เมื่อรัฐฯ เปิดรับฟังความคิดเห็น เรียกเก็บค่าสำรองไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง? แล้วคุณคิดอย่างไรเมื่อโลกกำลังสู่ยุค Decentralize? | Techsauce

เมื่อรัฐฯ เปิดรับฟังความคิดเห็น เรียกเก็บค่าสำรองไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง? แล้วคุณคิดอย่างไรเมื่อโลกกำลังสู่ยุค Decentralize?

หลังจากมีข่าวออกมาว่า กกพ. หรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกข่าวว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นการเรียกเก็บค่า back up rate สำหรับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3 ที่หันไปผลิตไฟฟ้าใช้เองหรือจำหน่าย แม้ยืนยันไม่มีการเรียกเก็บกับกลุ่มโซล่าร์เซลล์และพลังงานลมก็ตาม แต่อ่านแล้วทำให้หลายคนแอบตกใจ

จากรายละเอียดข่าวเดิม (อ้างอิงจาก Energy News Center)

"กกพ. เปิดรับฟังความเห็นการเรียกเก็บค่า back up rate สำหรับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3 ที่หันไปผลิตไฟฟ้าใช้เองหรือจำหน่าย โดยหากเป็นโรงไฟฟ้าประเภทcogeneration เรียกเก็บ26.36-33.22 บาทต่อกิโลวัตต์​ ส่วนเชื้อเพลิงอื่นเรียกเก็บอัตรา 52.71-66.45 บาทต่อกิโลวัตต์ คาดประกาศใช้ ก.ย. 2560 โดยยืนยันไม่มีการเรียกเก็บกับกลุ่มโซล่าร์เซลล์และพลังงานลม 

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ.เปิดเผยว่า กกพ.ได้เปิดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง(Focus Group) สำหรับการออกหลักเกณฑ์การปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าสำรอง(back up rate)ใหม่ โดยเชิญกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมรับฟัง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.), การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าต่างๆ และกลุ่มโรงงานน้ำตาล เป็นต้น ซึ่งภายหลังจากรับฟังความเห็นแล้วจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกพ. และคาดว่าจะประกาศได้ในเดือน ก.ย. 2560 นี้ 
 
ทั้งนี้ในรายละเอียดการเปิดรับฟังความเห็นในครั้งนี้ เป็นการเตรียมออกระเบียบรองรับให้สามารถเรียกเก็บค่าback up rate สำหรับกลุ่มลูกค้าของการไฟฟ้าที่หันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองหรือจำหน่าย จนก่อให้เกิดการลดปริมาณซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าลง  แต่ยังมีความ ต้องการซื้อสำรองไฟฟ้าจากการไฟฟ้า เผื่อเอาไว้ด้วยเพื่อรองรับความเสี่ยงกรณีเกิดเหตุขัดข้องในการผลิตไฟฟ้า ของตัวเอง
 
โดยอัตราค่า back up rate ที่จะมีการเรียกจัดเก็บนั้น จะมีผลเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3 (กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 33 กิโลวัตต์ขึ้นไป) ซึ่งกลุ่มนี้หากต้องการผลิตไฟฟ้าขึ้นมาใหม่และต้องการซื้อสำรองจะมีการเรียกเก็บค่า back up rate ตามอัตราดังต่อไปนี้ 
 
โรงไฟฟ้าประเภท cogeneration จะเรียกเก็บค่า back up rate ระหว่าง 26.36-33.22 บาทต่อกิโลวัตต์​ และถ้าเป็นเชื้อเพลิงประเภทอื่นเรียกเก็บอัตรา 52.71-66.45 บาทต่อกิโลวัตต์​ ซึ่งขึ้นกับระดับแรงดันไฟฟ้าเป็นหลัก 
ทั้งนี้ในปัจจุบันมีการเรียกเก็บค่า back up rate และมีระเบียบกฎหมายรองรับอยู่แล้วใน 2 ประเภท คือ 1.ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าขึ้นมาเพื่อใช้เองเป็นหลัก แต่ต้องการซื้อสำรองไฟฟ้ากรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งเรียกเก็บback up rate ระหว่าง 52.71-66.45 บาทต่อกิโลวัตต์ และ 2.กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าขึ้นมาเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าประเภท cogeneration โดยต้องการซื้อสำรองไฟฟ้าให้กับลูกค้าตัวเอง ซึ่งค่า back up rate จะอยู่ที่ 26.36-33.22 บาทต่อหน่วย ส่วนกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นลูกค้าการไฟฟ้าและหันมาผลิตไฟฟ้าเองนั้น ยังไม่เคยมีระเบียบรองรับให้เก็บค่า back up rate จึงต้องออกระเบียบดังกล่าวด้วย
 
โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้ไฟฟ้าที่หันไปผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่อาจเข้าข่ายการใช้ back up rate ใหม่(ประเภทที่3)นี้ประมาณ 1-2 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม นายวีระพล ยืนยันว่า จะไม่เรียกเก็บกับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าที่ผลิตจากโซล่าร์เซลล์และลมทุกประเภท เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าไม่แน่นอน ประกอบกับการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ปัจจุบันเข้าระบบ เพียง 3,000 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ  0.1% ของกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่อการไฟฟ้าน้อยมาก แต่ในอนาคตยังต้องทำการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่มีความนิยมผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์หรือลมเข้าระบบจำนวนมาก โดยหากผลิตเข้าระบบถึง 20% ของกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด ก็จะมีผลกระทบสูงได้ 
 
นายวีระพล กล่าวว่า อัตราค่า back up rate ใหม่ดังกล่าว เป็นเพียงอัตราชั่วคราวที่จะใช้ไปถึงสิ้นปี 2560 นี้ หรือจนกว่า กกพ.จะจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่เสร็จ เพราะค่า back up rate ทั้งระบบก็จะมีการคำนวณใหม่ไปพร้อมกับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2561-2565"

ภาพจาก Energy News Center

วิธีการรับมือรักษาผลประโยชน์ vs. การสร้างโมเดลใหม่

เมื่อหน่วยงานที่ดูแล ออกมารับมือ เพื่อรักษาผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น  อาศัยการคิดค่าใช้จ่าย back up rate แทน จึงเกิดเป็นคำถามต่อคนในวงการเทคโนโลยีหลายคนที่เห็นการขับเคลื่อนของโลก ที่กำลังมุ่งสู่แนวคิดแบบ Decentralize กันแล้ว อะไรหลายๆ อย่างก็ต่างกระจายศูนย์กัน ทิศทางโลกก้าวสู่การลดการผูกขาด โดยภาครัฐหลายๆ ประเทศต้องแก้เกมปรับโมเดลธุรกิจเพื่อเอื้อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย

และยิ่งอ่านมาถึงจุดที่เขียนว่า "ยังไม่เรียกเก็บเชื้อเพลิงแสงอาทิตย์และลม เนื่องจากยังไม่มีความเสถียร" แล้วถ้าเกิดอนาคตมีความเสถียรและก่อให้เกิดการใช้งานจำนวนมาก รัฐฯ ทำอย่างไร?

ตอนนี้ผู้เล่นเอกชนประเทศอื่นเค้ากำลังศึกษาการนำ Blockchain มาใช้เพื่อพัฒนาซอฟแวร์เสมือน Marketplace ซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แล้ว (รายละเอียดเพิ่มเติม) โดยทำให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ขายสามารถติดต่อกันโดยตรง ไม่ผ่านคนกลาง เป็นการเปิดโอกาสให้ใครที่สามารถลงทุนเปลี่ยนหลังคาเป็นแบบ Solar cell สามารถนำพลังงานที่ผลิตไปขายได้ ผู้ใช้สามารถซื้อได้ในราคาแบบ wholesales ได้ แม้จะยังอยู่ในช่วงการทดสอบ แต่แน่นอนว่าดีกับผู้บริโภค และอาจไม่ได้ดีกับรัฐฯ แต่นั่นคือสิ่งที่หลายประเทศกำลังเผชิญ หรือรัฐฯ ต้องปรับตัวยอมรับการหาโมเดลใหม่ ที่ดีกว่าการผูกขาดตามทิศทางโลกที่เปลี่ยนไป? แล้วผู้อ่านคิดเห็นกันอย่างไรมาแชร์กันต่อได้ที่นี่

 

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เมื่อบิ๊กเทคฯ รวมตัวในพิธี Trump ทรัพย์สินรวมกันทะลุ 44 ล้านล้านบาท

พิธีสาบานตนของ Donald Trump ไม่ได้เป็นแค่เหตุการณ์ทางการเมืองธรรมดา แต่ยังเป็นเวทีรวมตัวของผู้นำ Big Tech อย่าง Elon Musk, Jeff Bezos และ Mark Zuckerberg ที่สะท้อนบทบาทสำคัญของเทคโ...

Responsive image

เวียดนามเดินหน้าแผนลดภาษี หวังดึงนักลงทุนต่างชาติเข้าตลาดหุ้น

เวียดนามเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มุ่งเน้นดึงนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่ตลาดหุ้น ด้วยมาตรการลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียม เพื่อเสริมสภาพคล่องและผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ...

Responsive image

องค์กรไทยพร้อมแค่ไหนเรื่อง AI? ซิสโก้เผยไทยพร้อมเพียง 21% แม้ลงทุนสูง แต่ผลตอบแทนยังต่ำกว่าคาด

ซิสโก้เผยผลสำรวจ 'ดัชนีความพร้อมด้าน AI ประจำปี 2024' ชี้องค์กรไทยเผชิญความท้าทายในการใช้ AI แม้จะมีการตื่นตัวและลงทุน แต่ความพร้อมโดยรวมยังต่ำ โดยมีองค์กรเพียง 21% ที่พร้อมใช้งาน ...