เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำและรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ งานสัมมนา CEO Forum : Industrial Decarbonization under Thailand's Low Carbon City Program จึงเกิดขึ้น โดย กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นแม่งาน เปิดเวทีให้หลายภาคส่วนมาร่วมแชร์แผนการดำเนินงาน ความคืบหน้า รวมถึงการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการลดก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน และการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับผู้ประกอบการอีกกว่า 30 ราย ในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
กระทรวงอุตฯ X การนิคมฯ X World Bank เปิดเกมรุก Industrial Decarbonization หนุนผู้ประกอบการไทยลดคาร์บอน ร่วมโครงการ Thailand's Low Carbon City
งาน CEO Forum : Industrial Decarbonization under Thailand's Low Carbon City Program จัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2568 ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 3 โรงแรม ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ
คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานสัมมนา CEO Forum โดยชูแนวทาง Industrial Decarbonization ภายใต้โครงการ Low Carbon City เพื่อหนุนผู้ประกอบการไทยลดคาร์บอน โดยเน้นย้ำว่า การดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีความยั่งยืน เพื่อสนองตอบความท้าทายจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดนโยบาย 'การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ สะอาด สะดวก โปร่งใส' ด้วยกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ 5 ด้าน และยังมีภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น
- การจัดการปัญหากากอุตสาหกรรม
- การลดมลพิษทางอากาศ
- การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
- การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว
- การพัฒนาศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
- การยกระดับงานบริการ
"การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืน โดยภารกิจสำคัญเร่งด่วนคือ การสนับสนุนให้อุตสาหกรรมไทยสามารถปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transition to New Economy) โดยการจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Greening Supply Chain) ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ (Low Carbon Industry) และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม"

ด้าน คุณณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงนโยบายการสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของภาคอุตสาหกรรมไทยภายในปี 2065 ว่า กระทรวงฯ ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของภาคอุตสาหกรรมในการลดก๊าซเรือนกระจกและตั้งเป้า Net Zero Emissions ภายในปี 2065 โดยการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว บังคับใช้เกณฑ์ใหม่ปี 2025 รวมทั้งส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดของเสีย และสนับสนุนเทคโนโลยีสะอาด
โดยกระทรวงฯ มีแผนงานที่จะ 1) ประกาศใช้มาตรฐานลดก๊าซเรือนกระจก 7 มาตรฐาน พัฒนาแนวทางให้สอดคล้องกับสากล 2) สร้างกลไกให้สถานประกอบการเข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอนได้ง่ายขึ้น 3) ร่วมกับกระทรวงพลังงานแก้ไขอุปสรรค ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน และส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน 4) กำหนดมาตรฐานใหม่กว่า 55 มาตรฐาน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม New S-Curve และ 5) ขับเคลื่อนนโยบาย MIND (Move to Net Zero, Innovation, Digitalization) โดยมีเป้าหมายครอบคลุมเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

คุณสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ฉายภาพรวมการลงทุนในนิคมฯ ว่ามี 71 แห่ง และกำลังจะมีท่าเรืออีก 1 แห่ง รวมแล้วกระจายอยู่ใน 17 จังหวัด
คุณสุเมธกล่าวเสริมว่า กนอ. มุ่งมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการสู่อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ รับมือความท้าทายด้านดิจิทัล เทคโนโลยี และความยั่งยืน โดยวิเคราะห์ความเสี่ยง แนวทางสนับสนุนธุรกิจยั่งยืน แนวทางพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อมุ่งสู่องค์กรเป็นกลางทางคาร์บอน ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวผ่านนิคมอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ พร้อมทั้งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน สนับสนุนพลังงานสะอาด จัดการของเสียผ่าน 'มาบตาพุด แซนด์บ็อกซ์' ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน
"นอกจากนี้ กนอ.สร้างกลไก Carbon Finance ร่วมกับ World Bank พัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิต และตั้ง CME เป็นศูนย์กลางความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน โดย กนอ.พร้อมผลักดันอุตสาหกรรมไทยลดก๊าซเรือนกระจก สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน และยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนสีเขียวในภูมิภาค"
Melinda Good, Division Director for Thailand and Myanmar, The World Bank
ฝั่ง คุณเมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและเมียนมา กล่าวถึงการลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมว่า ไม่ใช่วาระของอนาคตอีกต่อไป แต่มันกำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ และผู้ที่เป็นผู้นำจะเป็นผู้กำหนดยุคถัดไปของความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ธนาคารโลกรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นพันธมิตรในการจัด CEO Forum และสนับสนุนประเทศไทยในการสร้างอนาคตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโต ดึงดูดการลงทุน สร้างงาน และเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
"ประเทศไทยมีองค์ประกอบที่เหมาะสมทุกประการในการเป็นผู้นำในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และเจตนารมณ์ที่ชัดเจน โครงการเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City Program) ที่รัฐบาลไทยและธนาคารโลกจะร่วมมือกัน จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมมีเครื่องมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกันก็รักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้ ด้วยการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และกลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) ปี 2026 ที่กำลังจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทยจะมีโอกาสอันดีเยี่ยมในการแสดงบทบาทความเป็นผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศและความมุ่งมั่นของภาคเอกชนต่อเวทีระดับโลก"
ภายในงานยังมีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมที่จะลดก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมุ่งเป้า Net Zero 2065 ผ่านนวัตกรรมและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
'กลยุทธ์ ปัจจัยความสำเร็จ และโอกาสของอุตสาหกรรมไทย สู่การเป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ' วงเสวนาพิเศษโดยวิทยากรกิตติมศักดิ์

ในงานสัมมนา CEO Forum : Industrial Decarbonization under Thailand's Low Carbon City Program ยังมีการเสวนาพิเศษ 'กลยุทธ์ ปัจจัยความสำเร็จ และโอกาสของอุตสาหกรรมไทย สู่การเป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ' โดยมีวิทยากรกิตติมศักดิ์จากหลากหลายภาคส่วนมาร่วมบนเวทีเดียวกัน ดังนี้
- คุณปวิช เกศววงศ์
รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม - ดร.สุเมธ ตั้งประเสริฐ
กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย - ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ
ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) - คุณชูโชค ศิวะคุณากร
Head of Environmental Social Governance and Business Stakeholder Engagement, SCG - คุณขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ
เจ้าหน้าที่อาวุโสธนาคารโลก ผู้รับผิดชอบประเทศไทย

คุณปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถานะของ ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .......... ว่า จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกและเป็นแหล่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกมิติ อาทิ อุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่างๆ, แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ, การเก็บคาร์บอนฟุตพรินต์สำหรับองค์กรและคาร์บอนฟุตพรินต์ตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ (CFO & CFP), ระบบภาษีคาร์บอน, คาร์บอนเครดิต, กลไกการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM), บทกำหนดโทษ
ส่วนความคืบหน้าล่าสุด คุณปวิชกล่าวถึงการหารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง เรื่องการจัดตั้ง 'กองทุนภูมิอากาศ' เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยตั้งทีมบริหารกองทุนจากผู้เชี่ยวชาญให้ต่างจากกองทุนทั่วไป ซึ่งทางกรมบัญชีกลางเห็นชอบในหลักการ ระหว่างนี้จึงเป็นช่วงนำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการจัดตั้งกองทุนภูมิอากาศให้เกิดขึ้นจริงโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ยังร่วมมือกับ The World Bank จัดทำโครงการ Low Carbon City และ Carbon Market Development Program อีกด้วย

ดร.สุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการจัดการกฎหมาย ปรับแก้ระเบียบ ว่าจะร่วมแก้ไขกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทำธุรกิจได้ง่ายชึ้น ในฐานะ Facilitator โดยจะเตรียมโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ส่งเสริมการจัดการเรื่อง Circular Economy ลดขั้นตอนให้ภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยแนวคิด Green Transition to New Economy
รวมทั้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Closed-Loop Sandbox แซนด์บ็อกซ์ในมาบตาพุด ว่าเป็นพื้นที่จุดประกายไอเดียใหม่ที่ กนอ.สนับสนุน ให้สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ เจ้าของไอเดีย เข้ามาทดลองทำสิ่งใหม่ ปูทางไปสู่ธุรกิจใหม่ได้ โดย ดร.สุเมธเชื่อว่าจะมีธุรกิจเกิดใหม่อีกมากจากแซนด์บ็อกซ์นี้ และเชิญชวนให้ผู้สนใจมาร่วมนำเสนอสิ่งที่อยากทำ ภายใต้ปีกของโครงการ Low Carbon City

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการผลิตไฟฟ้า การลดใช้พลังงานฟอสซิล การกำหนดราคาพลังงาน การสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน การรักษาสมดุลของธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ท่ามกลางกระแสที่เร่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว คุณบุรณินกล่าวถึงการจัดการด้านพลังงานว่า ต้องคำนึงถึง 3 ด้าน ได้แก่ 1) ราคาที่เหมาะสม 2) ความสามารถในการเข้าถึงได้และเพียงพอ และ 3) สิ่งแวดล้อมโดยรอบ และเนื่องจากเป็นธุรกิจพลังงาน ปตท.จึงให้ความสำคัญเรื่องลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงอย่างต่อเนื่อง แล้วไปโฟกัสที่การเข้าถึงพลังงานจากหลายแหล่งเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน การลงทุนในธุรกิจใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพทั้งการผลิตและการใช้พลังงาน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน
ด้านการปรับพอร์ตธุรกิจให้เติบโตควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอน ดร.บุรณินกล่าวว่า บริษัทยึดหลัก 3C ได้แก่ 1) Climate-Resilence Business คือ เปลี่ยนผ่านธุรกิจโดยเพิ่มการใช้ก๊าซธรรมชาติและ LNG จนสามารถออกจากธุรกิจที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้สำเร็จ เพื่อไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ 2) Carbon Conscious Asset ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เน้นการใช้พลังงานสะอาด และนำเสนอแพลตฟอร์ม RECs (Renewable Energy Certificates) เพื่อออกใบรับรองมาตรฐานการใช้พลังงานหมุนเวียน และ 3) Coalition, Co-creation and Collective Efforts for All เน้นการดักจับและกักเก็บคาร์บอน โดยใช้พื้นที่ใน EEC เป็น CCS Hub

คุณชูโชค ศิวะคุณากร Head of Environmental Social Governance and Business Stakeholder Engagement, SCG กล่าวถึงแผนบริษัทว่า SCG มุ่งสร้าง การเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน (Inclusive Green Growth) 3 ด้าน ได้แก่ Net Zero 2050, Nature Positive และ Inclusive Society โดยในด้านแรก Net Zero 2050 แบ่งออกเป็น 3 เฟส
- เฟสแรก เน้นพัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำ มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 25% ในช่วงปี 2020 - 2030 ด้วยการใช้เชื้อเพลิงสะอาดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น เชื้อเพลิงชีวมวล และการพัฒนาสินค้าลดคาร์บอนเจเนอชันที่ 1, 2 เช่น ปูนลดโลกร้อน นอกจากนี้ การใช้พลังงานสะอาดจากโซลาร์และโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ SCG ก่อตั้งมาแล้ว 10 ปี ยังลดการใช้ถ่านหินได้กว่า 40%
- เฟสสอง ขยายเทคโนโลยีการผลิตคาร์บอนต่ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระหว่างปี 2031 - 2049 ทั้งการใช้พลังงานไฮโดรเจน การดักจับคาร์บอน แบตเตอรี่กักเก็บคาร์บอน (CCUS) โดยค้นหา Deep Tech สร้างเครือข่ายเพื่อเข้าสู่ Net Zero
- เฟสสุดท้าย บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050
ส่วน Nature Positive เน้นที่การรักษาสภาพแวดล้อมเดิมของพื้นที่ที่มีการทำเหมือง การฟื้นฟูเหมือง การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ในพื้นที่ และ Inclusive Society เน้นสนับสนุนให้สังคม ชุมชน เติบโตไปด้วยกัน ปิดท้ายด้วยความมุ่งมั่นของ SCG ในการผลักดันสังคมให้เติบโตไปด้วยกัน ปิดท้ายด้วยสิ่งที่ SCG มุ่งผลักดัน 4 ด้าน นั่นคือ 1) ฟื้นน้ำ สร้างป่า 2) พัฒนาอาชีพมั่นคง 3) ส่งเสริมสุขภาวะ และ 4) สนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ โดยในข้อ 4 มี 'สระบุรีแซนด์บ็อกซ์' เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย

คุณขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ เจ้าหน้าที่อาวุโสธนาคารโลก ผู้รับผิดชอบประเทศไทย กล่าวถึง Decarbonization ปลดล็อกเรื่องลดการปล่อยคาร์บอนว่า มี 3 แกนหลักสำคัญ คือ 1) เทคโนโลยี แต่จะมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ต้องใช้ 2) เงินลงทุน เพื่อพาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว คาดว่าจะใช้เงินอีกราว 7 - 11 ล้านล้านบาท คำถามคือจะนำเงินมาจากไหน? และ 3) การดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ซึ่งไทยต้องถอดบทเรียนจากประเทศอื่นๆ ว่ามีการกำกับดูแลกันอย่างไร
สำหรับโครงการเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City Program) ที่รัฐบาลไทยและ World Bank จับมือช่วยภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำนั้น World Bank จะร่วมสร้าง 'คาร์บอนเครดิตคุณภาพสูง' ซึ่งจะมีความต้องการคาร์บอนเครดิตสูงมากในกลุ่มบริษัทที่ประกาศตัวว่าปี 2030 จะเข้าสู่ Net Zero นอกจากนี้ World Bank จะสนับสนุนเงินลงทุนผ่านทางธนาคารรัฐ ซึ่งก็คือ EXIM Bank และคาดว่าเม็ดเงินที่จะใช้ในเรื่อง Carbon Finance จะสูงพอสมควร
คุณขวัญพัฒน์กล่าวต่อถึงเฟรมเวิร์กที่สร้างขึ้นภายใต้โครงการเมืองคาร์บอนต่ำ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมเข้าถึงแหล่งทุนและลดการปล่อยคาร์บอนได้เร็วขึ้น โดย Exim Bank และธนาคารกรุงไทยจะร่วมพิจารณาการลดปริมาณคาร์บอน (Emission Reduction) และนำทางภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่โครงการฯ โดยให้กู้เงินลงทุนในการติดตั้งโซลาร์หรือจัดหายานยนต์ไฟฟ้า แล้วโอนข้อมูลที่ลดการปล่อยคาร์บอนได้ไปยัง EXIM Bank เก็บเข้าฐานข้อมูลส่วนกลาง World Bank ก็จะนำไปแปลงเป็นคาร์บอนเครดิต นำรายได้กลับมาชดเชยหรือคืนสู่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในฐานะ Asset Holder
ความตั้งใจของเราคือ เราอยากจะสร้างกลไกและระบบนิเวศที่ช่วยพัฒนาตลาดคาร์บอน เพื่อไปตอบโจทย์เรื่องราคาคาร์บอน เรื่อง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วก็เข้าไปเสริมตลาดการเงินในแง่ของการมีเครื่องมือใหม่ๆ โดยใช้เงินที่ได้จากคาร์บอนเครดิต ลองนึกภาพว่า Intensive ขนาดนี้ การเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดพลังงานสีเขียวจะเพิ่มมากขึ้นขนาดไหน
"นอกเหนือจากนั้น บริษัทภายใต้ EXIM Bank จะอัปเกรดสินทรัพย์ภาครัฐให้หน่วยงานที่เป็น First Mover ซึ่ง ณ ตอนนี้มี กนอ. กรุงเทพมหานคร การท่าเรือแห่งประเทศไทย เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนก่อน" คุณขวัญพัฒน์อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้น
Marc Forni, Lead Disaster Risk Management Specialist, The World Bank
ปิดท้ายด้วยการบรรยายพิเศษในหัวข้อ 'Best Practices ด้าน Decarbonization ในภาคอุตสาหกรรม' โดย คุณมาร์ก ฟอร์นี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ธนาคารโลก มานำเสนอแนวทางและตัวอย่างที่ดีในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม