สรุปผลประกอบการโอเปอเรเตอร์ของไทย TRUE - AIS รายได้ กำไร ไตรมาส 1 ปี 66 เท่าไร ? | Techsauce

สรุปผลประกอบการโอเปอเรเตอร์ของไทย TRUE - AIS รายได้ กำไร ไตรมาส 1 ปี 66 เท่าไร ?

สรุปผลประกอบการของโอเปอเรเตอร์ของไทยอย่าง TRUE และ AIS ที่ผ่านการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 มาเป็นที่เรียบร้อย ในส่วนของรายได้ และกำไร ของการดำเนินงานที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไรบ้าง Techsauce ได้ทำการสรุปเอาไว้ดังนี้

ผลประกอบการ TRUE-AIS

TRUE เผย Q1/66 ขาดทุน 492 ลบ. หนุนดันการรับรู้รายได้ที่เกิดจากการควบรวม ผ่านการขายพ่วงและขายเพิ่ม

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังควบรวมกิจการโดยมีรายได้รวมทั้งหมด 51,463 ล้านบาท ลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 3.9% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะเดียวกันบริษัทมีรายได้จากการให้บริการตามงบการเงินเสมือนที่ 38,985 ล้านบาท ลดลง 1.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลง  2.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในช่วงปีก่อน อีกทั้งมีผลขาดทุนสุทธิ 492 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 95% จากไตรมาสก่อนหน้า  จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,422 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจาก EBITDA ที่ลดลงและค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้น

โดยในไตรมาส 1 ปี 66 มี  EBITDA อยู่ที่ 19,452 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.1% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง 8.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ในส่วนของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีรายได้ 31,142 ล้านบาท ลดลง 1.7% จากไตรมาสก่อน และลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันในปีก่อน  สาเหตุหลักรายเฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ (ARPU) ปรับลดลง 2.3% จากไตรมาสก่อนหน้า เพราะการแข่งขันในตลาดที่ยังสูง ทั้งนี้ณ สิ้นไตรมาส 1/66 บริษัทฯมีลูกค้าจำนวน 50.5 ล้านเลขหมาย โดยมีผู้ใช้บริการ 5G จำนวน 6.3 ล้านราย เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสก่อน ขณะเดียวกันมีผู้ใช้บริการระบบเติมเงินอยู่ที่ 34.7 ล้านราย ระบบรายเดือน 15.7 ล้ายราย โดยที่จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดเพิ่มขึ้น 676,000 เลขหมาย คิดเป็น 14% 

ทั้งนี้ภาพรวมในปี 2566 (สำหรับระยะเวลา 10 เดือนของปี 2566 นับจากวันที่มีการควบรวม) คาดรายได้จากการให้บริการไม่รวมรายได้จากการเชื่อมต่อโครงข่ายทรงตัว EBITDA ทรงตัว – ลดลงด้วยตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ ส่วนเงินลงทุนประมาณ 25,000 – 30,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะยังคงผลักดันการรับรู้รายได้ที่เกิดจากการควบรวม (Revenue Synergies) ผ่านการขายพ่วงและขายเพิ่ม 

ขณะเดียวกันก็ยังจะดำเนินมาตราการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง บริษัทมุ่งมั่นที่จะสร้าง Synergies ที่เกิดจากการควบรวมให้ได้ตามที่คาดหวังไว้เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต อย่างไรก็ตามในปีนี้บริษัทยังอาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมในภายหลังเนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น และการดำเนินงานหลังการควบรวม

AIS ประกาศไตรมาส 1/66 มีรายได้ 46,712 ล้านบาท เติบโต 3.2%

ด้าน บริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) หรือ INTUCH รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส1/2566 รายได้รวมอยู่ที่ 46,712 ล้านบาท เติบโต 3.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีกำไรสุทธิที่ 6,757 ล้านบาท ความสามารถในการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพทำให้สามารถส่งมอบ EBITDA อยู่ที่ 22,636 ล้านบาท เติบโต 1.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน และคงระดับความสามารถในการทำกำไร EBITDA margin ที่แข็งแกร่งที่ 48.5%

ขณะที่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีรายได้จากการให้บริการเติบโตขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมที่ 46.1 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 108,000 ราย ในขณะที่มีผู้ใช้งาน 5G อยู่ที่กว่า 7.2 ล้านราย เติบโตขึ้นจาก 2.8 ล้านราย ในช่วงไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา โดย AIS สามารถให้บริการ 5G ครอบคลุมถึง 87% ของพื้นที่ประชากรไทย

ในส่วนของธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีรายได้เติบโตกว่า 11% จากไตรมาส 1 ปีก่อน และเติบโตต่อเนื่อง 4.3% จากไตรมาสก่อน โดยมีการขยายพื้นที่การให้บริการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ AIS Fibre มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 99,000 ราย ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน และมีฐานลูกค้ารวมกว่า 2.3 ล้านราย

อีกทั้งธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรและธุรกิจอื่น โดย AIS Business ทำรายได้เติบโต 5.2% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน

อย่างไรก็ตาม AIS ยังเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องด้วยงบประมาณ 27,000-30,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับโครงข่ายและการให้บริการสู่การเป็นองค์กรโทรคมนาคมเทคโนโลยีอัจฉริยะ พร้อมพัฒนานวัตกรรมและส่งมอบคุณภาพและความครอบคลุมของโครงข่าย 5G และเน็ตบ้าน ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ซีอีโอ Nike เผย 3 สิ่งที่ทำบริษัทพลาดมาตลอดจนทำให้ไนกี้ไม่เหมือนเดิม

ปลายปี 2024 ที่ผ่านมา Nike เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั่นคือ การลาออกของ John Donahole ในตำแหน่งซีอีโอ และได้ลูกหม้ออย่าง Elliott Hill ที่เริ่มทำงานกับ Nike มาอย่างยาวนานขึ้นมารับ...

Responsive image

กูเกิลปรับนิยาม "Googleyness" ใหม่ ซีอีโอเน้นกล้าคิด กล้าทำ มีเป้าหมาย เป็นคุณสมบัติที่มองหา

"Googleyness" คำที่เคยใช้อธิบายความเป็นกูเกิล ได้รับการปรับความหมายใหม่ในปี 2024 โดย Sundar Pichai ซีอีโอของกูเกิลเอง เพราะที่ผ่านมาคำนี้ค่อนข้างกว้างและไม่ชัดเจน ในการประชุม Pich...

Responsive image

ญี่ปุ่นคิดค้น ‘เครื่องอาบน้ำมนุษย์’ อาบและเป่าแห้งเพียง 15 นาที

หมดข้ออ้างขี้เกียจอาบน้ำแล้ว บริษัท Science Co. ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตหัวฝักบัวจากญี่ปุ่น ได้เปิดตัว “เครื่องซักมนุษย์แห่งอนาคต” หรือ Mirai Ningen Sentakuki...