Apple ทุ่มลงทุน 336 ล้านบาท หวังปลดล็อคแบน iPhone 16 ในอินโดฯ | Techsauce

Apple ทุ่มลงทุน 336 ล้านบาท หวังปลดล็อคแบน iPhone 16 ในอินโดฯ

iPhone 16 ในอินโดจะยังได้ไปต่อไหม?  เมื่อ Apple เสนอเงินลงทุนกว่า 336 ล้านบาทในอินโดนีเซีย หวังปลดล็อคการแบน iPhone รุ่นล่าสุด หลัง Apple ยังไม่บรรลุเป้าหมายการลงทุนในประเทศ

Apple Inc. ได้เสนอแผนลงทุนกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอินโดนีเซีย หรือราว 336 ล้านบาท เพื่อยกระดับการผลิตในประเทศ หวังยกเลิกการแบน iPhone รวมถึงสินค้าอื่นๆ ที่เปิดตัวไปล่าสุด โดยเหตุผลของการสั่งแบนในครั้งนี้เป็นเพราะอินโดฯ ต้องการบังคับให้ Apple ปฏิบัติตามสัญญาการลงทุน ที่ระบุว่าจะลงทุน 1.48 ล้านล้านรูเปียห์ หรือราว 2.9 พันล้านบาท ในโครงสร้างพื้นฐานและการใช้ส่วนประกอบภายในประเทศ แต่ Apple ยังทำได้ไม่ครบตามสัญญา 

ประเทศอินโดนีเซียมีระบบที่เรียกว่า TKDN หรือใบรับรองที่จำเป็นหากต้องการนำสินค้าเข้ามาขาย โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่ขายในประเทศต้องใช้ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบในประเทศ 40% ซึ่งในตอนรัฐบาลอินโดฯ ยังไม่สามารถออกใบรับรองให้ Apple ได้

โดยข้อเสนอนี้ Apple ลงทุนในโรงงานในเมืองบันดุง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจาการ์ตา ซึ่งเป็นความร่วมมือกับซัพพลายเออร์ในเครือของ Apple โรงงานแห่งนี้จะผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ สำหรับผลิตภัณฑ์ของ Apple มีจุดประสงค์เพื่อตอบสนองข้อกำหนดที่ให้สินค้าต้องมีส่วนประกอบในประเทศอย่างน้อย 40% 

โดย Apple ได้ยื่นข้อเสนอนี้ต่อกระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย หลังการแบนการจำหน่าย iPhone 16 หนึ่งเดือนก่อน กระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่ากำลังพิจารณาข้อเสนอนี้อยู่ ซึ่งยังไม่ใช่ข้อเสนอสุดท้ายหรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ และคาดว่าจะตัดสินใจได้ในเร็วๆ นี้ 

ผลักดันการลงทุนในประเทศด้วยนโยบายแบบบังคับ

การที่อินโดนีเซียแบน iPhone 16 สะท้อนถึงทิศทางของ Prabowo Subianto ประธานาธิบดีคนใหม่ ที่ต้องการให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนและเพิ่มการผลิตภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าและส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมท้องถิ่น นอกจาก Apple แล้ว ยังมี Google Pixel ของ Alphabet Inc. ที่ถูกห้ามจำหน่ายในอินโดนีเซียด้วยเหตุผลเดียวกัน

นโยบายนี้สืบเนื่องมาจากแนวทางของอดีตประธานาธิบดี Joko Widodo ซึ่งกดดันให้บริษัทต่างชาติมีบทบาทและสร้างการจ้างงานในประเทศมากขึ้น กลยุทธ์นี้ถูกใช้ในอินโดนีเซียเมื่อปีก่อนหน้ากับบริษัท ByteDance จากจีน ซึ่งเป็นเจ้าของ TikTok โดยบังคับให้ลงทุนร่วมกับ Tokopedia อีคอมเมิร์ซของ GoTo Group สัญชาติอินโดนีเซีย สร้างการลงทุนมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมร่วมในประเทศและสนับสนุนการจ้างงาน 

Apple และโอกาสขยายตลาดในอินโดนีเซีย

ปัจจุบัน Apple ไม่มีโรงงานผลิตของตนเองในอินโดนีเซีย และดำเนินการผ่านซัพพลายเออร์ในท้องถิ่น การลงทุนเกือบ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 336 ล้านบาทที่เสนอในครั้งนี้สำหรับ Apple การลงทุนครั้งนี้อาจจะมีมูลค่าไม่สูงมาก เพื่อแลกกับการเข้าถึงตลาดที่มีประชากรกว่า 278 ล้านคน ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งมีอายุต่ำกว่า 44 ปี และมีความสนใจในเทคโนโลยีสูง

อย่างไรก็ตาม นโยบายกีดกันทางการค้าแบบนี้อาจเป็นดาบสองคม แม้จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศในระยะสั้น แต่ก็อาจทำให้บริษัทต่างชาติลังเลที่จะลงทุนในระยะยาว ซึ่งสวนทางกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลอินโดนีเซียยังได้จำกัดการนำเข้าสินค้าอีกหลายพันรายการตั้งแต่ต้นปี 2023 สร้างความกังวลให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงบริษัทที่ผลิตสินค้าในอินโดนีเซียอยู่แล้วอย่าง LG Electronics

ความพยายามของรัฐบาลอินโดนีเซียในการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการผลิต ดูเหมือนจะยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เห็นได้จากสัดส่วนของภาคการผลิตใน GDP ที่ลดลงจาก 21.1% ในปี 2014 เหลือเพียง 18.7% ในปี 2023 อนาคตของ iPhone 16 และสินค้าอื่นๆ ของ Apple ในอินโดนีเซียจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป

อ้างอิง: bloomberg, 9to5mac

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Bluebik กางแผนธุรกิจปี 2568 ปักธงผู้นำ AI Transformation ในไทย ตั้งเป้าโต 20% ในปีหน้า

บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK ที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันครบวงจร ประกาศปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่โดยใช้ AI เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ผ่าน...

Responsive image

NIA จับมือ Business Finland ต่ออายุ MOU พัฒนานวัตกรรม & สตาร์ทอัพ ไทย-ฟินแลนด์อีก 5 ปี

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ Business Finland ได้ต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมอีก 5 ปี...

Responsive image

Meta ทุ่ม 3.45 แสนล้านสร้างสายเคเบิลใต้ทะเล ที่มีระยะทางกว่า 40,000 กิโลเมตร

Meta กำลังวางแผนสร้างสายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้ทะเลขนาดใหญ่ที่มีระยะทางกว่า 40,000 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.45 แสนล้านบาท...