Metaverse คอนเซ็ปต์ของการพัฒนาโลกใหม่ที่สามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงการช่วยแก้ปัญหาสำหรับผู้สูงอายุ ที่หลังจากนี้ทั่วโลกกำลังจะเข้าสู่ยุค Aging Society เช่นกัน ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงกรณีศึกษาจากการใช้ เทคโนโลยี VR (Virtual Reality) ในการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านความทรงจำ
กรณีศึกษานี้มาจากสถานดูแลผู้สูงอายุในสหรัฐและประเทศอื่นๆ ที่ได้ใช้ประโยชน์จากแว่น VR เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุสามารถสัมผัสประสบการณ์ทั้งภาพและเสียงของสถานที่ที่อยู่ห่างไกล ไปจนถึงหวนคืนสู่ช่วงเวลาในอดีต ถือเป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดในเรื่องของกาลเวลาและสุขภาพที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางในชีวิตจริง
อาจเรียกได้ว่า VR เป็นเทคโนโลยีเพื่อช่วยคนที่สูญเสียความทรงจำให้สามารถดูรูปภาพเก่าๆ ฟังเพลง หรืออยู่กับสิ่งของที่เคยมี เพื่อเป็นอีกหนึ่งวิธีในการกระตุ้นทางด้านอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วย
MyndVR สตาร์ทอัพผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม VR ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ผู้สูงอายุไม่เพียงแค่สนุกกับการใช้ VR เพียงอย่างเดียว แต่ยังพบว่าผู้สูงอายุบางคนมีท่าทีสงบขึ้นและดูตื่นตัวมากขึ้นในภายหลัง โดยให้ผู้ใช้ที่เป็นผู้สูงอายุได้สัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่เที่ยวชมเมืองต่างๆ ทั่วโลก ทั้งยังสามารถย้อนกลับไปในช่วงวัยรุ่น อย่างเช่นกลับไปไนท์คลับช่วงยุค 50s ผ่านแว่น VR
นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม VR ที่ชื่อว่า LookBack ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยี VR ในลักษณะเดียวกัน และมีการใช้งานในหลายพื้นที่ในอังกฤษและเวลส์ ได้ช่วยให้ผู้ใช้ย้อนกลับไปสัมผัสประสบการณ์ชมดอกไม้ไฟจากบรรยากาศบ้านชาวอเมริกันในยุค 50s หรือกลับไปในช่วงพิธีขึ้นครองราชย์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 1953 นอกจากนี้ก็มีสตาร์ทอัพ The Wayback จากลอนดอนที่เน้นการใช้ VR สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมด้วยเช่นเดียวกัน
การใช้เทคโนโลยี VR เพื่อสร้างประสบการณ์สำหรับผู้สูงอายุนับว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอยู่ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการช่วยยกระดับการฟื้นฟูผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมและผู้สูงอายุให้มีทางเลือกมากขึ้นกว่าเดิม
อ้างอิง NBC
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด