IMD เผยอันดับขีดความสามารถการแข่งขันไทย ปี 66 ไต่ขึ้น 3 อันดับ พบปัจจัยบวกทุกด้าน เศรษฐกิจ ประสิทธิภาพภาครัฐและภาคธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีเป็นบวก | Techsauce

IMD เผยอันดับขีดความสามารถการแข่งขันไทย ปี 66 ไต่ขึ้น 3 อันดับ พบปัจจัยบวกทุกด้าน เศรษฐกิจ ประสิทธิภาพภาครัฐและภาคธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีเป็นบวก

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2566 

โดยปีนี้ไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นถึง 3 อันดับ โดยมีอันดับดีขึ้นในทุกปัจจัยโดยเฉพาะด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่มีอันดับดีขึ้นถึง 18 อันดับ  ทำให้ไทยมีอันดับดีขึ้น 3 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ

IMD เผยอันดับขีดความสามารถการแข่งขันไทย ปี 66

ปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 34 ในปีที่แล้วมาอยู่ที่อันดับ 16 ในปีนี้ อันเนื่องมาจากประเด็นการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) และการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่ปรับตัวดีขึ้นมากภายหลังจากการเปิดประเทศหลังวิกฤตโควิด-19

ประสิทธิภาพภาครัฐ ภาคธุรกิจดีขึ้น 

ในด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) มีอันดับดีขึ้นถึง 7 อันดับ จากอันดับ 31 ปีที่แล้ว มาอยู่อันดับที่ 24 และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ดีขึ้น 7 อันดับ จากอันดับที่ 30 ในปีก่อน มาอยู่ อันดับที่ 23 

โดยในด้านประสิทธิภาพของภาครัฐเป็นผลมาจากอันดับที่ดีขึ้นของประเด็นด้านกฎหมายธุรกิจ (Business Legislation) กรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) และการคลังภาครัฐ (Public Finance) 

ในขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจก็มีอันดับดีขึ้นในเกือบทุกปัจจัยย่อยโดยเฉพาะด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productivity & Efficiency) ที่มีอันดับดีขึ้นถึง 9 อันดับจากปี 2565 

โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดีขึ้น แต่ยังต้องพัฒนาการศึกษา สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

ส่วนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่มีอันดับดีขึ้น 1 อันดับจากอันดับที่ 44 ในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 43 ในปีนี้ มีปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้นเพียงด้านเดียวคือโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี

ในขณะที่เรื่องการศึกษา (Education) และสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม (Health & Environment) มีอันดับที่ลดลงและยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ไทยต้องเร่งพัฒนา

สิงคโปร์ยังคงเป็นผู้นำอาเซียน

เมื่อเปรียบเทียบอันดับความสามารถในการแข่งขันของเขตเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับโดย IMD 5 เขตเศรษฐกิจ สิงคโปร์ยังคงเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับสูงสุดในภูมิภาคโดยอยู่ในอันดับที่ 4 รองลงมาคือ มาเลเซียอันดับ 27 ไทยอันดับ 30 อินโดนีเซียอันดับ 34 และฟิลิปปินส์อันดับ 52 ตามลำดับ 

ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า อินโดนีเซียมีอันดับดีที่ขึ้นถึง 10 อันดับจากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 44 มาอยู่ที่อันดับ 34 ในปีนี้ จากปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) 

เดนมาร์กรักษาแชมป์ดีที่สุดในโลก 

เมื่อมองภาพรวมในระดับโลก เดนมาร์กยังคงเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว รองลงมาได้แก่ ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และ เนเธอร์แลนด์ตามลำดับ

โดย IMD พบว่าเขตเศรษฐกิจที่อยู่อันดับต้น ๆ ของโลกในปีนี้ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็ก (Smaller Economies) ที่มีกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional frameworks) ที่ดี รวมถึงมีระบบการศึกษาที่แข็งแกร่ง (Strong education systems) นอกจากนั้น ประเทศที่มีแหล่งผลิตพลังงานที่มั่นคง ห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง และดุลการค้าที่ดี เช่น จีน ซาอุดีอาระเบีย สวิตเซอร์แลนด์ และไต้หวัน จะสามารถรักษาหรือพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างมั่นคงท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA Center for Competitiveness) กล่าวว่า “ผลการจัดอันดับในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นในภาพรวมระดับโลกและผลของประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถในการปรับตัว (Agility & Resiliency) ยังคงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน โดยภาครัฐไทยต้องพยายามปรับปรุงนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจและประชาชน ในส่วนของระบบการศึกษาก็มีความสำคัญที่จะต้องยกระดับคุณภาพให้ทันสมัย ในการผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของโลกยุคใหม่ และภาคเอกชน ก็ควรให้ความสำคัญกับการสร้างและรักษาพันธมิตรทางการค้า เพราะถือเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจในยุคแห่งความไม่แน่นอนต่าง ๆ”

ทั้งนี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพขององค์กรและบุคลากรในด้านการบริหารจัดการโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างความสามารถในการติดตามและคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและตั้งเป้าหมายเชิงรุกผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของ TMA และในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 จะมีการจัดงาน Executive Forum on Competitiveness 2023 “Competitiveness in the New Reality” ขึ้น โดยจะมีวิทยากรจาก IMD มานำเสนอถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมของโลกที่มีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศและข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างเจาะลึกในงานดังกล่าว

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

นาทีประวัติศาสต์! นายกฯ ร่วมพิธีลงนาม FTA ไทย-เอฟตา ฉบับแรกไทยกับยุโรป ความสำเร็จรัฐบาลแพทองธาร สร้างโอกาสยุคทองการค้า-ลงทุน ทำเงินเข้าประเทศ

ไทยร่วมลงนามความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) กับ “เอฟตา” หรือ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Associations : EFTA)...

Responsive image

สรุปภาพรวมงาน WEF 2025 ปีนี้มีเรื่องอะไรน่าสนใจบ้าง ?

อ่านสรุปประเด็นสำคัญจากงานประชุม World Economic Forum 2025 (Davos) รวมถึงการหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงระดับโลก อนาคตของงาน ปัญญาประดิษฐ์ การลดคาร์บอน และบทบาทของประเทศไทยบนเวทีโลก...

Responsive image

ทรัมป์สั่งพักงานเจ้าหน้าที่ DEI ในรัฐบาลสหรัฐ เดินหน้ายุบหน่วยงานถาวร

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางทุกคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้านความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม (DEI) หยุดปฏิบัติงานชั่วคราวโดยยังได้รับเงิน...