วาฬหัวทุย หรือ วาฬสเปิร์ม นอกจากจะมีลักษณะพิเศษในเรื่องของสมองที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ วิธีการสื่อสารระหว่างกันเองโดยใช้ ‘เสียงคลิก’ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจกันอย่างมาก จนเกิดการร่วมมือกันระหว่างโครงการ Project CETI และนักวิจัยห้องปฏิบัติการวิทยาการคอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT CSAIL)
ล่าสุดทีมวิจัยคืบหน้าไปอีกก้าว หลังมีเก็บการใช้ Machine Learning เพื่อถอดรหัสเสียง ซึ่งก็พบว่า ‘โคดา’ หรือเสียงคลิกสั้น ๆ ที่วาฬเหล่านี้ใช้สื่อสาร มีโครงสร้างที่แตกต่างกันอย่างมากขึ้นอยู่กับบริบทของบทสนทนา ไม่ใช่เสียงสุ่ม ๆ หรือเสียงง่าย ๆ แต่มีสิ่งที่คล้ายกับ ‘พยัญชนะภาษาวาฬหัวทุย’
นักวิจัยพบว่าในเสียงคลิกมีจังหวะ และความเร็ว วาฬเหล่านี้จะเปลี่ยนองค์ประกอบของเสียงคลิกอย่างเป็นระบบขึ้นอยู่กับบริบทที่สนทนา สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ โครงสร้างพื้นฐานของการทำเสียงคลิก สามารถนำมาผสมสานกันได้อย่างหลากหลาย ทำให้วาฬหัวทุยสามารถสร้างคลังเสียงได้มหาศาลราวกับภาษามนุษย์
“ผลการวิจัยของเราท้าทายความเชื่อดั้งเดิมของนักภาษาศาสตร์หลายคนที่ว่า การสื่อสารที่ซับซ้อนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมนุษย์ นี่เป็นก้าวแรกสู่การแสดงให้เห็นว่า สัตว์ชนิดอื่น ๆ มีระดับความซับซ้อนในการสื่อสารที่ยังไม่ถูกค้นพบ เป้าหมายต่อไปของเราคือ การถอดรหัสความหมายเบื้องหลังการสื่อสารเหล่านี้ และสำรวจความสัมพันธ์ในระดับสังคม” Daniela Rus ผู้อำนวยการจาก MIT CSAIL กล่าว
แม้ว่าตอนนี้นักวิจัยจะยังไม่รู้ว่าวาฬหัวทุยคุยอะไรกัน หรือยังไม่มีเครื่องมือที่ทำให้เราคุยกับวาฬได้ แต่จากความคืบหน้าครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า Machine Learning และ AI ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว กำลังจะช่วยปลดล็อกปริศนาหลายอย่างที่มนุษย์ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งจะนำไปสู่ประโยชน์อีกหลายอย่างสำหรับธรรมชาติ
อ้างอิง : MIT
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด