ช่วงเดือนสิงหาคม 2024 เกิดเหตุเพลิงไหม้รถเก๋งไฟฟ้า Mercedes-Benz ที่จอดไว้เฉยๆ ในลานจอดรถใต้ดินโดยไม่ได้เสียบชาร์จ นักดับเพลิงต้องใช้เวลา 8 ชั่วโมงในการควบคุมเพลิง ซึ่งส่งผลให้รถยนต์ที่จอดอยู่ในลานจอดรถเสียหายมากกว่า 140 คัน พร้อมต้องอพยพผู้คนในตึกกว่า 700 ชีวิตไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว
เหตุการณ์นี้ส่งผลต่อความกังวลของประชาชนเกาหลีใต้ด้านการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องความเสี่ยงจากไฟไหม้รถ EV รวมถึงการขาดกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของเกาหลีใต้ ส่งผลให้เกิดการหารือครั้งใหญ่ระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ และฝ่ายนิติบัญญัติ นำไปสู่การยกเครื่องนโยบายเกี่ยวกับ EV ครั้งใหญ่ในประเทศ
เกาหลีใต้ ได้จัดตั้งโครงการเพื่อให้รัฐฯ ส่วนร่วมในการตรวจสอบรับรองความปลอดภัยของแบตเตอรี่รถ EV โดยมีบริษัท 5 แห่งเข้าร่วมโครงการดังกล่าว รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศอย่าง Hyundai และ KIA ตลอดจนผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ LG Energy Solution
โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสค์เพื่อให้รัฐบาลตรวจสอบ และรับรองความปลอดภัยของแบตเตอรี่ EV ก่อนถูกนำมาติดตั้งในรถ ก่อนหน้านี้รถ EV ถูกขายในเกาหลีใต้โดยไม่มีการทดสอบความปลอดภัยจากบุคคลที่สาม แต่ในโครงการนี้ หน่วยงานของรัฐฯ เช่น Korea Automobile Testing & Research Insitute จะทำการทดสอบแบตเตอรี่อย่างเข้มงวดก่อนการติดตั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานการรับรองความปลอดภัยที่รัฐบาลสนับสนุน
รัฐบาลยังบังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ ต้องเปิดเผยรายละเอียดรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ประเภทแบตเตอรี่ รูปทรงแบตเตอรี่ วัตถุดิบหลักที่ใช้ รวมถึงเทคโนโลยีการผลิต ต่างจากก่อนหน้านี้ที่บริษัทจะบอกรายละเอียดแค่เฉพาะความจุ และกำลังสูงสุดของแบตเตอรี่
รัฐบาลยังกำหนดให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องติดตั้ง BMS (ระบบจัดการแบตเตอรี่) ให้กับรถรุ่นเก่าที่ไม่มี และต้องอัปเดต BMS ให้กับรถรุ่นใหม่ๆ ที่มีอยู่แล้ว โดยข้อมูลที่ได้จาก BMS จะเริ่มมีการทดลองรายงานด้านความเสี่ยงของแบตเตอรี่ไปยังผู้ผลิต เจ้าของรถ และหน่วยงานดับเพลิงให้ทราบล่วงหน้า
ที่สำคัญรัฐบาลจะเพิ่มรายการตรวจสอบแบตเตอรี่เมื่อตรวจสภาพรถประจำปี เช่น การตรวจสอบอุณหภูมิแบตเตอรี่ ประสิทธิภาพการชาร์จ และจะใช้ระบบจัดการประะวัติแบตเตอรี่เพื่อดูแลความปลอดภัยตลอดใช้งาน
Credit : Yonhap News Agency
รัฐบาลเกาหลีใต้ยังกำหนดให้อาคารจอดรถใต้ดินต้องมีระบบดับเพลิงที่ทันสมัย เช่น การติดตั้งสปริงเกอร์ในลานจอดใต้ดินแบบ Pre-operation sprinklers รวมถึงการบังคับใช้วัสดุทนไฟกับผนัง เพดาน และเสาในลานจอดรถใต้ดิน
นอกจากนี้ รัฐบาลฯ จะส่งรถดับเพลิงขนาดเล็กไปทั่วประเทศเริ่มตั้งแต่ปี 2025 เพื่อให้สามารถเข้าไปยังที่จอดรใต้ดินได้ พร้อมแผนการพัฒนารถดับเพลิงไร้คนขับขนาดเล็กให้แล้วเสร็จอย่างเร่งด่วน มาตรการเหล่านี้นับว่ามีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่มีความหนาแน่นด้านจำนวนคนสูง ซึ่งสถานีชาร์จส่วนมากจะติดตั้งอยู่ในโรงจอดรถใต้ดิน
รวมทั้งรัฐบาลจะเพิ่มขีดความสามารถของอุปกรณ์ดับเพลิง โดยส่งอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น ถังเก็บน้ำเคลื่อนที่ อุปกรณ์ฉีดพ่น ไปยังสถานีดับเพลิง 240 แห่งทั่วประเทศ พร้อมปรับปรุงคู่มือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ไฟฟ้า
แม้ว่าเหตุการณ์เพลิงไหม้รถยนต์ไฟฟ้าในเกาหลีใต้ครั้งนี้ จะไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ก็นับว่าเป็นบทเรียนสำคัญที่เร่งให้เกาหลีใต้จำเป็นต้องปรับนโยบายด้านความปลอดภัย ให้เหมาะสมกับรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งเทรนด์สำคัญในอีกหลายปีข้างหน้า
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด