สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โชว์ผลงานปี 2561 สามารถเดินแผนปรับเปลี่ยนประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล ตามแผนแม่บทส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. 2561-2564 ของรัฐบาลอย่างเต็มที่ ผ่านมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนด้านดิจิทัล 8 มาตรการ และคูปองสนับสนุนการดำเนินงานให้กับภาคธุรกิจเอกชนและภาครัฐ 4 ประเภท เพื่อเตรียมความพร้อมให้มิติด้านเศรษฐกิจ กำลังคน และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รวมถึงประสบความสำเร็จตามพันธกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล และกระทรวงดีอี ในการส่งเสริมด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีและดิจิทัลอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี คาดว่า ผลักดันการสร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศโดยรวมกว่า 1,096.62 ล้านบาท รวมถึงก่อให้เกิดการกระตุ้นและรับรู้ด้านดิจิทัลต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคสังคมทั้งในและต่างประเทศผ่านการทำ MOU กว่า 50 ฉบับ เตรียมแผนเดินหน้าสานต่อพันธกิจหลักปี 2562 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อยกระดับประเทศสู่การเป็น Thailand 4.0
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของสำนักงานฯ ประจำปี พ.ศ. 2561 นับว่าเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก โดยพันธกิจหลักของ depa ได้แก่ การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล รวมถึงพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. 2561-2564 ที่รัฐบาลได้วางกรอบไว้อย่างครบถ้วน ทั้งนี้คาดว่าผลจากการดำเนินงานตามภารกิจทั้งหมด สามารถสร้างการรับรู้และการตระหนักถึงความสำคัญด้านการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมและดิจิทัลให้กับอุตสาหกรรมและธุรกิจด้านดิจิทัลอย่างกว้างขวางทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้คาดว่าผลของกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนไป จะก่อให้เกิดการขยายตัวในด้านการลงทุนในด้านดิจิทัลให้กับอุตสาหกรรมและธุรกิจด้านดิจิทัลอย่างกว้างขวาง หรือคิดเป็นมูลค่ารวมได้กว่า 1,096.62 ล้านบาท
“พันธกิจสำคัญของ depa ทำหน้าที่หลักคือส่งเสริมและสนับสนุนด้านดิจิทัลในทุกมิติ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และการผลักดันการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยดำเนินการสนับสนุนผ่านการมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลสำหรับภาครัฐและเอกชน (depa Funds) เพื่อเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลโดยรวมของประเทศ และมาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการประยุกต์ใช้ดิจิทัล (depa mini-Transformation Voucher) ที่สนับสนุน ค่าใช้จ่ายในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยใช้งบประมาณส่งเสริมและสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 274.15 ล้านบาท รวมถึงการดำเนินงานตามพันธกิจตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัลหลายกิจกรรม” ดร.ณัฐพล กล่าว
ผลการดำเนินงานในมิติด้านการยกระดับเศรษฐกิจสู่การเป็นดิจิทัล ประกอบด้วย
- การปรับเปลี่ยนให้ธุรกิจด้านเอสเอ็มอี โดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการประยุกต์ใช้ดิจิทัล (depa mini-Transformation Voucher)
- การส่งเสริมสิทธิประโยชน์ด้านภาษีร้อยละ 200 สำหรับผู้ประกอบการที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้รับการการส่งเสริมการรับรองมาตรฐาน และขึ้นทะเบียนจาก depa ไปแล้วกว่า 2,000 ราย เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลโดยรวม
- การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลผ่านการมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลสำหรับภาครัฐและเอกชน (depa Funds) เพื่อเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลโดยรวมของประเทศ และการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิด Digital Startup
- การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้กับ อุตสาหกรรมดิจิทัลที่สำคัญ ได้แก่ การเกษตร, อาหาร, การท่องเที่ยว, การบริการ, ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ, และดิจิทัลคอนเทนต์
- การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการปรับตัวประเทศไทยสู่ 4.0 และอนาคต
- การส่งเสริมและสนับสนุนสังคมดิจิทัลบนฐานรากความรู้อย่างทั่วถึง และตอบสนองวิถีชีวิตในอนาคตของประชาชนส่วนใหญ่ ด้วยการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนเพื่อมุ่งเน้นให้เกิดชุมชนดิจิทัล และอุตสาหกรรมด้านการเกษตรให้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล
ผลการดำเนินงานในมิติด้านการสังคมและความมั่นคง
- การพัฒนากำลังคนและการเพิ่มศักยภาพบุคลากรของประเทศ ด้วยการปฏิรูปการศึกษาใหม่ของประเทศผ่านสังคมดิจิทัลใน platform Coding Thailand โดยหลังจากเปิดตัวถึงปัจจุบันมีจำนวนเยาวชนที่เข้ามาเรียนรู้ผ่าน platform Coding Thailand แล้วกว่า 1 แสนราย และมีการใช้ระบบ or.th ไปยังสถานศึกษาระดับประถมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษากว่า 50 สถาบันทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าเข้าถึงเยาวชนกว่า 6 ล้านรายในปี 2562 และขยายสู่ 10 ล้านรายภายใน 3 ปี
- การสร้างเครือข่ายภาคสภาบันการศึกษา/มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ ในการพัฒนากำลังคนดิจิทัลที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสากลและรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมด้วย 14 หลักสูตร (Certificate) ร่วมกับ 10 สถาบันการศึกษา 9 หน่วยงานภาครัฐ
ผลการดำเนินงานด้านผลักดัน Maga Program เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล รวมถึงการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลของประเทศ
- การพัฒนาโครงการศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัลแห่งใหม่ของอาเซียน (Digital Park Thailand) สำหรับรองรับการขยายตัวของธุรกิจและอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้ง IoT Institute เพื่อผลักดันการพัฒนา Digital Innovation ไปสู่การลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่ง IoT เป็นส่วนหนึ่งของ Digital Park Thailand โดยคณะรัฐมนตรีได้มอบให้ depa รับผิดชอบ ซึ่งคาดหวังให้เป็นการส่งเสริมการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลและ IoT ของประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินการก่อสร้าง 30 ไร่ แบ่งรายละเอียดออกเป็น 3 ตึกอาคาร โดยอาคาร A1 เป็นอาคารสำหรับโซนสำนักงาน depa EEC และ IOC สำหรับการพัฒนา Smart city รวมทั้งเป็นพื้นที่สำหรับการนำร่องธุรกิจ digital Startup ในพื้นที่ EEC อาคาร A2 เป็นอาคารสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับการจัดทำห้องปฎิบัติการเพื่อทดสอบและรับรองมาตรฐานทางด้านดิจิทัลของประเทศ อาคาร A3 เป็นพื้นที่สำหรับการลงทุนของธุรกิจขนาดใหญ่หรือข้ามชาติ
- การดำเนินงานด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ depa ได้ดำเนินการขยายเครือข่ายสำนักงานสาขา เพื่อขยายฐานการให้บริการสนับสนุนและส่งเสริมด้านดิจิทัลไปยังพื้นที่ภูมิภาคสำคัญ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต, จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดขอนแก่น เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมุ่งเน้นพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ใน 6 ด้าน ได้แก่Smart Mobility, Smart energy and environment, Smart economy, Smart living, Smart people และ Smart Governance ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนาโครงการนำร่องแล้วในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และมีการขยายพื้นที่เพิ่มเติม 7 เป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต, จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดขอนแก่น, จังหวัดชลบุรี, จังหวัดฉะเชิงเทรา, จังหวัดระยอง และกรุงเทพฯ และการร่วมกับองค์กรชั้นนำของประเทศกว่า 80 แห่ง ในการร่วมจัดตั้ง Thailand’s Smart City Alliance เพื่อสร้างระบบนิเวศเมืองอัจฉริยะขึ้น
ผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและสนับสนุนด้วยการจัดกิจกรรมระดับสากล
- การจัดงาน Digital Thailand Big Bang 2018
- การเตรียมความพร้อมในการจัดงาน World Expo Dubai 2020
ดร.ณัฐพล กล่าวเสริมว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2562 นั้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสานต่อแผนงานตามกลยุทธ์หลักระยะ 4 ปี (พ.ศ.2561-2564) อย่างต่อเนื่อง โดยจะใช้เครื่องมือหลักผ่านมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลสำหรับภาครัฐและเอกชน หรือ depa Funds เพื่อเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลโดยรวมของประเทศทั้ง 8 มาตรการ และมาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการประยุกต์ใช้ดิจิทัล (depa mini-Transformation Voucher) ที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้แผนการดำเนินงานของสำนักงานฯ จะเน้นการพัฒนากำลังคนและบุคลากรของประเทศ วางเป้าหมายสู่การมีการรับรู้และความรู้ด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ผ่านระบบที่สร้างขึ้น (Digital Platform) ถึงประชาชนและกลุ่มเป้าหมาย 400,000 ราย โดยให้เยาวชนมีโอกาสศึกษาและเรียนรู้ด้านดิจิทัล (Coding) มากกว่า 100,000 คน รวมถึงการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัลที่ผ่านการรับรองไม่น้อยกว่า 50,000 คน พร้อมทั้งผลิตแรงงานคุณภาพเพิ่มขึ้นในด้านดิจิทัลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 หลังผ่านการ upskill และต้องการสร้างผู้บริหารระดับสูง Digital CEO เพื่อเป็นผู้นำในด้านดิจิทัลในการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง