ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สมัยที่สอง ส่งผลให้บริษัทจีนหลายแห่งทั้งในอุตสาหกรรมรถยนต์ EV และอิเล็กทรอนิกส์ได้พร้อมใจเร่งขยายฐานธุรกิจในประเทศไทย เพื่อรับมือกับผลกระทบจากสงครามการค้าที่อาจปะทุขึ้นอีกครั้ง
การไหลบ่าของทุนจีนมายังประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวครั้งใหญ่ของภาคธุรกิจจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทจีนเริ่มมองหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อลดความเสี่ยงทางด้านการค้า และประเทศไทยกลายเป็นเป้าหมายที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ด้วยปัจจัยด้านทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบ ต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้ และนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐที่เอื้ออำนวย
อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีการลงทุนจากจีนอย่างเห็นได้ชัด ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่อย่าง BYD ได้เข้ามาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในจังหวัดระยอง พร้อมทั้งจ้างแรงงานชาวจีนจำนวนมากเข้ามาทำงานในโรงงานจำนวนมาก นอกจาก BYD แล้ว ยังมีบริษัทรถยนต์จีนอื่นๆ อาทิ Changan Automobil, GAC Group, MG (เครือ SAIC Motor) และ Great Wall Motor ที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทยเช่นกัน
การเข้ามาลงทุนของผู้ผลิตรถยนต์จีน ยังส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และผู้ผลิตแบตเตอรี่ ต้องพากันเข้ามาตั้งฐานการผลิตตามมาอย่างไม่ขาดสาย โดยมีซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนเพิ่มขึ้นจากหลักสิบราย ในปี 2019 เป็นกว่า 130 รายภายในเวลาไม่กี่ปี
จากข้อมูลของ MarkLines ผู้ให้บริการข้อมูลอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้ ผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำ เช่น SVOLT Energy Technology, CALB Group และ Gotion High-Tech ก็ได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเช่นกัน
นอกเหนือจากอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากจีนก็เริ่มให้ความสนใจกับตลาดไทยมากยิ่งขึ้น โดย Haier Group เตรียมสร้างโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะในไทยด้วยเงินลงทุน 13,500 ล้านบาท (389 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งจะสามารถผลิตได้ประมาณ 6 ล้านเครื่องต่อปี โดย 85% ของผลผลิตจะส่งออกไปยังต่างประเทศ
ตามข้อมูลจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 คิดเป็นมูลค่า 1.14 แสนล้านบาทในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2024 ในขณะที่การยื่นขอจากบริษัทญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 18 เหลือเพียง 3.55 หมื่นล้านบาท สอดคล้องกับข้อมูลจาก WHA Group ที่เผยว่า ร้อยละ 65 ของผู้ซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมระหว่างปี 2020 ถึงกลางปี 2024 เป็นบริษัทจีน สะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของแรงงานจีนในไทย โดยกระทรวงแรงงานรายงานว่า มีการออกใบอนุญาตทำงานให้ชาวจีน 40,053 รายในปี 2024 ซึ่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับสัญชาติอื่น ๆ และเพิ่มขึ้น 2.2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2015
การขยายตัวของธุรกิจจีนได้นำไปสู่การเกิด "ไชน่าทาวน์" แห่งใหม่ในพื้นที่ใกล้เขตอุตสาหกรรม เช่น อมตะซิตี้ ระยอง ที่ซึ่งมีคอนโดมิเนียมประมาณ 10 แห่ง รองรับชาวจีนกว่า 6,000 คน และร้านอาหารจีน รวมถึงร้านค้าอื่น ๆ เพื่อชาวจีนเต็มพื้นที่เชิงพาณิชย์
การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์สู่ทำเนียบขาว ได้กลายเป็นปัจจัยเร่งให้บริษัทจีนตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย โดยการเข้ามาลงทุนนี้ เป็นทั้งการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า และเป็นการเปิดโอกาสในการขยายธุรกิจสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังเติบโต
ประเทศไทยจำเป็นต้องจับตาและเตรียมพร้อมรับมือกับปรากฏการณ์นี้ เพราะนอกจากการเข้ามาของทุนจีนจะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของไทยแล้ว ยังอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคอีกด้วย สิ่งที่สำคัญคือ ประเทศไทยควรพิจารณาอย่างรอบคอบและเตรียมพร้อมสำหรับคลื่นการลงทุนครั้งนี้ เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว
อ่านต่อ: asia.nikkei
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด