อินเดีย-อาเซียนเนื้อหอม ผู้นำธุรกิจทั่วโลกฝากความหวังเป็นห่วงโซ่อุปทานในอนาคต หลังความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจจีนและสหรัฐย่ำแย่ลง
การสำรวจล่าสุดของ PwC ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานโลก โดยอินเดียและประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นสองหมุดหมายสำคัญ ในฐานะทางเลือกใหม่และที่มั่นสำคัญในอนาคต เนื่องจากผู้นำธุรกิจต้องการปรับสมดุลครั้งใหญ่ในห่วงโซ่อุปทาน
ปัจจุบันผู้นำห่วงโซ่อุปทานโลก ได้แก่ สหรัฐฯ จีน เยอรมัน อินเดีย ญี่ปุ่น และ อาเซียน ตามลำดับ และจากการสำรวจความคิดเห็นโดยบริษัทจัดการสินทรัพย์ Eastspring Investments ชี้ว่าในอีกสิบปีข้างหน้า อินเดียจะมีบทบาทและความสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก และขยับขึ้นเป็นอันดับที่สามแซงหน้าเยอรมัน และอาเซียนจะแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นอันดับห้า
ถึงจะให้ความสำคัญกับอินเดียและอาเซียนมากขึ้น แต่ธุรกิจยืนยันจะไม่ทิ้งจีนและสหรัฐ แม้จะมีการหารืออย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงและการกระจายตัวออกจากห่วงโซ่อุปทานจีน เนื่องจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอและความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา
ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจได้มีส่วนผลักดันให้บริษัทหลายแห่งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาตลาดเดียวมากเกินไป อย่างไรก็ตาม การสำรวจผู้นำธุรกิจทั่วโลกชี้ให้เห็นว่าจีนจะยังคงมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลกต่อไป บริษัทต่างๆ จะไม่ลดลำดับความสำคัญหรือเพิ่มการมุ่งเน้นไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้
อินเดียและอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีประชากรจำนวนมาก โดยอินเดียมีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน ในขณะที่อาเซียนมีประชากรมากกว่า 650 ล้านคน ด้วยเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต จึงสามารถสร้างโอกาสในการสร้างกำไรให้กับบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนและดำเนินธุรกิจในภูมิภาคได้
โดยอาเซียนจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการปรับสมดุลห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่อินเดียจะได้รับประโยชน์จากภาคการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ เภสัชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์
การศึกษายังเผยให้เห็นอีกว่า ผู้บริหารกว่า 47% เชื่อว่าการเพิ่มความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของธุรกิจ โดย 75% เชื่อว่าการปรับสมดุลห่วงโซ่อุปทานใหม่จะช่วยลดต้นทุนลง มากกว่าความเป็นไปได้ที่จะมีกำไรหากเสี่ยงไม่ปรับสมดุล
นอกจากนี้การที่ไม่ปรับสมดุลยังอาจทำให้กำไรกว่า 19% ถึง 24% ตกอยู่ในความเสี่ยงในอีกสิบปีข้างหน้าซึ่งจะแตกต่างกันไปตามภาคธุรกิจ และ 29% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าการปรับสมดุลใหม่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลง
"ผู้นำในแต่ละธุรกิจต่างให้ความสำคัญอย่างมากถึงความจำเป็นในการปรับสมดุล Supply Chain ของตน และทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นต่อแรงกดดันจากภายนอกได้มากขึ้น และสร้างโอกาสในการเติบโตที่สำคัญสำหรับตลาดหลักๆ เพื่อดึงดูดการลงทุน และเพิ่มบทบาทใน Value Chain ระดับโลกได้” Sidharta Sircar พันธมิตรของ PwC Singapore ผู้เชี่ยวชาญด้านการเติบโตในระดับสากลกล่าว
อ้างอิง: nikkei
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด