Facebook ประเทศไทย ร่วมกับ Read for the Blind ชุมชนเพื่อช่วยเหลือผู้มีความบกพร่องทางสายตาและ HBOT บริษัทพัฒนาและผลิตแชทบอท เปิดตัว Bot for Messenger สำหรับRead for the Blind บริการแชทบอทเพื่อช่วย Facebook Page ของกลุ่มในการถ่ายทอดข้อมูลและเฟ้นหาอาสาสมัครเพิ่มเติม ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการเน้นย้ำภารกิจสำคัญของ Facebook ที่ตั้งใจให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูล เชื่อมต่อและมีปฏิสัมพันธ์ต่างๆ บนแพลตฟอร์มได้อย่างไร้ข้อจำกัด
ปัจจุบัน มีผู้บกพร่องด้านสายตาในเมืองไทยกว่า 700,000 คน และคนจำนวนมากในกลุ่มนี้ยังขาดเครื่องมือที่ช่วยเหลือด้านการสื่อสาร การนำเทคโนโลยีในกลุ่มปัญญาประดิษฐ์อย่างเช่นแชทบอทสำหรับชุมชน Read for the Blind ผ่านทาง Facebook เพจในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลืออาสาสมัครกลุ่มเป้าหมายให้มีความเข้าใจในชุมชนนี้ยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการสร้างหนังสือเสียง และศึกษาหาวิธีทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
คุณแมทธิว คิง ผู้เชี่ยวชาญระบบช่วยเหลือผู้พิการและวิศวกรจาก Facebook ผู้ร่วมงานเปิดตัวในครั้งนี้กล่าวถึงพันธกิจของบริษัทและแนวคิดเบื้องหลังเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้พิการว่า “ในแต่ละวัน มีการแชร์รูปภาพถึงมากกว่า 2 พันล้านรูปบน Facebook ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ โซลูชั่นส์ที่ใช้เทคโนโลยีจึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้มากกว่าโซลูชั่นส์ที่ใช้มนุษย์เป็นหลัก เรามองว่าการเข้าถึงข้อมูล (access) เป็นการเปิดโอกาสให้กับทุกคน และเมื่อเรามีการเชื่อมต่อกัน ทุกๆ คนต่างได้รับประโยชน์และร่วมมือกันสร้างสรรค์ได้มากขึ้น”
แมทธิว คิง เป็นวิศกรที่มีความบกพร่องด้านสายตาคนแรกของ Facebook เขาเป็นผู้รับผิดชอบดูแลโปรเจ็กต์การอธิบายภาพด้วยเสียง (automatic alt-text) ที่ริเริ่มในปี พ.ศ. 2559 โดยเป็นโปรเจ็กต์ที่ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้บกพร่องทางสายตาด้วยการใช้แคปชั่น วิดีโอที่ช่วยอธิบายวัตถุต่างๆ ซึ่งปรากฎอยู่ในภาพ “เรามีการศึกษาวิธีการใช้งาน Facebook ของกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางสายตามาโดยตลอดเพื่อนำไปพัฒนาระบบและช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงและเชื่อมต่อกับผู้คนและสิ่งต่างๆ บน Facebook ได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดโอกาสอื่นๆ อีกในอนาคต” ด้วยฟีเจอร์การจดจำใบหน้า (Face Recognition) กลุ่มผู้ใช้งานที่มีข้อจำกัดด้านการมองเห็นสามารถทราบได้ว่ามีใครหรือสิ่งใดปรากฎอยู่ในรูปบนนิวส์ฟีดของพวกเขาบ้าง
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเผยว่า มีประชากร 285 ล้านคนที่สูญเสียความสามารถด้านการมองเห็นอย่างรุนแรง เช่น มีระดับค่าสายตาเกินกว่าระยะ 20 ฟุต และต้องอาศัยเครื่องมือเพื่อช่วยขยายและอ่าน ในขณะที่มีจำนวน 39 ล้านคนเป็นผู้พิการทางสายตา (อาจต้องใช้โปรแกรมอ่านหน้าจอเข้าช่วย) และราว 360 ล้านคนมีความผิดปกติด้านการได้ยินรวมอยู่ด้วย (อาจต้องอาศัยการบรรยายแทนเสียง)
นอกจากนี้ จากการสำรวจของ Facebook ใน 50 ประเทศพบว่า กว่าร้อยละ 30 ของผู้ใช้งาน Facebook รายงานว่าพวกเขามีปัญหาต่างๆ อย่างน้อยหนึ่งด้าน เช่น ปัญหาด้านการมองเห็น การได้ยิน การพูด การเรียบเรียงความคิด การเดินหรือการหยิบจับ ทั้งนี้ ยังพบว่า 1 ใน 10 ของผู้คนจะต้องอาศัยฟังก์ชั่นขยายหน้าจอเมื่อใช้งานเบราว์เซอร์ของ Facebook ในขณะที่ร้อยละ 20 ของผู้ใช้งาน Facebook จำเป็นต้องขยายขนาดตัวอักษรบนระบบปฏิบัติการ iOS
“ผมตื่นเต้นที่ได้ทราบถึงกลุ่ม Read for the Blind ในประเทศไทย รวมถึงโอกาสที่พวกเราจะได้ทำงานร่วมกันเพื่อนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่เรามีมาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้คนมากยิ่งขึ้น” คุณแมทธิวกล่าวเพิ่มเติม
คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Read for the Blind และกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ อธิบายถึงวิสัยทัศน์ ขององค์กรว่า “Facebook ได้มีส่วนช่วยพวกเรานับตั้งแต่วันแรก นั่นคือการช่วยสร้างความรู้สึกของการเป็นชุมชนที่มุ่งช่วยเหลือกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางสายตาในประเทศไทยร่วมกัน ในวันนี้ เพจ Read for the Blind ของเรามีจำนวนผู้ติดตามมากกว่า187,000 คน และพวกเขาเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จาก Bot for Messenger ใหม่ล่าสุดซึ่งจะช่วยสรรหาอาสาสมัครที่มีความตั้งใจช่วยเหลือกลุ่มผู้พิการทางสายตาและมอบคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น Bot for Messenger ล่าสุดนี้จะช่วยสร้างคุณค่าและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีสำหรับกลุ่มผู้พิการทางสายตาในประเทศไทย”
คุณชลทิพย์ ยิ้มย่อง ผู้ร่วมก่อตั้ง Read for the Blind และกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ และยังทำหน้าที่แอดมินของทั้งสองชุมชนกล่าวเพิ่มเติมว่า “ผู้มีความพิการด้านสายตามักประสบปัญหาในการหาความช่วยเหลือด้านพื้นฐานในแต่ละวัน ด้วยจำนวนผู้คนกว่า 13,000 คนที่มาเข้าร่วมกลุ่ม Read for the Blind และ Help Us Read เราจึงสามารถเชื่อมต่อผู้มีปัญหาด้านสายตาเข้ากับกลุ่มอาสาสมัครที่ต้องการช่วยเป็นหูเป็นตาให้กันและกันอย่างเต็มใจ เครื่องมือต่างๆ บน Facebook ยังช่วยให้เราเข้าถึงและอ่านคอนเทนต์ทั้งหลายได้อย่างสะดวกสบายกว่าแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นคำอธิบายสำหรับวิดีโอ ป้ายข้อความ หนังสือ หรือแม้กระทั่งรูปภาพและการ์ดอวยพรจากลูกๆ จริงๆ แล้วกลุ่ม ผู้พิการทางสายตามีการใช้แพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่นเดียวกัน รวมถึง Facebook ด้วย ซึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลุ่มชุมชนของเราผ่านทางสมัชชาคนตาบอดได้มีการโหวตให้ Facebook เป็นหนึ่งในแอพพลิเคชั่นที่เป็นมิตรและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงให้กับผู้พิการทางสายตาได้มากที่สุด (TAB Digital Inclusive Award)”
แชทบอทที่มีชื่อว่า รีดดี้ (Ready) ใหม่ล่าสุดนี้สามารถใช้งานได้แล้วบน Facebook Messenger โดยจะช่วยองค์กร Read for the Blind เชื่อมต่อและดำเนินการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่จำเป็น อีกทั้งยังเพิ่มการมีปฎิสัมพันธ์ร่วมกันกับกลุ่มอาสาสมัครและช่วยคัดกรองอาสาสมัครได้อย่างมีคุณภาพ
คุณชญานิษฐ์ ศรีนาคอ่อน หรือคุณซินดี้ CEO ของ HBOT กล่าวภายในงานว่า “ทางเรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับ Facebook ซึ่งถือเป็นผู้นำโซเซียลมีเดียแพลตฟอร์มระดับโลก ในการเป็นพาร์ทเนอร์ด้านโซลูชั่นส์ที่ช่วยผลักดันโปรเจ็กต์นี้ให้แก่ชุมชน Read for the Blind เราเชื่อว่าทุกธุรกิจควรเข้าถึงเทคโนโลยีซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพให้ก้าวกระโดดจากมาตรฐานในปัจจุบัน เราจึงได้ร่วมมือสรรค์สร้าง Bot for Messenger ให้แก่ Read for the Blind ซึ่งมีความหมายมากสำหรับเรา และเราหวังว่าแชทบอทนี้จะสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ที่มีคุณค่าภายในชุมชนในระยะยาวอีกด้วย”
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Read for the Blind และ Bot for Messenger ได้ที่ https://www.facebook.com/readfortheblind/
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด