พลังงานไฟฟ้า หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาททุกอุตสาหกรรม ดังนั้นองค์ประกอบสำคัญในธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่จะมาเชื่อมต่อให้เทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้ามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น คงหนีไม่พ้น ‘แบตเตอรี่’ ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS)
สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็น พลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ก็ตาม ในบางครั้งด้วยการพึ่งพาความเป็นไปของธรรมชาติ อาจจะมีความผันผวนหรือความไม่แน่นอน รวมถึงปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ผลิตเสมอไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีระบบกักเก็บพลังงานที่จะเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยเพิ่มเสถียรภาพของพลังงาน ซึ่งส่วนนี้จะช่วยลดต้นทุนจากการสำรองไฟฟ้าและสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มได้ อีกทั้งยังสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพลังงานทดแทนได้ด้วย
จากการที่สามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ในช่วงความต้องการในการใช้ไฟฟ้าต่ำ ไปใช้ในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงได้ ทำให้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ผู้นำด้านธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ซึ่งเดิมเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่เป็นธุรกิจหลักอยู่แล้ว ได้ปรับกลยุทธ์มุ่งสู่การสร้าง New S-Curve ก้าวสู่ธุรกิจนวัตกรรมไฟฟ้า ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ที่จะตอบโจทย์การใช้งานของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งจะประกอบได้ด้วย 3 แกนหลัก ได้แก่ (1) Distributed Energy Resources โดยเป็นการกระจายแหล่งผลิตพลังงาน ด้วยการพัฒนา ESS (2) Transformation Enablement การพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ วึ่งเป็นการร่วมกันภายในของกลุ่มปตท. (3) Digital Energy แพลตฟอร์มพลังงานรูปแบบใหม่ ลงทุนตามโรดแมปสร้าง Sandbox เพื่อทำ Peer-to-Peer Trading
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า GPSC ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ Semi Solid กับ บริษัท ไทยทากาซาโก จำกัด (Thai Takasago Co., Ltd.) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่จากประเทศญี่ปุ่น มูลค่าสัญญาประมาณ 295 ล้านบาท เมื่อรวมอุปกรณ์ที่จัดซื้อโดย GPSC แล้วจะมีมูลค่าโครงการกว่า 1,100 ล้านบาท โดยโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่ 12 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการผลิตภายในเดือนธันวาคม 2563 นับเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งแรกของประเทศไทยที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี Semi Solid
สำหรับเป้าหมายการผลิตแบตเตอรี่ของโรงงานดังกล่าว โดยในระยะแรกจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ซึ่งบริษัทฯ มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 100 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) โดยพิจารณาจากความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามในระยะยาวจะพิจารณาสร้างโรงงานเชิงพาณิชย์แห่งใหม่ในที่ตั้งอื่น กรณีที่ขยายโครงการผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ (Giga Scale) โดยคาดว่าจะเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรที่เป็นลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมด้านพลังงานที่จะรองรับกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมทั้งทิศทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทชิตี้ ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและการใช้พลังงานสะอาดในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับธุรกิจ
“GPSC ในฐานะหนึ่งใน Flagship ของกลุ่ม ปตท. ที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมพลังงานเพื่อก้าวสู่ธุรกิจอนาคต (S-Curve) ที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี โดยแบตเตอรี่ถือเป็นธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์การเป็นผู้พัฒนาระบบ Energy Management Solution Provider ดังนั้น การพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน ได้นำเอาเทคโนโลยี Semi Solid ของ บริษัท 24M Technologies จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทฯ ได้รับลิขสิทธิ์และจัดจำหน่ายในประเทศและภูมิภาค โดยในเบื้องต้นจะผลิตแบตเตอรี่ป้อนให้กับ กลุ่ม ปตท. และพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตตามความต้องการของตลาดไปสู่ระดับการเชื่อมโยงการซื้อขายในภูมิภาค (Grid Scale) รวมถึงการเข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากทิศทางของการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศในอาเซียน มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเฉพาะ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น” นายชวลิต กล่าว
GPSC ถือหุ้นโดย บมจ.ปตท. (PTT) ในสัดส่วน 22.8% บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 22.7% บมจ.ไทยออยล์ (TOP) 8.9% บจ. ไทยออยล์ พาวเวอร์ (TP) 20.8% และนักลงทุนทั่วไป 24.8% GPSC แกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของกลุ่ม ปตท. ดำเนินธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าอุตสาหกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยปัจจุบัน มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ได้รับอนุมัติแล้วตามสัดส่วนการถือหุ้น (Equity MW) รวมประมาณ 5,026 เมกะวัตต์ ไอน้ำรวมประมาณ 2,876 ตันต่อชั่วโมง น้ำเย็นรวมประมาณ 15,400 ตัน ความเย็น และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมประมาณ 7,372 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด