เปิดดูกรณีศึกษา บริษัทใหญ่ที่สุดระดับท็อปของโลก มีวิธีปรับตัวกับการมาของสตาร์ทอัปอย่างไรบ้าง | Techsauce

เปิดดูกรณีศึกษา บริษัทใหญ่ที่สุดระดับท็อปของโลก มีวิธีปรับตัวกับการมาของสตาร์ทอัปอย่างไรบ้าง

500 Startups เป็นกลุ่มผู้ลงทุนในสตาร์ทอัปที่เรียกได้ว่าแอคทีฟที่สุดในโลก โดยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาลงทุนไปราวๆ 1,600 ทุนทั่วโลกแล้ว อีกทั้งยังร่วมก่อตั้ง 500 Tuktuks ที่เป็นกองทุนสำหรับลงทุนในสตาร์ทอัปในประเทศไทยโดยเฉพาะด้วย ล่าสุดกลุ่ม 500 Startups ได้ร่วมมือกับ Insead graduate business school เพื่อศึกษาว่า บริษัทใหญ่ที่สุด 2,000 บริษัททั่วโลก (จากการจัดอันดับโดย Forbes) มีวิธีปรับตัวและรับมือกับสตาร์ทอัปอย่างไรบ้าง ในรายงานชิ้นนี้จะครอบคลุมบริษัทใหญ่ที่สุดของโลก 500 บริษัทจาก 69 อุตสาหกรรม ใน 37 ประเทศ ซึ่งเป็นการศึกษาและรวบรวมข้อมูลรอบด้านจากรายงานประจำปีและเว็บไซต์ของบริษัทเพื่อดูว่าสถานการณ์ของบริษัทเหล่านั้นกับตลาดสตาร์ทอัปเป็นอย่างไร

Arnaud Bonzom Director of Corporate Innovation ใน 500 Startups กล่าวว่า “เราค้นพบความจริงชิ้นใหม่ที่ว่า บริษัทใหญ่ที่สุดของโลกหลายๆบริษัทนั้น ไม่ได้ 'สูญเสีย' มากขนาดที่พวกเราคิด”

arnaud-how-do-enterprises-deal-with-startups2

“โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป” เขากล่าว “รวมถึงโมเดลธุรกิจของบริษัทใหญ่ๆ ด้วย” ตัวอย่างเช่น

  • Uber - บริษัทแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่มีรถแท็กซี่สักคัน
  • Alibaba - บริษัทขายปลีกที่มูลค่ามากที่สุดในโลก ไม่มีคลังเก็บสินค้า
  • Facebook - บริษัทมีเดียที่เป็นที่นิยมที่สุดในโลก ไม่ได้ผลิตเนื้อหาเองด้วยซ้ำ

มีกรณีตัวอย่างมากมายในประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นแล้วว่า จะเลือกเปลี่ยน หรือเลือกจะตายไป Blockbuster บริษัทเช่าหนังที่เคยเป็นเพื่อนรักของเราตั้งแต่สมัยเด็กหายไปไหนแล้วในปัจจุบัน หรือทำไม Kodak ถึงไม่ได้มีชื่อเสียงในตลาดกล้องดิจิทัล แล้วคุณเชื่อหรือไม่ว่า Blockbuster เคยได้โอกาสในการจะซื้อ Netflix แต่สุดท้ายก็ปล่อยมันผ่านไป เหมือนกับที่ Kodak มีโอกาสจะเข้ามาร่วมแจมในวงการกล้องดิจิทัล แต่ก็ไม่ได้ทำ สำหรับในปัจจุบันบริษัทต่างๆ มีสองทางเลือกนั่นก็คือ เปลี่ยนแปลง หรือ ตายไป ซึ่งเราคงไม่แปลกใจที่จะได้ยินว่า

1. บริษัท 100 บริษัทแรกในลิสต์ Forbes’ Global 500 กำลังดำเนินความร่วมมือกับสตาร์ทอัปอย่างจริงจังเป็นสองเท่าของ 100 บริษัทสุดท้ายในลิสต์นั้น

2. Wall-Street journal ได้ระบุถึงรายชื่อของบริษัทสตาร์ทอัปที่จะจัดอยู่ภายใต้ Billion Dollar Startups Club ว่า มี Unicorn Startups มากกว่าครึ่ง (61.7%) ที่ระดมทุนจากอย่างน้อย 1 บริษัทระดับคอร์เปอเรท (ไม่รวมสถาบันทางการลงทุนหรือธนาคาร)

3. สตาร์ทอัปสามารถระดมทุนจากบริษัทได้โดยตรง โดยไม่ต้องพึ่งพา VC แล้ว ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นว่า VC เองจะเริ่มโดนลดความสำคัญ (disruption) ลงไปในอนาคตอันใกล้นี้

Arnaud ยกตัวอย่างบริษัท DocuSign ในสหรัฐอเมริกา ที่ระดมทุนใหญ่ระดับ Series E จากเพียงกลุ่มนักลงทุนที่เป็นรูปแบบบริษัทหรือองค์กรเท่านั้น (SalesForce, Google, Recruit, Mitsui & Co, BBVA, NTT Docomo, Telstra and MKI) ไม่ได้มีจาก VC เลย กลายเป็นว่ารูปแบบการลงทุนแบบเดิมจาก VC ไม่ใช่แหล่งเงินทุนเดียวสำหรับสตาร์ทอัปอีกแล้ว เหมือนกับเป็นการพิสูจน์ว่าในโลกธุรกิจนี้ ใครก็สามารถโดน ‘disrupt’ ได้

4. บริษัทต่างๆ ไม่ได้ลงทุนแค่ในกลุ่มธุรกิจที่ใกล้เคียงกับตัวเองเท่านั้น เช่น บริษัทสตรีมมิ่งเพลงชื่อดังของโลกอย่าง Spotify ก็ได้ทุนจาก Coca-Cola

มีคำถามว่าทำไมแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพลงถึงไประดมทุนจากบริษัทเครื่องดื่ม “เมื่อเรามองดูการลงทุนหรือการพาร์ทเนอร์ร่วมมือกันในรูปแบบนี้ ระหว่างบริษัทใหญ่กับสตาร์ทอัป มันเป็นเรื่องของการที่บริษัทเหล่านั้นกำลังเผชิญกับความท้าทายหรือการแข่งขันอะไรอยู่” นาย Arnaud กล่าว ความท้าทายอย่างหนึ่งของ Spotify ก็คือการที่จะโปรโมทผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก และสิ่งที่ Spotify ได้จากการพาร์ทเนอร์กับ Coca Cola ก็คือความร่วมมือและการสนับสนุนจากยักษ์ใหญ่ที่ขายผลิตภัณฑ์อยู่แล้วทั่วโลก สิ่งที่เราอาจนึกไม่ถึงก็คือ Coca-Cola เป็นบริษัทเครื่องดื่มที่มีรถบรรทุกมากกว่ารถบรรทุกทั้งหมดของ UPS, DHL และ FedEx รวมกันเสียอีก! จากจุดนี้ทำให้คิดได้ว่า Coke เป็นบริษัทด้านการขนส่งที่ใหญ่ที่สุดของโลกเลยทีเดียว และในอีกมุมหนึ่ง Coke เองก็ได้ประโยชน์จากความร่วมมือนี้เช่นกัน คือการที่ลูกค้าของ Coke ได้สิทธิ์ฟังเพลงฟรีจาก Spotify ก็ช่วยให้เสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่าง Coke กับผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

มีอีกหลายข้อน่าสนใจจากรายงาน คือ

  • ฝ่ายวิจัยและพัฒนา (R&D) ภายในบริษัทเองก็เปิดโอกาสสำหรับการร่วมทุนใหม่ๆ: เก้าในสิบของบริษัทที่ใช้งบวิจัยและพัฒนามากสุดในโลก เป็นบริษัทที่ได้ร่วมมือกับสตาร์ทอัปแล้ว
  • ไม่ใช่แค่บริษัทอย่าง Google เท่านั้นที่ลงทุนก้อนใหญ่ในบริษัทสตาร์ทอัป แต่บริษัทรูปแบบดั้งเดิมอื่นๆ ก็มีการวิธีการลงทุนอย่างชัดเจนเช่นกัน เช่น กลุ่มบริษัทประกันภัย Ping An มีกลุ่มทุน Ping An Ventures
  • การลงทุนในสตาร์ทอัปไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะร่วมมือกับบริษัทนั้นๆ ตัวอย่างเช่น บริษัทมีเดีย ProSiebenSat.1 Media AG ให้ค่าแอร์ไทม์เป็นรายได้และหุ้นตอบแทน ผ่านบริษัทร่วมทุนในเครืออย่าง SevenVentures
  • อีกหนึ่งวิธีที่นิยมในวงการสตาร์ทอัปคือการสร้าง accelerator เพื่อค้นหาธุรกิจที่น่าสนใจใหม่ๆ ซึ่งตอนนี้บริษัทที่ไม่ใช่บริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีก็ทำได้แล้ว เช่น Diageo (ดิอาจิโอ) มี accelerator สำหรับผลิตเหล้ายี่ห้อใหม่ๆ เรียกว่า Distill Ventures หรือแม้กระทั่ง CIA ก็มีบริษัท IN-Q-TEL
  • การร่วมมือแบบเพียงบริษัทเดียวต่อสตาร์ทอัปไม่ใช่แค่ทางเลือกเดียวเท่านั้น: บริษัทระดับโลกต่างๆ ก็ร่วมมือกันเองเช่นกัน อย่างกองทุน The Ecomobility Ventures ถูกรวมมาจาก 5 บริษัทใหญ่ คือ Air Liquide, Michelin, Orange, SNCF และ Total
  • ในขณะที่มีถึง 8 วิธีในการจะเกี่ยวดองกับเหล่าสตาร์ทอัป (หรือที่ 500 Startups เรียกว่า ความสัมพันธ์กับสตาร์ทอัปแบบมีดพกสวิส - Swiss Army Knife of Startup Engagement) ซึ่งก็คือ การควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ (M&A), การลงทุน (investments), การนำบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมเข้าจดทะเบียน (spin-offs), การเข้าร่วมสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ (accelerators & incubators), การสนับสนุนด้านงานอีเว้นท์ (events), การสนับสนุนด้านบริการ (support services), การจัดโปรแกรมต่างๆ สำหรับสตาร์ทอัป (startup programs) และ ธุรกิจประเภท co-working space
  • ประเทศที่ตื่นตัวที่สุดในการร่วมมือกับสตาร์ทอัพคือ ฝรั่งเศส ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา โดยมี 23 จากบริษัท 25 บริษัทระดับท็อปของฝรั่งเศสที่ได้มีการร่วมมือกับสตาร์ทอัปแล้ว
  • จาก 5 ประเทศที่มีการร่วมมือกับสตาร์ทอัปมากที่สุด มีประเทศจากยุโรปมากถึง 4 ประเทศ (ฝรั่งเศส 92.0%, เยอรมนี 71.4%, สวิสเซอร์แลนด์ 71.4%, และ สหราชอาณาจักร 53.3%) ญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 4 มี 56.8% ส่วนสหรัฐอเมริกาไม่ได้ติดหนึ่งในห้า มีอัตราความร่วมมืออยู่เพียง 45.5% จากบริษัทสหรัฐอเมริกาทั้งหมด
  • บริษัทด้านเภสัชกรรม, โทรคมนาคม และธนาคาร เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความร่วมมือกับสตาร์ทอัปเหนียวแน่นที่สุด

arnaud-how-do-enterprises-deal-with-startups

ข้อเสนอแนะ สำหรับบริษัทที่จะร่วมมือทำงานกับสตาร์ทอัป

มีหลายๆ บริษัทกำลังมองหาจังหวะที่เหมาะสม และจะเป็นประโยชน์สูงสุดในการเริ่มร่วมงานกับสตาร์ทอัป เช่น dtac ซึ่งได้เปลี่ยนจากการลงทุนในระดับ series A ซึ่งต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นการสู้ชนกับนักลงทุนรายใหญ่ต่างๆ มาเป็นการทำโครงการ accelerator ทำให้ dtac เองก็ได้สิทธิ์เข้าร่วมมือกับสตาร์ทอัปตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น แต่ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะบริษัทสตาร์ทอัปในช่วงต้นยังมีมูลค่าต่ำมาก

บริษัทใหญ่ๆในลิสต์ 500 บริษัทใหญ่ที่สุดของโลกใช้วิธีควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (Mergers & Acquisitions - M&A) และบางบริษัทก็ทำวิจัยและพัฒนาด้วย (Research & Development - R&D) จากงานวิจัยระบุว่า ความร่วมมือระหว่างบริษัทและสตาร์ทอัปส่วนใหญ่เกิดขึ้นใน 2 ช่วงนี้ โดยนาย Arnaud ได้แนะนำแนวทางสำหรับบริษัทต่างๆ ดังนี้

  • บริษัทที่สนใจเข้าร่วมกับสตาร์ทอัปที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นมากๆ สามารถเข้าร่วมกับโปรแกรมอย่าง Startup Grind, Startup Weekend หรือ Lean Startup Machine ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เน้นบ่มเพาะกลุ่มคนที่มีไอเดีย ถือว่ากำลังเข้าร่วมในช่วงต้นของกระบวนการ คล้ายกับช่วง R&D แบบปกติของบริษัท หมายเหตุ จาก Techsauce: สามรายชื่อข้างต้นเป็นตัวอย่างโปรแกรมจากต่างประเทศที่นาย Arnaud หยิบยกขึ้นมา ซึ่งมีจัดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน ในขณะเดียวกัน ในประเทศไทยก็มีโปรแกรมในกลุ่มประเภทนี้ เช่น HUBBA Stadium
  • ส่วนบริษัทที่ลงทุนในระดับ Series D และ E จะใกล้เคียงกับการเข้าร่วมแบบการควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพราะเป็นการเข้าร่วมในตอนที่ตัวผลิตภัณฑ์เอง สถานการณ์ตลาด หรือส่วนประกอบอื่นๆ ลงตัวแล้วหมายเหตุ จาก Techsauce: สำหรับในไทย Series การลงทุนจะไม่ใหญ่มาก อาศัยการเติบโตด้วยตนเองด้วย สตาร์ทอัปในระดับ Series A ของไทยเอง ก็ถือว่าเป็นสตาร์ทอัปที่เริ่มมีส่วนประกอบต่างๆ ลงตัวแล้ว

โดยสรุปแล้ว รายงานจาก 500 Startups และ Insead แสดงให้เห็นว่าบริษัทส่วนใหญ่เล็งเห็นประโยชน์จากการร่วมมือดำเนินความสัมพันธ์กับเจ้าของกิจการ และได้ร่วมลงทุนในสตาร์ทอัปไม่วิธีการใดก็วิธีการหนึ่งแล้ว ทีนี้ก็เหลือแค่เมื่อไรเท่านั้น ที่เราจะได้เห็นบริษัทใหญ่ๆ ที่เหลือ แห่เข้าร่วมแจมมหกรรมความร่วมมือสร้างความสัมพันธ์กับเหล่าสตาร์ทอัปต่อไป


สำหรับบริษัทที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มจาก 500 Startups และ Insead’s จำนวน 51 หน้าได้ที่: How do the Biggest Companies Deal with the Startup Revolution? รวมถึงติดตาม Techsauce เพิ่มเติม เรายังมีสาระความรู้ และข่าวคราวเรื่องสตาร์ทอัปและคอร์เปอเรท มานำเสนอเพิ่มเติมแน่นอน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

OpenAI เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ใน ChatGPT วิเคราะห์-โต้ตอบวิดีโอได้แบบเรียลไทม์

OpenAI อัปเดทความสามารถ ChatGPT บนโหมดสนทนาด้วยเสียงหรือ Advanced Voice Mode สามารถวิเคราะห์และโต้ตอบจากวิดีโอได้แบบเรียลไทม์ นับเป็นการเปิดตัวฟีเจอร์ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ในแคมเปญ...

Responsive image

Microsoft เปิดตัว Phi-4 โมเดล AI รุ่นใหม่ เน้นแก้โจทย์คณิตศาสตร์

Phi-4 ถูกพัฒนาภายใต้แนวคิด Small Language Model (SLM) มีขนาด 14 พันล้านพารามิเตอร์ ซึ่งเล็กกว่าโมเดลภาษาขนาดใหญ่อย่าง GPT-4 แต่ยังคงความรวดเร็วและต้นทุนการประมวลผลที่ต่ำกว่า และพร้...

Responsive image

เคอีเอ็กซ์ประกาศ การลาออกของซีอีโอ พร้อมตั้งผู้บริหารร่วม (Co-CEO) รับช่วงต่อ

บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งการลาออกจากตำแหน่งประธ...