ฟรุตต้า ไบโอเมด ทุ่มเงิน 50 ล้านบาท ร่วมลงทุนปั้นสตาร์ทอัพ ‘ReLIFE’ สร้างโรงงานผลิตกระจกตาเทียมจากวัสดุชีวภาพแบบฝัง Stem cell และ Growth Factor เพื่อลดต้นทุนค่ารักษา ลดเวลารอรับบริจาคกระจกตาเทียม เร่งช่วยคนไข้ที่มีปัญหาทางสายตาจนถึงตาบอด พร้อมผนึกนักวิจัยชั้นนำที่ศึกษาด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อ Tissue engineering/ Bioengineering จาก Cambridge และ สวทช. เสริมทัพด้วยทีมจักษุแพทย์จุฬาฯ ดันเทคโนโลยีชีวภาพเข้าสู่วงการแพทย์ เตรียมเข็นผลิตภัณฑ์ผ่านการรับรองจาก อย. อเมริกา เพื่อระดมทุนใน Series A
ดร. ข้าว ต้นสมบูรณ์ CEO และผู้ก่อตั้ง สตาร์ทอัพ ReLIFE ได้เล่าถึงที่มาและเทคโนโลยี ซึ่งนำมาสู่การพัฒนากระจกตาเทียมจากวัสดุชีวภาพว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคทางกระจกตามากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก และรอการบริจาคกระจกตาเพื่อใช้ในการรักษา ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนกระจกตาบริจาค ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้ชีวิตประจำวันอย่างยากลำบากเป็นเวลานานจนกว่าจะได้รับการรักษา เพื่อแก้ปัญหานี้เราจึงพัฒนาไฮโดรเจลหรือเจลลี่ทำจากวัสดุชีวภาพให้มีความใสและความโค้งเหมือนกับกระจกตามนุษย์ โดยไฮดรเจลชนิดพิเศษนี้จะมี Stem Cell (เซลล์ต้นกำเนิด) จากผู้ป่วยและ Growth Factor (สารธรรมชาติที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์) ที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อกระจกตาใหม่ นอกจากนี้ภายในไฮโดรเจลยังเสริมความแข็งแรงด้วยเส้นใยนาโนเลียนแบบคอลลาเจน ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ Stem Cell และทำให้กระจกตาเทียมชีวภาพนี้มีความเหนียวเทียบเท่ากระจกตามนุษย์ ไม่ฉีกขาดง่ายระหว่างการใช้งาน ทำให้สามารถใช้แทนกระจกตาบริจาคได้อย่างปลอดภัย ซึ่งกระจกตาเทียมที่สร้างขึ้นในห้องแล็บนี้สามารถนำไปปลูกถ่ายและรักษากระจกตาผู้ป่วยได้ทันทีโดยไม่ต้องรอกระจกตาบริจาค
จากความสำเร็จนี้ ทีมวิจัยที่ประกอบไปด้วย ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ นักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สวทช. รศ.ดร.นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด รศ.พญ.วิลาวัณย์ พวงศรีเจริญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการให้บริการปลูกถ่ายกระจกตาและการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคกระจกตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ ดร.พีรพัฒน์ ทองนึก อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงตัดสินใจ Spin-off เป็นบริษัท ReLIFE เพื่อผลักดันกระบวนการทดสอบผลิตภัณฑ์กับคนไข้จริงในระดับ Clinical Trial และกระบวนการรับรองผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จาก อย. อเมริกา ให้สามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยทั่วโลกได้เร็วที่สุด โดยการจัดตั้งบริษัทในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์ BIOTEC และศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. และที่สำคัญบริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด ได้ให้การสนับสนุนเงินลงทุนและเข้ามาช่วยวางกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อผลักดันให้ ReLIFE เป็นบริษัทแรกของโลกที่สามารถสร้างกระจกตาเทียมด้วยเทคโนโลยีวิศวกรรมเนื้อเยื่อ (Tissue Engineering) ได้สำเร็จ
ด้านคุณรักชัย เร่งสมบูรณ์ ผู้ก่อตั้งและผู้นำทีมวิศวกรรม บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด เปิดเผยว่า นับเป็นอีกก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมชีวภาพที่สามารถเข้าสู่วงการแพทย์จากโปรเจกต์สตาร์ทอัพ ‘ReLIFE’ ซึ่งบริษัทเล็งเห็นความสำคัญในแง่การพัฒนาของอุตสาหกรรมชีวภาพที่จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ในอนาคต ด้วยความตั้งใจที่เราต้องการสร้างกลไกความเชื่อมโยงจากงานวิจัยดี ๆ ของนักวิจัยไทยที่มีโอกาสแข่งขันได้ในระดับโลก มาผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านการผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ร่วมกับทรัพยากร ทีมงาน เครื่องจักรที่ทาง Fruita Biomed มี ซึ่งสามารถพัฒนา ผลิตและสร้างประโยชน์ให้กับโครงการ ต่อยอดงานวิจัยออกสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยเชื่อมกับผู้กระจายสินค้าในด้านนี้ในต่างประเทศให้ได้ทันที เมื่อเราวิเคราะห์และประเมินความเป็นไปได้ของโครงการแล้ว จึงได้ลงทุนร่วมก่อตั้งด้วยการ Seed Funds มูลค่า 50 ล้านบาท เพื่อเร่งสร้างโรงงาน เครื่องจักร ไลน์การผลิต การทดสอบในระดับ Clinical Trial โดยจะมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 100 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตกระจกตาเทียมชีวภาพแบบมีการฝัง Stem Cell และ Growth Factor ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ต่อยอดจุดยืนที่เราต้องการพัฒนา Biocompatible Material (วัสดุที่เข้ากับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตได้ดี) ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แก้ปัญหาให้กับผู้คนและโลก
“..สำหรับโปรเจกต์ดังกล่าว ไม่ใช่แค่ในมุมมองด้านธุรกิจ แต่เราอิ่มใจที่ได้มีส่วนร่วมในการได้ช่วยคนที่มีปัญหาในการมองเห็นจนถึงต้องตาบอด มากกว่าหลายสิบล้านคน ให้เข้าถึงการรักษา และมีโอกาสกลับมามองเห็นได้อย่างปกติ สร้างชีวิตใหม่ ตามที่เราได้ตั้งชื่อแบรนด์ ว่า “ReLIFE – Regenerative Engineering for a Better Life” โดยวางกลยุทธ์ทิศทางให้ ReLIFE มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Embedded Tissue Engineering ใช้กับการรักษาในด้านอื่น ๆ คู่ขนานไปกับการสร้างรายได้จากการผลิต Reinforced Nanofiber ด้วยเทคนิค Electrospinning กับ Hydrogel นำไปประยุกต์ได้กับวัสดุที่ต้องการคุณสมบัติพิเศษ (High Performance Biomaterial) ได้ทั้งกับ ชุดกิจกรรม Adventure ชุดนักกีฬาอาชีพ วัสดุสำหรับแฟชั่น และวัสดุพิเศษอื่น ๆ ได้อีกด้วย ” คุณรักชัย กล่าวทิ้งท้าย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด