กรมสุขภาพจิตร่วมมือกับ Ooca เพิ่มช่องทางให้คำปรึกษาออนไลน์ ผ่านวีดีโอคอล ดูแลจิตใจวัยรุ่น

กรมสุขภาพจิต ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับอูก้า (Ooca) ในการดูแลนักศึกษาระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยของรัฐในโครงการกำแพงพักใจ อูก้า (Ooca) หน่วยงานภาคเอกชนที่นำเทคโนโลยีมาช่วยให้บริการด้านสุขภาพจิต เพิ่มช่องทางให้การปรึกษาออนไลน์ ลดความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในเด็กและวัยรุ่น

กิจกรรมครั้งนี้มีผู้สนใจร่วมงานมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนที่สนใจรวมทั้งสื่อมวลชน จำนวน 130 คน ในงานเชิญนักพูดสร้างแรงบันดาลใจเรื่องสุขภาพจิตกับวัยรุ่น ได้แก่ คุณทราย เจริญปุระ นักแสดง นักเขียน และผู้ป่วยซึมเศร้าที่ต้องดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าอีกด้วย นายแพทย์อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น [หมอตั้ม เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ”] รวมทั้งการเสวนาโดยผู้แทนจากภาครัฐที่มีส่วนกำหนดนโยบาย เจ้าของแอพพลิเคชั่นการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตออนไลน์ ผู้แทนจากภาคธุรกิจที่ให้การสนับสนุนโครงการ และตัวแทนเด็กและเยาวชน

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการกำแพงพักใจ (Wall of Sharing) ระหว่างกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กับ อูก้า ในปัจจุบันสถานการณ์โรคซึมเศร้าในสังคม เป็นปัญหาที่สำคัญทางสุขภาพ ซึ่งเป็นโรคใกล้ตัวที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจรุนแรงจนนำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตายโดยผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้ามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า ในปี 2562 อัตราการฆ่าตัวตายของประชากรไทยรวมทุกกลุ่มอายุอยู่ที่ 6 รายต่อชั่วโมง ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายของเด็กและวัยรุ่น กลุ่มอายุ 15-24 ปี มีสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 300 กว่ารายต่อปี นอกจากนี้ มีข้อมูลตัวเลขสถิติพบว่า ในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า 100 คน จะเป็นวัยรุ่น 11 คน ในวัยรุ่น 100 คน จะมีภาวะซึมเศร้า 3 คน

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตได้มีการให้บริการปรึกษาผ่านทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 มาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งปัจจุบันสามารถจัดบริการให้ได้ปีละประมาณ 200,000 สาย จากการโทรเข้ามากว่า 800,000 สาย คิดเป็น 1 ใน 4 โดยกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน ในปี 2561 พบว่า ปัญหาสุขภาพจิตที่ทำให้เด็กและเยาวชนโทรศัพท์มาขอรับการปรึกษามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่   1.ภาวะเครียดหรือรู้สึกกดดัน 2.ปัญหาความรัก 3.ปัญหาเรื่องเพศหรือการใช้สารเสพติด 4.ภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ทำร้ายคนอื่น และ 5.ครอบครัวไม่เข้าใจ โดยภาพรวมวัยรุ่นยังเป็นกลุ่มที่มีการเข้าถึงบริการน้อย โดยในปี 2561 ให้บริการได้ประมาณ 9,000 สาย ดังนั้น การค้นหาช่องทางในการช่วยเหลือเด็กและวัยรุ่นให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น จึงถือเป็นภารกิจที่สำคัญของหน่วยงาน และเป็นที่มาในการพัฒนาความร่วมมือลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการกำแพงพักใจ กับ อูก้า (Ooca) หน่วยงานภาคเอกชนที่จะนำเทคโนโลยีมาให้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ซึ่งจะส่งผลให้เด็กและวัยรุ่น สามารถนัดและพบกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยาได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ที่สามารถใช้ได้ทั้งบนมือถือแบบสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ โดยจะเป็นโรงพยาบาลเสมือน (virtual hospital) หรือโรงพยาบาลออนไลน์ที่สะดวกกว่า ไม่ต้องเดินทาง เลือกขอรับการปรึกษาเมื่อไรก็ได้ และมีความเป็นส่วนตัวสูง อีกทั้งยังมีจิตแพทย์และนักจิตวิทยามากกว่า 50 คน เพื่อให้การปรึกษา

แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการกำแพงพักใจ เป็นโครงการที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ร่วมมือกับภาคเอกชน ที่เริ่มจากนักศึกษาเป็นกลุ่มแรกและมีแผนจะขยายบริการให้ครอบคลุมเด็กและเยาวชน อายุ 10-24 ปี กลุ่มอื่นต่อไปในอนาคต นักศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐสามารถรับบริการให้คำปรึกษาผ่านระบบโรงพยาบาลออนไลน์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งสามารถให้เด็กและวัยรุ่นได้พูดคุยระบายความรู้สึกและความเครียดได้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ตามหลักทางวิชาการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา สามารถรับฟัง ชวนวิเคราะห์ โดยไม่ออกความเห็นส่วนตัว และไม่ตัดสิน รวมทั้งยังมีการพัฒนาระบบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหรือคลินิกสุขภาพจิตเพื่อให้การดูแลต่อเนื่องในรายที่อาการรุนแรงหรือเรื้อรังอีกด้วย โดยมีหน่วยงานภาคเอกชน มูลนิธิ องค์กรภาคประชาสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพร่วมให้การสนับสนุน

ทันตแพทย์หญิงกัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Ooca กล่าวว่าการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตออนไลน์ที่จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้แก่เด็กและวัยรุ่นสามารถเข้าปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญได้อย่างง่ายสบายใจเหมือนเพื่อนสนิท เพราะปัญหาของสังคมของเรื่องสุขภาพจิตไม่ได้เกิดจากการแค่เรื่องซึมเศร้า แต่ยังรวมไปถึงตั้งแต่ก่อนคนจะซึมเศร้า เรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันก็สามารถเข้ามาคุยได้เราอยากให้การเข้าหาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเป็นเรื่องปรกติของสังคม ซึ่งการปลูกฝังตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษาจะสามารถสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ การดำเนินโครงการมีความจำเป็นที่ต้องระดมทุนจากภาคธุรกิจให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณเพื่อนำมาเป็นค่าตอบแทนให้แก่จิตแพทย์และนักจิตวิทยา ในขณะนี้มีภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนแล้ว คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ทันตแพทย์หญิงกัญจน์ภัสสร กล่าวว่า “อูก้า เป็นแอพพลิเคชั่นที่สามารถช่วยเหลือสังคมได้จากการขยายบริการทางเทคโนโลยีของเรา เงินส่วนหนึ่งของผู้ที่เข้ามาปรึกษาในช่องทางปรกติจะถูกแบ่งสัดส่วนเพื่อไปสนับสนุนค่าใช้จ่ายของนักศึกษาจากโครงการกำแพงพักใจ เราภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตและเป็นส่วนหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมอย่างแท้จริง”

นอกจากนี้ หากมีมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาที่สนใจและต้องการเข้าร่วมโครงการกำแพงพักใจ เพื่อจัดให้มีบริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตออนไลน์แก่นักศึกษา สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ contact@wallofsharing.com

สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องบริจาคเพื่อขยายและเพิ่มการบริการให้ครอบคลุมนักศึกษาจำนวนมากขึ้น สามารถบริจาคออนไลน์ได้เลย ผ่าน www.wallofsharing.com

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

OpenAI Academy คอร์สเรียน AI ฟรีจากผู้สร้าง ChatGPT เรียนรู้ตั้งแต่เบสิกยันระดับโปร

ก่อนหน้านี้ OpenAI ผู้พัฒนา ChatGPT ได้เปิดตัว OpenAI Academy แพลตฟอร์มการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้าน AI เพื่อให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ และปรับตัวให้เข้ากับวิธีการทำงานใหม่ๆ ร่วมกับ A...

Responsive image

ทำความรู้จักโครงการ Low Carbon City หนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ 'อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ'

สรุปจากงานสัมมนา CEO Forum : Industrial Decarbonization under Thailand's Low Carbon City Program ที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ World Bank มาเผยแนวทางสนับสนุนให้ลดการปล่อยคาร์บอนในภา...

Responsive image

อว. ก้าวล้ำ! เปิดตัว AI ตรวจสอบหลักสูตรมหาวิทยาลัย ยกระดับมาตรฐาน รวดเร็ว แม่นยำ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กำลังก้าวสู่มิติใหม่ของการประกันคุณภาพการศึกษา ประกาศนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานหลักสูต...