เวทีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เป็นอันจบลงเป็นที่เรียบร้อย และแน่นอนว่าผู้ที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานคร คนที่ 17 ในรอบ 8 ปี คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หลังปิดหีบเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา มีคะแนนนำลิ่ว ทิ้งห่างคู่แข่งหลายเท่าตัว ส่งผลให้ชนะการเลือกตั้งทุกเขตด้วยคะแนนทุบสถิติมากถึง 1,375,978 คะแนน
และเมื่อการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครเสร็จสิ้น บทสรุปคือกรุงเทพมหานคร ได้ “ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ในนามอิสระไม่สังกัดพรรคการเมือง มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เมื่อ ดร.ชัชชาติ ได้เปลี่ยน 200+ นโยบายเป็นแผนงานทำได้จริงทันที พร้อมกับนำเอาเทคโนโลยีมาจับกับปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ การแก้ไขปัญหาด้านการวางผังเมืองเพื่อวางแผนในการซ่อมบำรุงโครงสร้างขั้นพื้นฐาน รวมถึงการติดตามมลภาวะและสภาพอากาศ การใช้เทคโนโลยี Cloud หรือ Open Data Source Platform เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการศึกษาในกทมฯ และการส่งเสริมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนกทม.เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นในชีวิตประจำวันง่าย ๆ
ดังนั้นในครั้งนี้ Techsauce จะพาไป “เจาะลึก 3 นโยบายด้านเทคโนโลยี ของ ดร.ชัชชาติ" ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หมายเลข 8 ที่วันนี้ได้กลายมาเป็นผู้ว่าฯกทม. ว่านโยบายที่กล่าวไปข้างต้น “คนกรุงเทพฯ จะได้อะไร?”
โดยนโยบายพัฒนาแบบจำลองเสมือนกรุงเทพฯ (Digital Twin) เพื่อใช้วางแผนและแก้ปัญหาเมือง ในที่นี้ ได้ลงลึกถึง
1. คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ที่ดีขึ้นจากการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เช่น การไหลเวียนของฝุ่น ผลกระทบจากการซ่อมแซมถนน (โดยใช้ข้อมูลจากแบบจำลองเสมือนกรุงเทพฯ ที่รวบรวมข้อมูลสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งหมดเข้าด้วยกัน)
2. มีระบบฐานข้อมูลที่ช่วยในการบริหารจัดการเมือง
3. วางแผนพัฒนากรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
เพราะปัจจุบันข้อมูลพื้นฐานของ กทม. เช่น ข้อมูลสาธารณูปโภค ประปา ไฟฟ้า ถูกรวบรวมและดูแลโดยหน่วยงานรัฐต่างๆ ทั้งในและนอกกรุงเทพฯ โดยในส่วนของ กทม. ได้มีการเริ่มเก็บภาพถ่ายทางอากาศ และข้อมูลสามมิติของพื้นที่โดยเทคโนโลยี LiDAR ไปบ้างแล้วในบางพื้นที่ อย่างไรก็ดีข้อมูลเหล่านี้ยังขาดการรวบรวมและเชื่อมโยงกันทำให้ กทม.มีข้อจำกัดในการนำข้อมูลไปวิเคราะห์และทำแบบจำลองต่อ
ดังนั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเมือง กทม.จึงจะต้องทำการรวบรวมข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลที่มีในปัจจุบัน เช่น ภาพถ่ายทางอากาศ, ข้อมูล LiDAR และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน ไฟฟ้า ประปา และฐานข้อมูลด้าน GEO-spatial (ข้อมูลที่ระบุตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งสัมพันธ์กับข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมือง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม โครงสร้างพื้นฐาน) เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการจำลองสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใน กทม.ได้ เช่น
1.จำลองตำแหน่งที่ตั้งอาคารที่อยู่อาศัยของประชาชนมาประกอบเป็นปัจจัยในการตัดสินใจก่อนอนุมัติการซ่อมบำรุงถนน
2. จำลองตำแหน่งสำหรับการขุดเจาะไม่ให้กระทบกับทางเข้า-ออกตัวอาคาร เพื่อลดผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชนให้มากที่สุด
นอกจากนี้การใช้ฐานข้อมูลที่ช่วยให้เกิดการบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการเชื่อมต่อแหล่งข้อมูลเพื่อให้เกิดฐานข้อมูลด้านนี้กับกรุงเทพมหานคร
คนกรุงเทพฯ จะสามารถเข้าถึงข้อมูลของโรงเรียนที่สังกัดในกทม. อย่างเปิดเผยและมีส่วนร่วมได้
เนื่องจากข้อมูลของโรงเรียนสังกัดในกทม.บางโรงเรียน ขาดกระบวนการการเปิดเผยสู่สาธารณะทำให้เข้าถึงข้อมูลได้ยาก ส่งผลให้กระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาโรงเรียนไม่สามารถทำได้เต็มที่
ดังนั้น กทม.จะเปิดเผยข้อมูลของโรงเรียนในมิติต่างๆ เช่น การใช้งบประมาณ แผนการดำเนินการ ตัวชี้วัด ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ผลการประเมินคุณภาพโรงเรียน ขึ้นอยู่บน Cloud พร้อมกับการแสดงผลบน Dashboard ที่สามารถเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ (เช่น โรงเรียน ภาคประชาสังคม ผู้ปกครอง เอกชน) ให้เข้ามาช่วยกันคิด แก้ไขปัญหา ออกแบบแนวทางการพัฒนาโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อนักเรียนมากยิ่งขึ้น (อ้างอิงจาก มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED)
เพราะในปัจจุบันองค์ความรู้เกี่ยวกับดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตในมิติต่าง ๆ เช่น
- การรักษาสิทธิและผลประโยชน์จากรัฐ เช่น การลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง การลงทะเบียนโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
- การประกอบธุรกิจและขยายโอกาสทางธุรกิจ เช่น การขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์
ดังนั้นปัญหาเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจและการเข้าถึงเทคโนโลยีเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย และ ประชาชนผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี ในกรุงเทพฯ มีประมาณมากกว่า 1.1 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของประชากรกรุงเทพฯ ทั้งหมด [1]
ดังนั้น กทม.จะพัฒนาเครือข่ายคนรุ่นใหม่ให้เป็นอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางด้านดิจิทัลของประชาชน เช่น
- การช่วยเหลือประชาชน และ ผู้สูงอายุในการลงทะเบียนรักษาสิทธิต่าง ๆ ของรัฐ
- การช่วยพ่อค้าหาบเร่แผงลอยในการเข้าถึงตลาดออนไลน์
- การช่วยแรงงานฝีมือในชุมชนเข้าถึงแพลตฟอร์มหางาน และการเก็บข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ
- การเก็บข้อมูลผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน
- ช่วยเหลือคนในชุมชน (โดยเฉพาะผู้สูงอายุ) ในการใช้บริการ Telemedicine
- การช่วยเหลือคนพิการลงทะเบียนบัตรคนพิการ ให้ลดการตกหล่นของคนพิการที่เข้าไม่ถึง รวมถึงการเข้าถึงสิทธิของคนพิการที่มักจะต้องมีบัตรคนพิการในการยืนยันตัวตน
แล้วคนกรุงเทพฯ จะได้อะไร
- เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับการประกอบธุรกิจของรายย่อยในชุมชน
- เพิ่มตัวเลือกให้กับผู้บริโภค และได้สนับสนุนผู้ค้ารายย่อย
- สร้างงาน สร้างโอกาส สำหรับแรงงานและผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ
ดังนั้นการเจาะลึกทั้ง 3 นโยบายของดร.ชัชชาติมัลติเวิร์ส ด้านเทคโนโลยี ถือเป็นบางส่วนของนโยบายที่คัดสรรกลั่นกรองจากปัญหาจริงของชาวเมืองกรุง ผ่านอาสาสมัครและการเข้าพื้นที่พบกับคนที่อยู่อาศัยทั่วกรุงเทพฯ อยู่บนรากฐานของข้อมูลสถิติที่เป็นวิทยาศาสตร์ คิดสร้างสรรค์ร่วมกับนักวิชาการชั้นแนวหน้าจากหลายสถาบันการศึกษา และพร้อมที่จะลงมือดำเนินการได้ทันทีด้วยฝีมือของผู้บริหารคุณภาพ “เพราะไม่ว่ากรุงเทพฯ จะหน้าตาแบบไหน แต่เมืองนี้ต้องเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด