รัฐบาลกรีซเริ่มบังคับใช้กฎหมายให้แรงงาน ‘ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์’ เป็นชาติแรกในยุโรป หวังเพิ่มความสามารถในการผลิต กระตุ้นเศรษฐกิจ สวนทางประเทศเพื่อนร่วมทวีปที่ต่างตั้งเป้าลดชั่วโมงการทำงาน
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2024 เป็นต้นไป ธุรกิจในประเทศกรีซ ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจบริการ 7 วัน 24 ชั่วโมง และธุรกิจที่มีปริมาณงานเยอะเป็นพิเศษ เช่นในโรงงาน เป็นต้น จะสามารถกำหนดให้พนักงานทำงานสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมงได้ ภายใต้กฎหมายแรงงานฉบับใหม่
มาตรการดังกล่าวอนุญาตให้พนักงานในอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เข้าเกณฑ์ มีทางเลือกว่าจะทำงานเพิ่ม 2 ชั่วโมงต่อวัน หรือ ทำงานกะพิเศษ 8 ชั่วโมง โดยได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม 40% ของค่าจ้างรายวัน หรือเพิ่มขึ้น 115% หากทำงานในวันอาทิตย์
สาเหตุที่ต้องขยายชั่วโมงการทำงานนั้น รัฐบาลกรีซชี้ว่าเพื่อลดความเสี่ยงสองประการ หนึ่ง จำนวนประชากรที่ลดลง และสองคือ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยนาย Kyriakos Mitsotakis นายกรัฐมนตรีของกรีซชี้ว่า จากการอพยพออกจากประเทศของชาวกรีก โดยเฉพาะผู้มีอายุน้อยที่มีการศึกษา ตั้งแต่วิกฤตการเงินเมื่อปี 2009 กลายเป็นระเบิดเวลาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประชากรขึ้น
กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน หรือ Work-life balance ได้ออกมาต่อต้าน เพราะหวั่นมาตรการนี้จะทำลายและจำกัดสิทธิแรงงาน นอกจากนั้นยังโจมตีรัฐบาลว่าตั้งเป้าจะสร้างแต่ผลกำไรให้นายทุน
ด้านนักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า ปัญหาที่แท้จริงของเศรษฐกิจกรีซคือ ความสามารถในการผลิตที่อยู่ในชั่วโมงการทำงาน ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการยุโรปเผยว่า ผลผลิตของแรงงานกรีซที่อยู่ในชั่วโมงการทำงานนั้น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปประมาณ 40% ซึ่งสาเหตุเกิดจาก ขาดการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ทรัพยากรบุคคลมีทักษะไม่เพียงพอ และระบบราชการที่มากเกินไปซึ่งเป็นภาระของผู้ประกอบการ
นอกจากนั้น ข้อมูลของ Eurostat ในปี 2023 แสดงให้เห็นว่าคนกรีซทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 41 ชั่วโมง ซึ่งสูงที่สุดในสหภาพยุโรป แต่ได้ค่าจ้างน้อยกว่า สะท้อนว่า การเพิ่มชั่วโมงการทำงาน เพื่อหวังจะเพิ่มผลที่ได้ อาจเป็นการเกาไม่ถูกที่คันนัก
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด