AR VR MR XR เทคโนโลยีเสมือน หรือ Reality Technology ที่หลายคนคุ้นหูกันเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผสานโลกความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือน บทความนี้เราจะมาอธิบายกันว่าเทคโนโลยีแต่ละอย่างคืออะไร และมีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นการปูพื้นฐานเบื้องต้นก่อนที่จะเข้าสู่โลก Metaverse กัน
AR หรือ Augmented Reality คือ ประสบการณ์การปฏิสัมพันธ์แบบ 3 มิติ ที่ผสมผสานมุมมองของโลกจริงเข้ากับเทคโนโลยีแบบเรียลไทม์ โดยมีอุปกรณ์เป็นตัวกลาง เช่น แว่น AR หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ที่เมื่อผู้ใช้มองโลกผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ก็จะเห็นภาพกราฟิกจากโลกเสมือนมาปรากฏอยู่ตรงหน้า
อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่มีการเติบโตรวดเร็วกว่าเทคโนโลยีเสมือนจริงตัวอื่น เพราะสามารถใช้ได้กับสมาร์ทโฟนทั่วไป ตัวอย่างเด่นชัดที่สุดของ AR คือเกมยอดฮิตที่ให้ทุกคนมาไล่จับโปเกมอนตามสถานที่ต่างๆ อย่าง Pokémon Go ไปจนถึงวงการโฆษณาที่ให้ลูกค้าโต้ตอบกับป้ายผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้
นอกจากนี้ยังมีบริษัทผลิตแอปพลิเคชันรองรับ AR อย่าง Amazon ที่นำเสนอ Amazon Augmented Reality โดยให้สแกน QR Code เพื่อเล่นเกมจากกล่องสินค้า ไปจนถึงแอปที่ให้ลูกค้าทดลองนำภาพเสมือนของเฟอร์นิเจอร์วางในบ้านประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อจริง เช่นเดียวกับแอป IKEA Place ของ IKEA รวมถึงฟิลเตอร์ที่หลายคนใช้กันในแอปพลิเคชันอย่าง Snapchat, Instagram, TikTok ไปจนถึงการนำ AR มาใช้กับผลิตภัณฑ์ โดยมีตัวอย่างโรงเบียร์ในอเมริกาที่ให้ลูกค้าใช้แอปดูข้อมูลเพิ่มเติมเพียงแสกนที่ขวด ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีเสมือนจะชวนให้เกิดความสับสนอยู่บ้างแต่สำหรับ VR นั้นแตกต่างจาก AR ตรงที่ VR จะพาผู้ใช้เข้าไปสู่โลกเสมือนด้วยการจำลองสภาพแวดล้อมให้สามารถมองผ่าน VR Headset รวมถึงสามารถเคลื่อนที่ไปมา และโต้ตอบได้อย่างเต็มรูปแบบโดยไม่มีภาพของโลกจริงเข้ามาแทรก ในขณะที่ AR ยังมีส่วนผสมของพื้นที่บนโลกจริง
หลายบริษัทใหญ่ก็ได้ผลิตอุปกรณ์สำหรับ VR ไม่ว่าจะเป็น Oculus Quest จาก Meta หรือ PlayStation VR จาก Sony เป็นต้น โดยเมื่อผู้ใช้สวมแว่น VR แล้วก็จะเหมือนหลุดเข้าไปอยู่โลกเสมือนอย่างเต็มตัวด้วยมุมมองแบบ 360 องศา
สำหรับ MR หรือ Mixed Reality นั้นเป็นเทคโนโลยีที่ผสมผสานความเป็นจริงทางกายภาพกับโลกดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่ง Microsoft ได้อธิบายถึง MR ว่าสามารถใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์สองประเภทที่แตกต่างกัน ได้แก่ Holographic devices ที่สร้างวัตถุดิจิทัลขึ้นมาและนำมาไว้ในโลกจริง ซึ่งจะทำให้ดูเหมือนกับว่าวัตถุนั้นมีอยู่จริง และอีกประเภทคือ Immersive devices เป็นการปกปิดองค์ประกอบที่อยู่บนโลกทางกายภาพพร้อมแทนที่ด้วยการสร้างสรรค์ทางดิจิทัลซึ่งทั้งสองตัวนั้นใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ Mixed Reality ถือเป็นอีกระดับของเทคโนโลยี AR ก็ว่าได้ โดยใน MR โลกทางกายภาพและโลกเสมือนจะสามารถโต้ตอบกันได้ และผู้ใช้ก็สามารถมีส่วนร่วมในโลกทั้งสองนี้ ลองนึกถึงภาพโฮโลแกรมที่ฉายขึ้นมาแล้วเราสามารถใช้มือเลื่อน หรือกดเลือกได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้สามารถมีปฏิสัมพันธ์ โต้ตอบกับสิ่งของจากโลกเสมือนได้ในหลายรูปแบบ หนึ่งในผลิตภัณฑ์สำหรับ MR คือแว่น HoloLens จาก Microsoft
Extended Reality หรือ XR เป็นการให้ความหมายอย่างกว้างของการรวมเทคโนโลยี AR, VR และ MR เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งน่าสนใจว่าหากเทคโนโลยีเสมือนเหล่านี้มารวมกัน จะทำให้เกิดประสบการณ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้าด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถเกิดการโต้ตอบ และมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น และด้วยการใช้งานร่วมกับ 5G จะยิ่งยกระดับให้มีคอนเทนต์เสมือนจริงคุณภาพสูงแบบ Real-Time และหากเข้าถึงง่ายได้ด้วยมือถือก็จะช่วยสร้างการรับรู้ของแบรนด์ได้มากขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าตลาด XR จะมีมูลค่าถึง 4.63 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2026 และด้วยการเข้ามาของโควิดก็ยิ่งทำให้คนหันมาให้ความสนใจกับการสร้างประสบการณ์เสมือนจริง นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่ากว่า 80% ของผู้บริหารปัจจุบันมองว่า XR มีส่วนสำคัญในการเชื่อมระยะห่างระหว่างพนักงานที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดให้เข้ามาใกล้กันมากขึ้น
สำหรับความต่างของเทคโนโลยีเสมือนแต่ละตัวโดยสรุปคือเป็นการทำงานเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรากฏบนโลกทางกายภาพ เป็นอีกก้าวที่คนจะสามารถมีปฏิสัมพันธ์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างหลากหลาย หากสรุปอย่างง่ายให้เห็นภาพคือ AR จะเป็นการดึงกราฟิกมาไว้บนโลกจริง แต่ VR คือการเข้าไปในโลกดิจิทัลแบบเต็มตัวผ่านแว่น VR ส่วน MR คือขั้นกว่าของ AR ที่ผู้ใช้สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุดิจิทัลได้ราวกับเป็นวัตถุที่มีอยู่จริง และ XR เป็นการรวมความสามารถของเทคโนโลยีทั้งหมดเข้ามาไว้ด้วยกันเพื่อยกระดับการใช้งานเทคโนโลยีไปอีกขั้น
สิ่งสำคัญที่สุดคือธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ ตั้งแต่เพิ่มปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า สร้างสภาพแวดล้อมเสมือนสำหรับการทำงาน ที่ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของโลกก็สามารถให้ประสบการณ์ราวกับทำงานในออฟฟิศเดียวกัน หรือแม้แต่เพิ่มประสบการณ์สำหรับการจัดอีเวนต์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจในยุคที่ทั้งโลกต้องเผชิญกับโรคระบาด ขณะเดียวกันอีกหลายอุตสาหกรรมก็มีทางเลือกเพิ่มขึ้นจากเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานจริงด้วยการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงเพื่อจัดการกับความท้าทายในสายงานนั้นๆ
อ้างอิง The Franklin Institute (1), (2), Business Insider, Marxent, XR Today, Forbes
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด