เศรษฐกิจไทยปี 68 เสี่ยงโตต่ำ นักวิชาการแนะรัฐเร่งรับมือความเปลี่ยนแปลงของโลก

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เผยว่า ไทยกำลังเผชิญแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจจากความตึงเครียดทางการค้าระดับโลกที่ทวีความรุนแรง โดยเฉพาะภายใต้นโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กลับมากระตุ้นความไม่แน่นอนอีกครั้ง ด้วยการประกาศมาตรการเก็บภาษีนำเข้า (Baseline Tariff) ในอัตราร้อยละ 10 และการจัดเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เพิ่มเติมกับประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งในกรณีของไทยถูกเก็บภาษีตอบโต้สูงถึงร้อยละ 37 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อหลายอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และสะท้อนถึงการยกระดับความตึงเครียดจากการเผชิญหน้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ สู่การเป็น ‘สงครามการค้ากับทั้งโลก’ อย่างแท้จริง

รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกกำลังเข้าสู่ภาวะที่เปราะบางและซับซ้อนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะภายใต้แนวนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่แสดงจุดยืนชัดเจนต่อการ “เปิดฉากสงครามการค้าแบบไร้พรมแดน” แบบไม่เลือกประเทศหรือภูมิภาคใด จากที่เคยประกาศนโยบายการเก็บภาษีตอบโต้ รอบแรกที่เก็บจาก แคนาดา เม็กซิโก จีน และผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น เหล็กและอลูมิเนียม รถยนต์ และอาจลุกลามไปถึงอุตสาหกรรมยาและเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกลยุทธ์ขึ้นภาษีนำเข้าทั่วโลกครั้งใหม่ กลายเป็นแรงสั่นสะเทือนเชิงโครงสร้างที่ทั่วโลกต้องจับตา สำหรับประเทศไทย ผลกระทบได้เริ่มชัดเจนมากขึ้น เมื่อมาตรการเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่สหรัฐฯ ประกาศใช้ มีอัตราสูงถึง 36% และปรับเป็น 37%ในเวลาต่อมา  ซึ่งนับเป็นระดับตัวเลขที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การค้า โดยเฉพาะกับสินค้าส่งออกหลักของไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และสินค้าเกษตรสำคัญอย่างข้าว จำเป็นอย่างมากที่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

    “เบื้องหลังท่าทีดังกล่าวของทรัมป์คือเป้าหมายหลักในการกระตุ้นการจ้างงานในอุตสาหกรรมสหรัฐฯ โดยพยายามผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ลดการเกินดุลการค้ากับอเมริกา และหันมานำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแรงกดดันโดยตรงต่อไทยทั้งในด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศ และการจัดสมดุลภายในประเทศที่ยังอิงการส่งออกเป็นหลัก เพื่อรับมือกับความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจและการค้าในระดับโลกนี้ ไทยจำเป็นต้องมีการปรับยุทธศาสตร์เชิงรุกอย่างจริงจังใหม่ในระดับมหภาค โดยมีแนวทางสำคัญ ได้แก่ 1. การเตรียมการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ พร้อมกับเปิดนำเข้าสินค้าที่ประเทศไทยจำเป็นและสหรัฐฯต้องการส่งออก อาทิ สินค้าเกษตรบางประเภทที่มีโควต้า อาวุธ เครื่องดื่ม โดยพยายามให้เกิดความสูญเสียกับภาคการผลิตในประเทศน้อยที่สุด 2. การผลักดันการเบิกจ่ายงบประมาณและใช้นโยบายการคลังที่แม่นยำเพื่อประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการเตรียมงบประมาณเพื่อประคองผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 3. เสริมสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้เข้มแข็งทั้งในด้านการกระตุ้นการลงทุน การกระจายตลาด และการเร่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลลดต้นทุนการผลิตและการส่งออก และ 4. การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภายในอาเซียนและพันธมิตร FTA (เขตการค้าเสรี) เพื่อกระจายสินค้าและเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีโลก”

รศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในแนวทางสำคัญคือการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศใหม่ ๆ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดเดิม โดยเฉพาะสหรัฐฯ พร้อมเร่งเดินหน้าเจรจา FTA กับประเทศพันธมิตรให้มากขึ้น และใช้กรอบความร่วมมือระดับอาเซียน เช่น อาเซียน+3 หรือ +6 รวมถึง RCEP ให้มีประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ในการช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับไทยในเวทีการค้าระดับโลก และป้องกันความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ไม่อาจควบคุมได้ อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องจับตา คือ เมื่อจีนได้รับผลกระทบจากภาษีที่สูงกว่าประเทศอื่นถึง 54% ทำให้จีนเร่งกระจายสินค้าเข้ามายังภูมิภาค รวมถึงไทยในฐานะตลาดเป้าหมายสำคัญ ซึ่งหากไม่มีมาตรการควบคุมที่รัดกุม อาจเกิดภาวะ “สินค้าไหลทะลัก” ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยโดยตรง ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเดินหน้าทำการเจรจาควบคู่ไปกับการคัดกรองการนำเข้าสินค้าอย่างเป็นระบบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอย่างรอบด้าน

“ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งกระจายการส่งออกให้กว้างขวางและหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการค้นหาตลาดใหม่เพื่อรองรับความเสี่ยงจากตลาดเดิมที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของประเทศมหาอำนาจ โดยกระทรวงพาณิชย์ควรเร่งรัดการประสานความร่วมมือกับทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเดินหน้าใช้ข้อตกลงการค้าเดิมและทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าใหม่อย่างมีประสิทธิผลให้ได้เร็วที่สุด เพื่อเปิดประตูการค้าใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของเศรษฐกิจโลก อีกหนึ่งหัวใจสำคัญคือการทำให้ข้อตกลงการค้าเสรีเดิมหรือกับคู่ค้าใหม่ถูกใช้อย่างมีประสิทธิผล การลดความซ้ำซ้อนของการตรวจสอบของสินค้าในวงกว้างผ่านการทำความตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement หรือ MRA) การลดความสลับซับซ้อนของกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า และการเดินหน้าข้อตกลงที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัล ก็จะช่วยให้กระบวนการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA เป็นไปอย่างรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น”

รศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าวต่ออีกว่า ในด้านการลงทุนนั้น ถึงแม้เม็ดเงินทุนจากต่างชาติคงมีแนวโน้มชะลอตัวจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และการเมือง ประเทศไทยควรเตรียมตัวต่อเนื่องให้พร้อมเพื่อเป็น “จุดหมายปลายทาง” สำหรับนักลงทุนที่ต้องการความปลอดภัยและเสถียรภาพทางธุรกิจ พร้อมต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนผ่านการดำเนินนโยบายที่มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลงไปมาในการพร้อมที่จะเดินหน้าพัฒนา 3 เสาหลักไปพร้อม ๆ กัน นั่นคือ เกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และภาคบริการ พร้อมกับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์ทั้งการขนส่ง พลังงาน และดิจิทัล อันเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนใช้พิจารณาในการเลือกฐานผลิต ซึ่งในช่วงความไม่แน่นอนเช่นนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานน่าจะมีส่วนช่วยในการลดแรงสะเทือนจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวได้ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ การผลิตเหล็กหรืออะลูมิเนียม ขณะเดียวกัน ประเทศไทยควรเร่งใช้แนวทาง “One Stop Service” ที่ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้จัดตั้งขึ้นให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนประหยัดเวลาและต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งผลักดันผู้ประกอบการไทยให้เชื่อมโยงตัวเองเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของบรรษัทข้ามชาติ (MNEs) เพื่อเตรียมพร้อมทำให้ประเทศกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการผลิตในระดับภูมิภาค 

สุดท้าย ในภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากแรงสั่นสะเทือนของสงครามการค้าระดับโลกนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งดำเนินมาตรการเพื่อสร้างแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไทยให้มี "สายป่าน" ที่ยาวพอในการรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น รัฐบาลควรเตรียมมาตรการด้านการใช้จ่ายอย่างมีเป้าหมาย เช่น การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนเฉพาะด้านในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบและที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศดำเนินการไปแล้ว อย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้จัดตั้งกองทุนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ประเทศไทยควรมีการพิจารณานำแนวทางดังกล่าวมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวและยืนหยัดท่ามกลางแรงปะทะทางเศรษฐกิจโลกที่ไม่อาจคาดการณ์ได้

“อย่างไรก็ตาม แม้ทิศทางและแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงเผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรณีที่ฐานการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ โดยเฉพาะในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา และสินค้าบางกลุ่มอาจต้องชะลอตัว หากไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาด้านการค้าอย่างเป็นรูปธรรม อาจส่งผลกระทบให้จีดีพี (GDP) ของไทยในปีนี้ลดลงต่ำกว่า 2.0% ซึ่งเป็นระดับที่สะท้อนถึงความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างชัดเจน ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องเร่งเดินหน้าผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เร่งกระจายตลาด และเตรียมพร้อมเจรจานโยบายการค้ากับประเทศคู่ค้ารวมถึงสหรัฐฯ อย่างจริงจัง เพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและประชาชน รวมถึงการพยายามเดินหน้าต่อเนื่องเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อน 3 เสาหลักและอุตสาหกรรมเป้าหมาย การปรับตัวและการวางรากฐานเชิงนโยบายอย่างรอบด้านจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะสามารถพลิกเกมเศรษฐกิจไทยสู่โฉมใหม่ที่แข่งขันได้ในระดับโลกภายใต้ยุคพลวัตที่ไร้เสถียรภาพแห่งนี้”

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดตัว ChatGPT Shopping! ฟีเจอร์ใหม่ชอปปิงในแชทจาก OpenAI ท้าชน Google

เปิดโลกชอปปิงใหม่! OpenAI เพิ่มฟีเจอร์ ChatGPT Shopping ใน ChatGPT ท้าทาย Google ด้วยประสบการณ์ชอปปิงออนไลน์ที่สะดวกและรวดเร็ว เพียงแค่แชท ก็สามารถค้นหาและซื้อสินค้าทุกอย่างที่คุณต...

Responsive image

เริ่มแล้ว! Amazon ส่งดาวเทียมชุดแรกสู่อวกาศ หวังชิงตลาด Starlink ของ Elon Musk

โปรเจกต์ Kuiper ถือเป็นความพยายามครั้งใหญ่ของ Amazon ในการสร้างเครือข่ายดาวเทียมสำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วโลก โดยจะเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Starlink ของ Elon Musk ปัจจุบันมีดาวเที...

Responsive image

เปิดตัว Biomass ดาวเทียมช่วยวัดคาร์บอนในป่าแม้มีเมฆบัง

ดาวเทียม Biomass ถูกออกแบบมาเพื่อภารกิจสำคัญ นั่นคือการ 'มองทะลุเมฆและยอดต้นไม้' เพื่อวัดว่าต้นไม้สามารถกักเก็บคาร์บอนในป่าได้มากแค่ไหน ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์เข้าใจบทบาทของป่าไม้ในการ...