ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวว่า “โครงการ Coding Thailand เป็นโครงการสำคัญของ กระทรวงดีอี และ ดีป้า ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาการ คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงฝึกฝนกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญของ การเรียนรู้ในยุคศตวรรษที่ 21 โดยดีป้า ได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม www.CodingThailand.org ในเฟสแรกไปเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีพันธมิตรที่เป็นต้นแบบหลักสูตรอย่าง Code.org องค์กรไม่แสวงหากำไรจากสหรัฐอเมริกา พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชน อย่าง ไมโครซอฟท์ กูเกิล ซิสโก้ อักษรเอ็ดดูเคชั่น และอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายสำคัญของโครงการ คือ เยาวชน ซึ่งเป็นทรัพยากรสาคัญของประเทศ รวมถึงกลุ่มโรงเรียน ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญ ในการส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนไทยของเรา”
"โดยระยะเวลาประมาณ 4 เดือนหลักจากเปิดตัว ดีป้า มุ่งสร้างความตระหนักและส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ ผ่าน www.CodingThailand.org โดยมีผู้เรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มแล้วกว่า 6 แสนราย นอกจากนี้ ดีป้า ยังได้มีการสร้างประสบการณ์ด้านโค้ดดิ้งให้แก่ เยาวชนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กับงาน Digital Thailand Big Bang 2018 ซึ่งมีน้องๆ เยาวชนได้เข้ามาเรียนรู้การเป็น Coder และ Maker ผ่านกิจกรรมเวิร์คช็อป และกิจกรรมการแข่งขันกว่า 2,600 ราย และมีผู้ชมผ่านออนไลน์ในช่วงการจัดงานฯ อีกกว่า 60,040 ครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวและความสนใจในการเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ของเยาวชนไทย ซึ่งดีป้า จะยังคงเดินหน้าผลักดันให้ Coding Thailand เป็นแพลตฟอร์มแห่งการเรียนรู้ในทักษะดิจิทัลโดยตั้งเป้าเข้าถึงเยาวชนกว่า 6 ล้านรายในปี 2562 และขยาย สู่ 10 ล้านรายภายใน 3 ปี"
“ในส่วนของการหารือความร่วมมือกันในวันนี้ จะเป็นการบูรณาการจุดแข็งและประสบการณ์ของทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันผลักดันให้ Coding Thailand เป็นต้นแบบของแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในประเทศไทยที่จะใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลในอนาคต โดยบทบาทสำคัญของดีป้าอย่างหนึ่งคือ ส่งเสริมทักษะด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ให้กับกำลังคนดิจิทัลของประเทศไทย ผ่านแพลตฟอร์ม CodingThailand.org ซึ่งจะมีกิจกรรมกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนรู้ ทั้งในรูปแบบเชิงรุกโดยมุ่งมั่นในการเข้าถึงโรงเรียนและกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 2,000 โรงเรียน หรือประมาณ 200,000 คน และยังมีรูปแบบกิจกรรมเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมที่กำลังจะมาถึง คือ Coding Thailand Online Quiz & Challenge กิจกรรมส่งเสริมเรียนรู้แบบสนุกๆ กับการแก้โจทย์ด้วยบล็อคโค้ดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ www.CodingThailand.org ชิงทุนการศึกษาและรางวัลรวมมูลค่ากว่า 600,000 บาท โดยตั้งเป้าผู้ลงทะเบียน เข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 2,500 ราย ทั่วประเทศ”
Code.org แพลตฟอร์มการเรียนรู้ระดับโลกเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญ ที่ได้เข้ามีบทบาทในการสนับสนุนเนื้อหาการเรียนรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์ในการส่งเสริมให้นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาสามารถเข้าถึงหลักสูตรการเรียนรู้ต่างๆ ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีนักเรียนกว่า 30 ล้านคน และ ครูราว 1 ล้านคน จากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก ที่ได้เรียนรู้บนแพลตฟอร์มของพวกเขา
คุณแพท ยงค์ประดิษฐ์ Chief Academic Officer ของ Code.org กล่าวว่า “Computer science นั้นได้เข้ามาเปลี่ยนโลก และสำหรับประเทศไทย การร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เข้ามาอยู่ในหลักสูตรเพื่อเตรียมพร้อมเด็กไทยทุกคนให้พร้อมสู่โลกอนาคต ความร่วมมือของพวกเราในอีกสิบปีต่อจากนี้ เราจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในไม่ช้า บุคลากรไทย จะเป็นที่รู้จักของประชาคมโลกในฐานะผู้มีทักษะด้านดิจิทัล ที่ไม่เฉพาะแค่ความสามารถในการค้นคว้าหาความรู้ในอินเตอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ที่สามารถสร้างแอพพลิเคชันได้ด้วย
วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์กำลังเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง นี่ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย ที่ได้มีการเตรียมพัฒนาประชากรให้พร้อมรับโลกอนาคต ซึ่งไม่ใช่แค่การนำศาสตร์นี้บรรจุเข้าไปอยู่ในหลักสูตรเท่านั้น แต่ยังได้ทำการลงทุนในทรัพยากร ในการเทรนเหล่าเทรนเนอร์ และคุณครู เพื่อมอบความรู้ให้กับนักเรียนทั่วประเทศ
การเรียนรู้ผ่านคอมพิวเตอร์ และผ่านหนังสือเป็นการเรียนรู้เรื่องหนึ่ง ที่สอนให้เด็กคิด ได้ทำความเข้าใจ แต่การที่เราได้เปิดโอกาสให้เด็กได้สร้างนวัตกรรมได้นั้น ต้องผ่านการลงมือทำ ซึ่ง Microbit.org ได้ทำหน้าที่เป็นสะพาน เชื่อมโลกจินตนาการสู่โลกความเป็นจริง มีบทบาทสำคัญในการต่อยอดทักษะวิทยาการคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน สู่การสร้างสรรค์ นวัตกรรมและ โครงงาน ในกลุ่มเยาวชนและโรงเรียน เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นฐานด้านความคิด พัฒนาทักษะ และกระบวนการทางความคิด
คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวถึงมุมมองของภาคเอกชนในการใช้ดิจิทัลในการส่งเสริมการเรียนรู้ ทักษะ และการพัฒนาเยาวชน ว่า “เป้าหมายของโมโครซอฟท์ คือเราต้องการช่วยให้ทุกคนบนโลกนี้ และทุกองค์กรได้ทำในสิ่งที่ดีขึ้น และเราเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยได้ การพัฒนาบุคลากรเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งหนึ่งเรื่องที่ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญคือเรื่องการศึกษา เราได้มีการทำโปรแกรม Hour of Code มาเป็นเวลากว่า 3-4 ปี เราได้ทำการเทรนนิ่ง คนไปแล้วกว่าสามหมื่นคน"
“การร่วมมือกันในครั้งนี้ นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราได้พาร์ทเนอร์อย่าง code.org ร่วมจับมือใน กิจกรรม Hour of Code 2018 ที่จะเกิดในช่วงเดือนธันวาคม ที่ได้มอบแพลตฟอร์มให้เราสามารถนำใช้ในการจัดสัมนา เวิร์คช็อป และสร้างกิจกรรมร่วมกัน เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ผ่านการเขียนโค้ดขั้นพื้นฐาน”
นอกจากนี้ อักษร เอ็ดดูเคชั่น ผู้นำด้านนวัตกรรม และออกแบบกระบวนการเรียนการสอนครบวงจร ได้รับการแต่งตั้ง จาก Code.org ให้เป็น International Professional Development Partner ร่วมสนับสนุนด้านหลักสูตรการเรียนรู้ให้เหมาะกับบริบทในประเทศไทย โดยการพูดคุยกันในวันนี้เพื่อการบูรณาการและกำหนด เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งเป็นทักษะสาคัญ และจำเป็นในยุคศตวรรษที่ 21
คุณตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงมุมมองของภาคเอกชนในการใช้ดิจิทัลในการส่งเสริมการเรียนรู้ ทักษะ และการพัฒนาเยาวชน ว่า “ที่คุณครู และเด็กๆ สามารถใช้ทักษะที่ได้จากวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มาใช้ประกอบการเรียนรู้ได้ แต่ในประเทศไทยไม่มีครูที่ทำการสอนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เมื่อวันนี้เรื่องนี้ได้เข้ามาอยู่ในหลักสูตรของการศึกษาประเทศไทย โจทย์ก็คือ เราจะทำอย่างไร ในการออกแบบแผนการสอน และต้องทำการปูพื้นฐาน เริ่มแรกตั้งแต่ก่อนที่จะทำอะไรเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำ”
คุณตะวัน : สิ่งเหล่านี้ต้องถูกออกแบบทั้งนั้น ครูต้องตั้งโจทย์ได้ ต้องดึงทรัพยากรต่างๆ เข้ามาบูรณาการเข้าไปในการเรียนการสอนในจังหวะที่เหมาะสม นอกจากนี้คุณครูจะต้องแจกการบ้าน ให้เด็กได้ไปค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง นอกเวลาเรียน สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการสอนที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราได้ร่วมกันสร้างชึ้นมา และได้นำไปสร้างเป็นแรงบันดาลใจให้คุณครูจำนวนมาก
สุดท้ายคือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอม เกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมมือในด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่าน CodingThailand.org สู่โรงเรียนกว่า 2,000 โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและบูรณาการการเรียนรู้จาก แพลตฟอร์มสู่อุปกรณ์สมาร์ตดีไวซ์เพื่อการสร้างสรรค์ผลงานหรือนวัตกรรม
ผศ.อัครเดช วัชระภูพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “ทุกเวลาที่ผ่านไปคือเราช้ากว่าประชาคมโลก Digital Literacy เรายังตามหลังประชาคมโลก ซึ่งการที่คนสามารถใช้ LINE และใช้สมาร์ทโฟนได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะมี Digital Literacy อีกทั้งในอนาคต Digital Economy ก็ไม่ใช่แค่การสามารถคิดเลขได้เท่านั้น"
“การพัฒนาให้คนมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์นั้นยังมีความท้าทายเนื่องจากกำแพงทางภาษา ซึ่งการที่จะไปสู่จุดหมายนั้น เราทำงานคนเดียวไม่ได้แน่นอน นี่จึงเป็นที่มาในการที่เราจำเป็นจะต้องทำงานร่วมกับ code.org มาช่วยในแพลตฟอร์มของไทยอย่าง codingthailand.org ในการช่วยเทรนเหล่าเทรนเนอร์ และคุณครู เราได้ Microbit มาช่วยเชื่อมโลกแห่งจินตนการเข้าสู่โลกความเป็นจริง ทางไมโครซอฟท์เข้ามาเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มพาร์ทเนอร์ และอักษร เอ็ดดูเคชั่น ในการเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้"
ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องประกอบด้วยผู้ที่มีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งเป็นโอกาสดีของประเทศไทยในการโอกาสกับคนที่มีศักยภาพ การที่จะบอกว่าเขียนโปรแกรมเป็นจะต้องใช้คอมพิวเตอร์นั้นอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป จุดเริ่มต้นและหัวใจสำคัญของศาสตร์นี้คือ การคิดอย่างเป็นระบบ สามารถมองสิ่งที่มันคลุมเครือหรือไม่แน่นอน ออกมาให้เป็นระบบ ประกอบกันเป็นรูปเป็นร่าง หากทำสิ่งเหล่าได้ คุณจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้บริโภคเท่านั้น คุณจะเป็นผู้สร้าง และจะเป็นผู้ผลักดันให้ประเทศไทยมีศักยภาพเชิงปริมาณของผู้ที่มีทักษะดิจิตัลได้"
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด