เริ่มต้นขึ้นแล้วกับงานสัมมนา F8 หรือ Facebook Developer Conference งานแสดงสิ่งที่จะเกิดขึ้นบน Facebook, Instagram, WhatsApp และอื่นๆ ในเครือ ซึ่งปีนี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษหลังจากเหตุการณ์ที่ Mark Zuckerberg ได้ขึ้นแถลงต่อสภา Congress เมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากการวางแผนระยะยาวเพื่อสร้างความปลอดภัยที่แถลงในงานนี้แล้ว เรายังมีประเด็นอื่นที่น่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นในงาน F8 ปี 2018 มาฝากทุกท่านกัน
บริการใหม่ล่าสุดของ Facebook ที่น่าจะถูกใจคนโสด ผู้ใช้สามารถนำโปรไฟล์ของตัวเองเปิดให้บุคคลภายนอกเห็นได้ ซึ่ง Facebook จะจับคู่จากข้อมูลที่มี และเชื่อมให้ได้คุยกันบน Platform ใหม่นอกจากช่องทาง Massenger
ที่บริการนี้เกิดขึ้นก็เพราะ Facebook ต้องการสร้าง ‘การเชื่อมโยงที่มีความหมาย’ และจะมีความหมายที่สุดหากเชื่อมโยงให้คนเป็น ‘คู่ชีวิต’ กันได้ แม้ว่าตอนนี้ Facebook จะยังมีปัญหาเรื่องการจัดการข้อมูลที่ต้องเน้นความเป็นส่วนตัว และบริการหาคู่ก็มีความละเอียดอ่อนในจุดนี้ แต่ทางด้านนักลงทุนนั้น ถือว่าตอบรับในทางที่ดี สังเกตได้จากหุ้นของ Match Group เจ้าของแอพฯ Tinder ซึ่งตกลงราว 23 เปอร์เซ็นต์ในวันที่ Facebook ประกาศบริการดังกล่าว
นับเป็นการปรับปรุง Instagram ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว เมื่อ Facebook ตัดสินใจเพิ่มฟังก์ชั่น Video Call ในช่อง Direct Massege, เพิ่ม AR Camera บน Platform นี้ และเพิ่มโปรแกรมป้องกันคอมเมนต์เชิงกลั่นแกล้งหรือ Bully และมีการปรับปรุงแถบค้นหาภายในแอพฯ ด้วย
เหตุผลที่ต้องเพิ่ม Video Call ให้ Instagram ก็เพราะความนิยมในการใช้ Direct Massege นั่นเอง อีกทั้งยังโปรแกรมป้องกันคอมเมนต์เชิงเหยียดและกลั่นแกล้ง ยังช่วยให้การใช้บริการบน Instagram มีความปลอดภัย น่าใช้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น
Facebook เพิ่มการแสดงภาพ 3D บน News Feed ซึ่งบางคนอาจได้เห็นกันบ้างแล้ว แต่ที่น่าสนใจมากกว่าคือ VR Memories ซึ่งเป็นการจำลองบรรยากาศรอบข้างภาพถ่ายและวิดีโอเก่าๆ และแสดงผลในแบบ Virtual Reality
Feature ใหม่ด้านภาพนับเป็นการเปิดวิธีการเล่นกับ Content ใหม่ๆ ของ Facebook เพื่อให้ผู้ใช้ทั้งหลายยังคงอยู่ใน Platform นี้นั่นเอง
หลังจากเปิดตัวเทคโนโลยีสร้างภาพ VR แล้ว ก็ต้องมีเครื่องเล่น VR เป็นของตัวเองด้วย ซึ่ง Facebook ก็ได้เปิดตัว Oculus GO แว่น VR แบบ Stand Alone ในราคาน่าคบหาโดยเริ่มต้นที่ 199 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 6,000 บาท ทั้งยังเปิดตัว Platform Oculus TV เพื่อเป็นช่องทางส่งมอบ Content VR ด้วยตัวเอง
ซึ่งการเปิดตัวแว่นและ Platform ดังกล่าว ช่วยให้ Facebook สามารถควบคุม Content ได้ดีกว่าใช้อุปกรณ์ของคนอื่นนั่นเอง
Massenger เป็นแอพฯ สำหรับแชตที่ได้รับความนิยม แต่เนื่องจากการเพิ่ม Feature อันมากมายทำให้หลงลืมว่าแอพฯ นี้ถูกคิดขึ้นเพื่อเชื่อมโยงการสื่อสารให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น Facebook จึงจัดการ Interface ใหม่ให้ดูเรียบง่ายขึ้น และยังเตรียมปล่อยระบบแปลภาษาในแอพฯ โดยเริ่มจากแปลระหว่างภาษาอังกฤษและภาษาสเปน เป็นอันดับแรก
แม้จะไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่การประกาศครั้งนี้เป็นสัญญาณว่า WhatsApp ได้เข้ามาเขย่าเจ้าแห่งการใช้ Story อย่าง Snapchat แล้ว ด้วยยอดผู้ใช้ที่สูงกว่า Snapchat ถึง 2 เท่า ทั้งยอดการเติบโตของ WhatsApp ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบุกตลาดระดับโลกด้วย
เพื่อตอกย้ำความน่าสนใจของ Story ใน Platform จึงเริ่มเปิดกว้างให้แอพฯ อื่นสามารถแชร์รูปหรือวิดีโอลงใน Story ได้โดยตรง ซึ่งแอพฯ ที่สามารถใช้ได้และน่าจะมีผลกระทบคือแอพฯ ฟังเพลงอย่าง Spotift และ SoundCloud รวมถึงแอพฯ ของ Action Cam อย่าง GoPro ด้วย การเปิดบริการนี้ช่วยขยายแนวทางการสร้าง Content โดยเฉพาะเชิงพาณิชย์ให้น่าสนใจมากขึ้น
หลังจากที่เกิดปัญหาการขายข้อมูลที่เปิดเผยโดย Cambridge Analytica ทาง Facebook ได้หยุดการขั้นตอนการตรวจสอบแอพฯ บน Platform ซึ่งทำให้นักพัฒนาไม่สามารถใช้งานตามปกติได้ แต่ล่าสุดในงาน F8 Facebook ได้กลับมาดำเนินขั้นตอนดังกล่าวอีกครั้ง พร้อมด้วยมาตรฐานใหม่เพื่อให้การใช้ข้อมูลเป็นไปในทางที่เหมาะสม
เรียกได้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ Cambridge Analytica ก็ทำให้ Facebook ต้องทบทวนมาตรการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลใหม่เลยทีเดียว ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงการเปิดให้ผู้ใช้สามารถลบข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ Facebook จัดเก็บเอาไว้ได้ ซึ่งแม้ Mark Zuckerberg จะกล่าวว่าอาจทำให้ลดประสบการณ์การใช้งานของ Facebook ลง แต่ก็ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวและลดผลกระทบจากเหตุการณ์ Cambridge Analytica ลงได้บ้าง
ทั้งหมดนี้คือประเด็นที่น่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นในงาน F8 ปี 2018 ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจและความปลอดภัยไปพร้อมกัน แต่สุดท้ายแล้ว ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะพา Facebook ไปทิศทางไหน ต้องติดตามกันต่อไป
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด