าง ? ....อาจจะมีบางส่วนที่จะไปกู้มาจากการออกพันธบัตรต่างประเทศ และสิ่งที่น่าสนใจคือรัฐบาลไม่ได้ออกไปกู้เงินจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2540 ครั้งสุดท้ายที่รัฐบาลไทยกู้เงินจากต่างประเทศ นั่นคือกู้จาก IMF ต่อมาหลังจากนั้นคือทุกรัฐบาลสามารถที่จะขายพันธบัตรให้กับสถาบันภายในประเทศ ถ้าหากกระทรวงการคลังตัดสินใจที่จะกู้จริง ...นี่จะเป็นครั้งแรกที่เราออกไปกู้จากต่างประเทศ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะเรามีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศก็ค่อนข้างเยอะ การที่เราจะกระจายความเสี่ยง ไม่ได้ไปแย่งแหล่งทุนภายในประเทศมาไว้ที่รัฐบาลทั้งหมด การที่รัฐบาลออกไปกู้จากต่างประเทศในบางส่วนก็เป็นยุทธศาสตร์ที่ผมคิดว่าอาจจะเหมาะสมต่อสถานการณ์

SME กระดูกสันหลังเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องช่วยมากกว่าที่เป็นอยู่

ผมมองว่า รัฐบาลควรจะมีมาตรการเฉพาะสำหรับ SME เพราะ สายป่านของเขาสั้น การเข้าถึงวงเงินสินเชื่อของเขานั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบากอยู่แล้วในสถานการณ์ปกติ ยิ่งเจอในช่วงวิกฤติด้วยแล้ว หลาย ๆ กรณี คือ เขาขาดรายได้ในระยะเวลา 1-2 เดือน ทำให้หลายคนมีประเด็นปัญหาเรื่องความอยู่รอด...

สิ่งที่รัฐบาลได้ทำมีอยู่  2  ในเรื่องของการปล่อย  Soft Loan คือ อย่างแรก กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้ธนาคารออมสินปล่อย Soft Loan ให้ธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยต่อให้ SME และอย่างที่สอง ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยวงเงินให้ธนาคารพาณิชย์เพื่อไปปล่อยต่อให้ SME โดยทั้ง 2 กรณี มีความเหมือนคือ การอาศัยระบบของธนาคารพาณิชย์เป็นตัวปล่อยผ่าน นั่นคือใครจะกู้ต้องไปกู้จากธนาคารพาณิชย์ โดยที่แหล่งเงินของธนาคารพาณิชย์ในกรณีแรกนั่นคือจากธนาคารออมสิน แต่ในกรณีที่สองคือมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเงินเกือบฟรี ที่ใช้คำนี้เพราะว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคิดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.001% และมีข้อตกลงกับธนาคารพาณิชย์ว่าให้ธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยต่อด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ 2 % ถือว่าเป็นวงเงินสินเชื่อที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก 

เราเคยเห็นมาตรการแบบนี้มาก่อนและจะเห็นปัญหาตั้งแต่แรกว่า สุดท้ายแล้วการเข้าถึงวงเงินนี้จะเข้าถึงได้ยากมาก เพราะโดยปกติธนาคารพาณิชย์จะดูแลลูกค้าของตัวเองก่อน ฉะนั้นถ้าใครที่ไม่เคยกู้ยืมมาก่อน จะเข้าไปเป็นลูกค้าใหม่และขอเงินส่วนนี้ โอกาสที่จะได้นั้นน้อยมาก เพราะธนาคารพาณิชย์เข้าจะไม่พิจารณา อย่างที่บอกคือ 1. เขาจะดูแลลูกค้าของเขา 2. ระยะเวลาในการใช้ที่จะพิจารณาสินเชื่อใหม่หรือลูกค้าใหม่ สำหรับเขาคือมันยุ่งยากเกินไป เขาจะไม่ทำในโลกความเป็นจริง 

กรณ์ จาติกวณิช

ฉะนั้นเราพบว่า SME ที่เดือดร้อนจริงจำนวนมาก ตอนแรกดีใจนึกว่าสามารถติดต่อไปที่ธนาคารใดก็ได้ และสามารถกู้ยืมในโครงการของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ แต่ปรากฏว่าไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งผมพยายามกระตุ้นธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังว่าเขาต้องลงไปเจาะรายละเอียดและขอดูรายการจากธนาคารพาณิชย์ว่าสุดท้ายแล้วธนาคารพาณิชย์ปล่อยวงเงินนี้ให้กับใครบ้าง เป็นจำนวนเท่าไร เพื่อที่จะดูว่าผู้ที่เดือดร้อนจริงเป็นผู้ที่ได้กู้ยืมหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วเงินนี้ก็ไปอยู่กับคนที่มีสายป่านอยู่แล้ว อาจจะไปสลับกับเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่แพงกว่ากับเงินกู้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า แต่ไม่ได้เป็นการช่วยผู้ที่เดือดร้อนจริง ซึ่งก็คงต้องรอดู 

เพราะข้อเท็จจริงวงเงิน Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 5 แสนล้านบาท มีรายงานว่ามีคนขอเข้ามาตอนนี้ไม่ถึง 10% ได้รับการพิจารณาแล้วน่าจะเป็นสัดส่วนที่น้อยลงไปอีก พูดง่ายๆ คือเงินยังไม่ออก แลยังเป็นปัญหาอยู่ว่าสุดท้ายแล้ว SME จะเข้าถึงวงเงินส่วนนี้ได้หรือไม่ ผมจึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาวิธีอื่นที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ อย่างเช่น ร้านอาหารหลายๆ ร้านและหลายห้างในกรุงเทพและหัวเมืองที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ต้องยอมรับว่าเขาพึ่งพาการค้าขายจากนักท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้เขามีความกังวลสูงมาก ในช่วงที่ร้านปิด อย่างน้อยเขาได้เว้นเรื่องค่าเช่า บางสถานที่เจ้าของก็ผ่อนปรนให้ พนักงานได้รับการชดเชยตามมาตรการของรัฐบาล 

ไม่ว่าจะเป็นผ่านกระทรวงการคลังหรือผ่านประกันสังคมก็ตาม เพราะรัฐบาลถือว่ารัฐบาลเป็นคนสั่งให้ปิด ฉะนั้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบในระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงของการเปิดห้าง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็กลับมาใหม่ เพียงแต่ว่านักท่องเที่ยวยังไม่มา หรือเป็นคนไทยก็ยังไม่มีกำลังซื้อ 

ดังนั้นตอนนี้ผมอยากจะแนะนำคือรัฐบาลควรจะต้องเข้ามาช่วยเหลือตัว pain point นั่นคือ เงินเดือนของลูกค้า รัฐบาลสามารถจ่ายให้บางส่วนได้หรือไม่ เหมือนที่หลายๆ ประเทศเขาทำกัน อย่างที่อังกฤษที่เขารับผิดชอบ 75% ของเงินเดือนโดยรัฐบาล ส่วนของค่าเช่า รัฐบาลสามารถมีมาตรการที่จะลดภาระค่าเช่าในช่วงนี้ได้หรือไม่ และชดเชยให้กับเจ้าของอาคารอีกมาตรการหนึ่ง อย่างที่สิงคโปร์ก็มีการออกกฎหมายในช่วง 6 เดือนนี้คือในเชิงพาณิชย์งดจ่ายค่าเช่าได้ เรื่องดอกเบี้ย เราก็เสนอไปว่ารัฐบาลช่วยรับภาระบางส่วนให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กได้หรือไม่ 

ผมเคยกำหนดไว้ว่า 30,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการที่เป็น SME หรือร้านค้าขนาดเล็ก 3 เดือน กำหนดเพดานไว้ที่ 30,000 บาท ซึ่งเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการได้จริง ดีกว่ารัฐบาลไปเสนอ Soft Loan ให้เขาด้วยซ้ำ เพราะถ้าถามผู้ประกอบการ เขาอยากให้รัฐบาลมาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของเขาดีกว่าไปเสนอช่องทางให้เขาต้องเป็นหนี้เพิ่ม สุดท้าย Soft Loan มีอายุอีก 2 ปี หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยก็กลับเข้าสู่สภาวะปกติ กลายเป็นภาระให้เขาอยู่ดี แน่นอนว่าถ้าเลือกได้เราไม่อยากเป็นหนี้อยู่แล้ว ฉะนั้นรัฐบาลควรจะมีมาตรการที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้เขามากกว่า 

Startup รัฐบาลต้องหนุนการสร้างโอกาส ปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

จริง ๆ ประเทศไทยเคยมีการพูดเรื่องกองทุนหลักหมื่นล้านบาท ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ แต่ปัจจุบันยังไม่เห็น Startup รายใดได้จับต้องเงินส่วนดังกล่าว ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลช่วยได้ คือ กองทุนที่จะมาช่วยสนับสนุนเงินทุนให้กับ Startup ที่มีโอกาสหรือมีอนาคต เบื้องต้นในระยะสั้น วิธีที่ควรจะทำตั้งแต่แรก คือ ทำในเรื่องของการสนับสนุนร่วมกันกับกองทุนเอกชน เป็นการ co-invest เพื่อรัฐบาลจะได้ไม่ต้องมีภาระกำหนดเองว่า Startup รายใดที่มีแนวโน้มหรือมีโอกาสที่ดี จะถือว่าพ่วงเข้าไปในส่วนของเงินทุนสนับสนุน ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่ยังดีที่สุดในการช่วย Startup 

ส่วนระยะยาว ผมคิดว่าบทเรียนหนึ่งที่สำคัญของช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 คือ รัฐบาลและหน่วยราชการมีความจำเป็นที่ต้องปรับตัวให้เข้าสู่ยุคดิจิทัล สาเหตุที่เรามีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นทะเบียนเงินเยียวยาหรือระบบการเรียนการสอนออนไลน์ หลายๆ ปัญหาเกิดขึ้นจากความไม่พร้อมของหน่วยราชการทางด้านเทคโนโลยี....

ฉะนั้นหลัง COVID-19 ผมคิดว่าภารกิจที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลคือ ทำอย่างไรให้ตัวเองปรับตัวเข้าสู่การเป็น E-Government ที่แท้จริง เราจะได้ไม่มีปัญหานี้อีกในอนาคต หรือถ้าเรามองดูประสบการณ์ของประเทศที่เราเห็นและน่าชื่นชม ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีหรือไต้หวัน ทำไมไต้หวันจึงไม่มีปัญหาในเรื่องหน้ากากอนามัย เป็นเพราะเขามีระบบ IOT ระบบเทคโนโลยีในการขึ้นทะเบียนประชากรของเขาอย่างชัดเจน ทำให้เขาสามารถติดตามหน้ากากอนามัยได้ทุกชิ้น สื่อสารกับประชาชนได้ว่าโควต้าของประชาชนแต่ละคนมีเท่าไร มารับหน้ากากได้ที่ไหนและเมื่อไร ประเทศเขาทำทั้งหมดนี้ได้เพราะระดับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีของเขาไปถึงจุดที่เขามีข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเองก็ต้องทำ

อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้กับ Startup ด้วย เพราะเวลารัฐบาลให้บริการไปสู่ประชาชนด้วยเทคโนโลยี รัฐบาลก็ไม่ควรคิดว่าจะต้องทำเอง แต่ถ้ารัฐบาลทำตัวเป็นแพลตฟอร์มเป็น open API และให้ Startup เอกชนเป็นผู้มาให้บริการผ่านหน้าจอของรัฐบาล นี่ก็จะเป็นโอกาสที่ทำให้ Startup ไทยสามารถ Re-scale และเข้าถึงประชาชนระดับ mass ได้ในด้านต่างๆ

อย่างการเรียนออนไลน์ แทนที่กระทรวงศึกษาทำเอง แต่ถ้าเปิดพื้นที่ให้แอปพลิเคชั่นด้านการศึกษา ซึ่งมี Startup หลายรายที่เขาพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเขาทำได้ ถ้ากระทรวงศึกษาเปิดพื้นที่ให้เขาเป็นผู้ให้บริการแทน ผมคิดว่าประเด็นปัญหาต่างๆ น่าที่จะน้อยกว่าที่มี 

หลัง COVID -19 เศรษฐกิจในไทยซบยาว ตราบใดที่ยังพึ่งพาต่างชาติเป็นหลัก 

วิกฤต COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมติดลบแน่นอน เพราะเราเป็นประเทศที่พึ่งพาการลงทุน การค้าขายระหว่างประเทศสูงที่สุดประเทศหนึ่ง ก่อนหน้านี้ธุรกิจเดียวที่สามารถเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศและเป็นตัวดันเศรษฐกิจของเราโดยรวมคือ การท่องเที่ยว และน่าจะเป็นธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าที่สุด ยิ่งในปีนี้เลิกคิดไปได้เลย นักท่องเที่ยวจากยุโรปหรืออเมริกาไม่มีแน่นอน อาจจะมีจากเอเชียด้วยกันมาเที่ยวบ้านเราบ้าง แต่ก็ค่อย ๆ ฟื้นตัว 

ถ้าเจาะเข้าไปแต่ละธุรกิจ ก็จะเห็นจากพฤติกรรมผู้บริโภคจากที่เริ่มมีการคลายล็อกดาวน์มาบ้างแล้ว คือ ร้านอาหารบางประเภทก็อาจจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า เพราะผู้บริโภคอาจจะเบื่อแล้ว อยากออกไปเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง

แต่ธุรกิจบางประเภทอย่างโรงแรม ผมคิดว่าคงจะอีกนานกว่าจะฟื้นตัว ทั้งนี้เศรษฐกิจโดยรวม ล่าสุดเขามีการประมาณการว่าปีนี้ติดลบ ประมาณ 5% ผมคิดว่าแนมโน้มโอกาสที่จะฟื้นตัวเร็วมากก็คงจะยาก แต่ก็คงจะค่อยๆ ดีขึ้น เพราะประเทศไทยเรามีความได้เปรียบค่อนข้างเยอะหลังจากสถานการณ์นี้ อย่างประเด็นเรื่องสาธารณสุขก็ต้องถือว่าเราเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการรับมือ COVID-19 ซึ่งผมเชื่อว่าหลังจากนี้จะเป็นจุดขายที่สำคัญให้กับเรา 

ถ้าดูในหลายๆ ประเทศ ประเด็นปัญหาตอนนี้อย่างอังกฤษมีผู้เสียชีวิตค่อนข้างมาก ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งเสียชีวิตในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ สะท้อนให้เห็นว่าเขาขาดศักยภาพที่จะรับมือและดูแลผู้สูงอายุในมาตรฐานที่ควร ผมมองว่าในอนาคต ประเทศไทยเราสามารถพัฒนาเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุ เป็นธุรกิจสำคัญของเราได้ และระดับความเชื่อมั่นที่เขามีต่อเรานั้น ส่วนหนึ่งมาจากประวัติการดูแลผู้ป่วย COVID-19 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเห็นตอนนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศเริ่มคิดสโลแกน “Amazing Trust Thailand” โดยเน้นคำว่า Trust เป็นจุดขาย ซึ่งน่าจะขายได้ด้วย 

ส่วนค้าปลีกผมว่าก็ยังจะฟื้นตัวยาก เพราะส่วนใหญ่ก็พึ่งพานักท่องเที่ยว อีกส่วนหนึ่งที่พร้อมจะมีโอกาสเป็น New Normal ที่ชัดเจนที่สุดคือพฤติกรรมการซื้อขายออนไลน์ในตลาด e-commerce ผมคิดว่าในสถานการณ์ช่วงสองเดือนที่ผ่านมาที่ทุกบ้านต้องหันมาพึ่งพาการซื้อขายออนไลน์ไม่มากก็น้อย ทำให้ธุรกิจ retail นั้นเปลี่ยนไปสู่ระบบ e-commerce มากขึ้น 

กรณ์ จาติกวณิช

Disrupt ประเทศไทย ต้องเปลี่ยนตั้งแต่กรอบความคิด ที่ไม่ยึดติดวิธีการเดิม

นอกจากนี้ในด้านการแข่งขันกับต่างประเทศ อย่างคู่แข่งที่น่ากลัว ที่หลายคนมองว่า ประเทศเวียดนามที่มีการจัดการปัญหา COVID-19 ได้ดีเช่นเดียวกันนั้น ผมมองว่าเขามีข้อได้เปรียบตรงที่ โครงสร้างประชากร ด้วยการที่ไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว ดังนั้นทำให้เราขาดแคลนแรงงานที่เป็นคนวัยทำงาน แต่เวียดนามเขามีประชากรมากกว่าเรา และมีสัดส่วนของประชากรที่เป็นคนรุ่นใหม่มากกว่าเราด้วย ฉะนั้นการลงทุนในอุตสาหกรรมในประเภทที่ยังต้องพึ่งพาการใช้แรงงาน ผมคิดว่าอย่างไรก็สู้เขาไม่ได้และไม่ควรพยายามไปสู้เขาทางด้านนั้น 

แต่ในทางกลับกันบางอุตสาหกรรมที่เน้นมาตรฐานการบริการ เวียดนามสู้ไทยไม่ได้แน่นอน ดังนั้นเราเองก็ต้องเลือกสมรภูมิว่าจะแข่งขันกับเขาทางด้านไหนบ้าง ในส่วนที่เราต้องพัฒนาบางเรื่องคือ เรื่องการศึกษา ตอนนี้ระดับมาตรฐานการศึกษาของเวียดนามล้ำหน้าเราไปแล้ว ดังนั้นเราก็ต้องมียุทธศาสตร์ว่าเราจะถือโอกาสนี้ปรับระบบการศึกษาของเราอย่างไร เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีความสำคัญเพราะขณะที่เรามีสัดส่วนคนวัยทำงานน้อยลง คุณภาพคนของเราต้องดีกว่านี้ 

วิกฤตครั้งนี้ก็ถือเป็นโอกาสจะต้องมาดูว่าระบบออนไลน์ที่พยายามใช้และยังเป็นปัญหา จะต้องกลับไปคิดใหม่อย่างไร ซึ่งเท่าที่ผมดู พบว่าหนึ่งในปัญหาคือ ใครที่อยู่ในโลก disruption จะรู้สัจธรรมอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ disruption ไม่ใช่การพยายามทำอะไรก็ตามที่เราเคยทำแบบออฟไลน์มาทำเป็นออนไลน์ แต่มันคือการทำแบบใหม่ขึ้นมา ไม่ติดกรอบวิธีการเดิม นี่คือสาเหตุที่องค์กรขนาดใหญ่เขา disrupt ตัวเองยาก เพราะเขาติดกับดักวิธีการเดิมของเขา 

เช่นเดียวกันที่กระทรวงศึกษาพยายามนำระบบออฟไลน์มาสอนออนไลน์ จึงทำให้ยังไม่ตอบโจทย์ อย่างไรก็ตามเรื่องเหล่านี้เราสามารถเรียนรู้ได้ และต้องปรับตัวเพื่อที่จะรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของเรา 

ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องจริงจังกับ Technology แก้ pain point ยกระดับผู้ประกอบการไทย

ในประเทศไทยภาคเอกชนมีความตื่นตัวในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่ภาครัฐถือเป็น pain point ที่สำคัญ และตรงนี้จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ ผมคิดว่าสิ่งที่อยากให้ทำมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ การปรับรัฐเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้โดยเร็ว ทั้งในมิติการทำงานและการให้บริการประชาชน เราไปศึกษาจากประเทศอื่นๆ เราเห็นอยู่แล้วว่ามาตรฐานในสิ่งที่เป็นไปได้นั้นอยู่ตรงไหน ซึ่งข้อดีของเทคโนโลยีคือมันไมjได้จำกัด เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ transfer กันได้อยู่แล้ว  ดังนั้นที่เราเห็น pain point ของภาครัฐที่เกิดขึ้นมันใหญ่จนทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มโอกาสในการยกระดับมาตรฐานการทำงานของรัฐบาลสูงมาก 

ยกตัวอย่างภาคการเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทย ตรงนี้เราเห็น pain point สูงมากเช่นกัน ตั้งแต่แหล่งทุน ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ฉะนั้นที่สำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้เกษตรกรเข้าถึงตลาดได้และตัดผู้ค้าคนกลางออก เพราะว่าในทุกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมันมีกำไรอยู่ เพียงแต่ว่ากำไรมันอยู่ในมือผู้ค้าตอนปลาย ไม่ได้อยู่ในมือของเกษตรที่เป็นผู้ผลิต ดังนั้นการช่วยให้เขาเข้าถึงตลาด อาจจะดูแล้วทำง่าย แต่มันหมายถึงการพัฒนาคุณภาพสินค้า packaging การทำแบรนด์ทุกอย่างเพื่อที่จะไปสู่จุดนั้น ดังนั้นเทคโนโลยีอะไรก็แล้วแต่ที่เชื่อมระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิตให้เจอกันได้ อาจจะใช้ blockchain, e-commerce platform หรือวิธีใดก็ตาม ตรงนี้สำคัญที่สุดสำหรับการตอบโจทย์ pain point ของเกษตรกร

ในส่วนของ SME ก็ขึ้นอยู่ว่าอยู่ในภาคธุรกิจใด ผมคิดว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือการเข้าถึงตลาด แม้แต่ร้านอาหารในช่วง COVID-19 ก็มีปัญหาค่อนข้างมากในส่วนของการจ่าย GP ในอัตราที่ค่อนข้างสูงให้กับผู้ให้บริการ Delivery ผมเห็นว่าในหลายประเทศ เขาถึงกับต้องออกกฎหมายกำหนดเพดาน GP ที่ 15% จึงทำให้เราเห็น pain point ว่าในส่วนนี้ยังมีช่องว่างที่จะช่วยผู้ประกอบการได้ 

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า Startup  ส่วนใหญ่ที่ครองตลาดมักจะเป็นผู้เล่นที่มาจากต่างประเทศ ดังนั้นตรงนี้อาจจะเป็นแรงจูงในได้มากขึ้นที่จะให้ภาครัฐและเอกชนจะลองจริงจังกับการตั้งคำถามว่าแพลตฟอร์มไทยของเราทำได้หรือไม่ ? ซึ่งอาจจะเป็นคนละรูปแบบหรือรูปแบบเดียวกันแต่มีการรวมตัวกันในรูปแบบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับว่า business model ที่เข้ามีนั้นเขาสามารถที่จะ scale up และสามารถที่จะความยั่งยืนได้อย่างไร ตรงนี้ถือว่าเป็นประเด็นที่ท้าทาย อย่างน้อยก็เป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่ามีคนที่เห็น pain point และพยายามหาคำตอบด้วยคำตอบแบบไทยๆ หรือเป็นของคนไทยที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนไทยได้ 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์: ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย 2025 | Exec Insight EP.77

เจาะลึกทิศทางการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่อุตสาหกรรมยุคใหม่กับ รมต. เอกณัฐ พร้อมพันธุ์...

Responsive image

เตรียมตัวอย่างไรในปี 2025 ? เผยเคล็ดลับการทำ AI Transformation ให้สำเร็จจริง | Exec Insight EP.76

จะเป็นอย่างไร เมื่อ AI ไม่ใช่แค่เทรนด์อีกต่อไป แต่คือเครื่องมือพลิกโฉมธุรกิจ!...

Responsive image

เจาะลึกบทบาท CVC กับการลงทุนใน Startups ยุคใหม่ กับ Nicolas Sauvage หัวเรือใหญ่ TDK Ventures

เจาะลึกบทบาทของ CVC ในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ พร้อมเผยกลยุทธ์การเฟ้นหาและสนับสนุน Startups รวมถึงแบ่งปันวิสัยทัศน์เชิงลึกรวมถึงกลยุทธ์การลงทุนใน Startups ที่น่าจับตามอง โดย Nico...