IMD จัดอันดับ Digital Competitiveness ปีนี้ ไทยร่วงจาก 35 เป็น 37 ถ้าอยากขยับขึ้น...ต้องแก้ไขตรงไหนก่อน? | Techsauce

IMD จัดอันดับ Digital Competitiveness ปีนี้ ไทยร่วงจาก 35 เป็น 37 ถ้าอยากขยับขึ้น...ต้องแก้ไขตรงไหนก่อน?

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งสร้างเสริมความเป็นเลิศของผู้บริหารและร่วมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2567 ว่าปีนี้ ไทยคว้าอันดับที่ 37 ลดลง 2 อันดับจากปีที่แล้ว จากทั้งหมด 67 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ

IMDเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 World Competitiveness Center แห่งสถาบัน IMD – International Institute for Management Development ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เผยแพร่ รายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประจำปี 2567 ของ 67 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยในปีนี้ มี 3 เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการจัดอันดับเพิ่มเติมจากปีที่แล้ว ได้แก่ กานา ไนจีเรีย และเปอร์โตริโก

การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล โดย IMD World Competitiveness Center ปีนี้มีการเพิ่ม 5 ตัวชี้วัดใหม่

รายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล (IMD World Digital Competitiveness Ranking) เป็นการวัดศักยภาพของประเทศในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนา หรือที่เรียกว่า Digital Transformation ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม โดยเป็นการวิเคราะห์ประเมินใน 3 ด้านคือ ความรู้ เทคโนโลยี และ ความพร้อมสำหรับอนาคต ซึ่งจากรายงานการจัดอันดับในปี 2567 แสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลสูง เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมของตนเองมาก สะท้อนจากจำนวนการจดสิทธิบัตรของเทคโนโลยีขั้นสูง (High-tech patent grants) ความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Strong enforcement of IP rights) และความมีประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จาก e-governance (effective utilization of e-governance benefits)

ในปีนี้ เพื่อให้การจัดอันดับสะท้อนภาวการณ์ปัจจุบันด้านดิจิทัลมากขึ้น IMD เพิ่มตัวชี้วัดใหม่ในมิติของธรรมาภิบาล ธุรกิจ และสังคม รวมถึง AI อีก 5 ตัวชี้วัดผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประจำปี 2567 โดย IMD World Competitiveness Center ได้แก่ 

  • 1) Computer science education index 
  • 2) AI articles 
  • 3) AI Policies passed into law 
  • 4) Secure internet servers 
  • 5) Flexibility and adaptability   

ทั้งนี้ ในรายงานผลการจัดอันดับในปีนี้ IMD ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของแต่ละประเทศในยุคปัจจุบัน ได้แก่ ความไม่เท่าเทียมกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล (Disparity in the development of digital infrastructure) ทั้งในระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศ และ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical tensions) ที่ทำให้บางประเทศแข่งขันการเป็นผู้นำด้านดิจิทัลและเกิดการแบ่งแยกของ global digital governance และเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือในด้านที่สำคัญ เช่น Cyber Security และ Data Privacy  ซึ่งจะส่งผลถึงความไม่เท่าเทียมในการพัฒนาด้านดิจิทัลอีกทางหนึ่ง

ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลสูงที่สุด 10 อันดับแรก

จากจำนวน 67 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งได้รับการจัดอันดับพบว่า ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลสูงที่สุด 10 อันดับแรกในปี 2567 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นประเทศในทวีปยุโรป อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เป็นที่น่าสนใจว่า มีประเทศในทวีปเอเชียติดใน 10 อันดับแรกถึง 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ในส่วนของสหรัฐอเมริกา ที่อยู่อันดับ 1 ในปีที่แล้ว ลดลง 3 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 4 ในปีนี้ เป็นผลมาจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์กับมหาอำนาจอีกประเทศอย่างจีน ต่อความสามารถในการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีในตลาดโลก และภูมิทัศน์ด้านดิจิทัล (Digital landscape) ของประเทศ  

สำหรับประเทศ/เขตเศรษฐกิจอื่นที่ได้รับการจัดอันดับใน 10 อันดับแรก ได้แก่ 

  • อันดับ 1 สิงคโปร์ ขยับดีขึ้น 2 อันดับ จากอันดับที่ 3 ในปีก่อน จากความแข็งแกร่งของตัวชี้วัด Management of cities, High-tech patent grants, Banking and financial services และ Public-private partnerships ตามมาด้วย 
  • อันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์ ที่ดีขึ้น 3 อันดับจากปีที่แล้ว จากอันดับที่ดีขึ้นอย่างมากของตัวชี้วัด High-tech exports (%), E-Participation และ Cyber security 
  • อันดับ 3 เดนมาร์ก ปรับอันดับดีขึ้น 1 อันดับ จากการที่ประเทศให้ความสำคัญและอันดับที่ยอดเยี่ยมในอันดับที่ 1 ของตัวชี้วัด Employee training, Country credit rating, Agility of companies, Attitudes towards globalization, E-Government และ Secure internet servers 

ในส่วนของประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่อยู่ในอันดับ 4 – 10 ของการจัดอันดับในปีนี้ อันดับ 4 สหรัฐอเมริกา อันดับ 5 สวีเดน อันดับ 6 เกาหลีใต้ อันดับ 7 ฮ่องกง อันดับ 8 เนเธอร์แลนด์ อันดับ 9 ไต้หวัน และอันดับ 10 นอร์เวย์ 

3 ปัจจัยหลักที่ใช้จัดอันดับดิจิทัลของไทยในปี 2567 ดีขึ้น 2 ด้าน ถดถอย 1 ด้าน

ในปี 2567 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 37 ลดลง 2 อันดับจากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับอันดับลดลงค่อนข้างมากของปัจจัยด้าน เทคโนโลยี (Technology) จากปีก่อน รวมถึงผลจากการเพิ่มเข้ามาของ 5 ตัวชี้วัดที่ใช้จัดอันดับที่ส่วนใหญ่ ไทยยังมีขีดความสามารถในการแข่งขันน้อย โดยเฉพาะตัวชี้วัดที่มีความเกี่ยวข้องกับ AI 

ผลการจัดอันดับด้านดิจิทัลของไทยในปัจจัยหลัก 3 ด้าน พบว่า ผลการจัดอันดับในปีนี้ ประเทศไทยมีผลการจัดอันดับดีขึ้นเล็กน้อยใน 2 ด้าน ได้แก่ ด้านความรู้ (Knowledge) และ ด้านความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Readiness) ที่ต่างดีขึ้น 1 อันดับจากปีก่อน มาอยู่ที่อันดับ 40 และอันดับ 41 ตามลำดับ ในขณะที่ ด้านเทคโนโลยี (Technology) ที่ไทยมีอันดับดีมาโดยตลอด กลับปรับอันดับลงค่อนข้างมากถึง 8 อันดับจากปี 2566 มาอยู่ที่อันดับ 23 ในปีนี้ โดยมีรายละเอียดของแต่ละปัจจัยหลัก ดังนี้

  • ความรู้ (Knowledge)

ด้านความรู้ เป็นการวัดถึงศักยภาพของประเทศในการค้นคว้า ทำความเข้าใจ และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ผ่านตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับศักยภาพของบุคลากร การลงทุนด้านการศึกษา และการวิจัยพัฒนา ในปี 2567 IMD มีการเพิ่มตัวชี้วัดเข้ามาในการวิเคราะห์จัดอันดับทั้งหมด 2 ตัวชี้วัด แบ่งเป็นภายใต้ปัจจัยย่อยด้านการฝึกอบรมและการศึกษา (Training & education) 1 ตัวชี้วัด คือ Computer science education index ไทยอยู่ที่อันดับ 39 และอีก 1 ตัวชี้วัดภายใต้ปัจจัยย่อยด้านการให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Concentration) คือ AI articles ซึ่งไทยอยู่อันดับที่ 57 

ปี 2567 ไทยมีผลการจัดอันดับด้านความรู้ (Knowledge) ดีขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย 1 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 40 เป็นผลมาจากการปรับอันดับดีขึ้นอย่างมากถึง 12 อันดับของปัจจัยย่อยด้านการฝึกอบรมและการศึกษา (Training & education) ที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยย่อยที่ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ค่อนข้างน้อยตลอดมา จากการที่ตัวชี้วัด Hard Data 2 ตัวชี้วัด ขยับอันดับดีขึ้นมาก ได้แก่ Graduate in Sciences อันดับ 13 ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 25 อันดับ และ Total public expenditure on education อันดับ 32 ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 19 อันดับ 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ปัจจัยย่อยนี้ มีตัวชี้วัดที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในปีนี้ 1 ตัว คือ  Computer science education index โดยไทยมีขีดความสามารถระดับปานกลาง ในอันดับ 39 

ในขณะที่ปัจจัยย่อยด้านกลุ่มคนที่มีความสามารถ (Talent) และด้านการให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Concentration) ต่างมีอันดับลดลงจากปีก่อน 4 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 39 และ 42 ตามลำดับ จากอันดับที่ลดลงของหลายตัวชี้วัด ไม่ว่าจะเป็นตัวชี้วัด Educational assessment PISA – Math, Management of cities, Digital/Technological skills, High-tech patent grants และ Total expenditure on R&D (%) 

โดยภายใต้ปัจจัยย่อยด้านการให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Concentration) ก็มีตัวชี้วัดที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในปีนี้ 1 ตัว คือ AI articles ที่ไทยมีขีดความสามารถค่อนข้างน้อยมากในอันดับ 57 

ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่นับว่ายังคงเป็นจุดอ่อน (Weaknesses) อย่างต่อเนื่องของไทย ที่ต้องเร่งให้ความสำคัญในการพัฒนาคือ การจ้างงานบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค (Scientific and technical employment) รวมถึงตัวชี้วัดด้านการศึกษาที่ไทยมีอันดับค่อนข้างรั้งท้าย ได้แก่ ตัวชี้วัด Pupil-teacher ratio (tertiary education) 

  • เทคโนโลยี (Technology) 

ด้านเทคโนโลยี เป็นการวัดถึงปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงความพร้อมของเงินทุนที่ใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยี ในปี 2567 IMD มีการเพิ่มตัวชี้วัดเข้ามาในการวิเคราะห์จัดอันดับทั้งหมด 2 ตัวชี้วัด แบ่งเป็นภายใต้ปัจจัยย่อยด้านกรอบกฎหมาย (Regulatory Framework) 1 ตัวชี้วัด คือ AI policies passed into law และอีก 1 ตัวชี้วัดภายใต้ปัจจัยย่อยด้านโครงสร้างด้านเทคโนโลยี (Technological Framework) คือ Secure internet servers     

ด้านเทคโนโลยี ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ไทยมีอันดับขีดความสามารถสูงกว่าโดยเปรียบเทียบกับอีก 2 ปัจจัย อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ด้านเทคโนโลยีของไทย มีการปรับอันดับลดลงค่อนข้างมาก จากปัจจัยย่อยด้านโครงสร้างด้านเทคโนโลยี (Technological Framework) ที่อันดับลดลง 6 อันดับจากปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 21 ในปี 2567

จากอันดับที่ลดลงของตัวชี้วัด High-tech exports (%) และ Internet bandwidth speed รวมถึงผลจากอันดับที่ค่อนข้างต่ำของตัวชี้วัดที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในปีนี้ ได้แก่ Secure internet servers อันดับ 48 

นอกจากนี้ ปัจจัยย่อยด้านกรอบกฎหมาย (Regulatory Framework) ก็มีอันดับลดลงจากปีที่แล้ว   5 อันดับเช่นกัน มาอยู่ในอันดับ 36 จากตัวชี้วัดที่เป็นผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร (EOS) 3 ตัวชี้วัด ที่อันดับลดลงค่อนข้างมาก ได้แก่ ตัวชี้วัด Immigration laws, Intellectual property rights และ Scientific research legislation รวมถึงตัวชี้วัดที่เพิ่มเข้ามาใหม่ภายใต้ปัจจัยย่อยนี้ 1 ตัว คือ AI policies passed into law ซึ่งไทยมีขีดความสามารถในระดับปานกลางในอันดับ 39 ในขณะที่ ปัจจัยย่อยเรื่องตลาดทุน (Capital) มีอันดับลดลง 1 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 13 จาก 67 ประเทศ เป็นผลจากตัวชี้วัดที่มีอันดับลดลงคือ Funding for technological development, Investment in Telecommunications และ Venture capital  

  • ความพร้อมสำหรับอนาคต (Future readiness) 

ด้านความพร้อมสำหรับอนาคต เป็นการพิจารณาถึงความสามารถของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสังคม ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งพิจารณาจากตัวชี้วัดด้านการใช้อินเทอร์เน็ตในกิจกรรมต่าง ๆ การใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม และการใช้เครื่องมือ data analytics ในภาคธุรกิจ และ e-Government ในภาครัฐ เป็นต้น โดยในปี 2567 IMD มีการเพิ่มตัวชี้วัดเข้ามาในการวิเคราะห์จัดอันดับอีก 1 ตัวชี้วัด ภายใต้ปัจจัยย่อยทัศนคติที่ยืดหยุ่น (Adaptive Attitudes) คือ Flexibility and adaptability ซึ่งเป็นตัวชี้วัดจากผลการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร (EOS) เกี่ยวกับความยืดหยุ่นและศักยภาพในการปรับตัวเมื่อต้องเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ ของบุคลากรในประเทศ 

ด้านความพร้อมสำหรับอนาคต ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ไทยมีอันดับขีดความสามารถไม่มากนัก โดยปรับอันดับดีขึ้นจากปีที่แล้วเพียง 1 อันดับ มาอยู่อันดับ 41 ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม มี 2 ปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้นค่อนข้างมาก ได้แก่ ปัจจัยย่อยเรื่อง ความคล่องตัวของธุรกิจ (Business Agility) ดีขึ้น 9 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 25 จากตัวชี้วัด Entrepreneurial fear of failure ที่อันดับดีขึ้นถึง 14 อันดับจากปีก่อนมาอยู่ในอันดับที่ 37 และ ปัจจัยย่อย ทัศนคติที่ยืดหยุ่น (Adaptive Attitudes) ที่มีอันดับดีขึ้น 6 อันดับ จากตัวชี้วัด Smartphone possession อันดับ 26 ดีขึ้น 4 อันดับ และ Internet retailing อันดับ 38 ดีขึ้น 2 อันดับ จากอัตราการครอบครองสมาร์ทโฟนของครัวเรือนไทยที่มากขึ้น และจำนวนมูลค่าธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่สูงขึ้น 

เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน รวมถึงตัวชี้วัดที่เพิ่มเข้ามาในการวิเคราะห์จัดอันดับอีก 1 ตัวชี้วัด ภายใต้ปัจจัยย่อยนี้ คือ Flexibility and adaptability ซึ่งเป็นตัวชี้วัดจากผลการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร (EOS) เกี่ยวกับความยืดหยุ่นและศักยภาพในการปรับตัวเมื่อต้องเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ ของบุคลากรในประเทศ โดยไทยมีอันดับขีดความสามารถค่อนข้างดีในอันดับ 27

ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่นับว่ายังคงเป็นจุดอ่อน (Weaknesses) อย่างต่อเนื่องของไทย ที่ต้องเร่งให้ความสำคัญในการพัฒนาสำหรับปัจจัยด้านความพร้อมสำหรับอนาคต คือ ตัวชี้วัด Tablet possession อันดับ 57, Software piracy อันดับ 57 และ Privacy protection by law exists อันดับ 54 จาก 67 ประเทศ ซึ่งจำเป็นที่ไทยต้องให้ความสำคัญในการยกระดับพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันด้านดิจิทัลใน 3 ตัวชี้วัดนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป 

ไทยกับเขตเศรษฐกิจในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน (ASEAN)

ในระดับอาเซียนที่ IMD มีการจัดอันดับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้รวม 5 เขตเศรษฐกิจนั้น สิงคโปร์ยังคงเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านดิจิทัลสูงสุดในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา รวมถึงจาก 67 เขตเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดอันดับในปี 2567 สาเหตุจากปัจจัยด้านความพร้อมสำหรับอนาคตที่สิงคโปร์มีอันดับดีขึ้นจากปีที่แล้วอย่างมากถึง 9 อันดับมาอยู่อันดับที่ 1 ในปีนี้ รองลงมาคือ มาเลเซีย อันดับ 36 ลดลงจากปีที่แล้ว  3 อันดับ เป็นผลจากการปรับอันดับลดลงของทั้ง 3 ปัจจัยหลักไม่ว่าจะเป็นความรู้ เทคโนโลยี และความพร้อมสำหรับอนาคต ตามมาด้วยไทยในอันดับที่ 3 ของอาเซียน ซึ่งมีอันดับลดลงจากปีก่อน 2 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 37 

แต่ที่น่าจับตามองคือ อินโดนีเซีย แม้จะยังตามหลังมาเลเซียและไทย แต่มีแนวโน้มอันดับดีขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งผลการจัดอันดับรวม (IMD World Competitiveness Ranking) และผลการจัดอันดับด้านดิจิทัล (World Digital Competitiveness Ranking) ที่ขยับดีขึ้น 2 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 43 ในปีนี้ จากอันดับของปัจจัยด้านความพร้อมสำหรับอนาคตของอินโดนีเซียที่ดีขึ้นจากปีที่แล้วอย่างมากถึง 13 อันดับ มาอยู่อันดับ 30 และปัจจัยด้านความรู้ดีขึ้นถึง 7 อันดับมาอยู่อันดับ 53 ในขณะที่ฟิลิปปินส์ อันดับลดลง 2 อันดับจากปี 2566 มาอยู่ที่อันดับ 61 ในปีนี้ ทำให้รั้งท้ายในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน

วิเคราะห์สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ - พัฒนา - ปรับปรุง โดยปลัดกระทรวง DE และ TMA

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดอันดับโดย IMD ว่า ในปีที่ผ่านมา อันดับของไทยขยับขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากอันดับ 40 ขึ้นมาเป็น 35 และแม้จะมีความพยายามขับเคลื่อนทั้ง 3 ปัจจัย มีคณะทำงานเก็บข้อมูลมากกว่า 50 ตัวชี้วัด แต่ด้วยตัวชี้วัดที่มีพลวัตสูง อันดับก็ขยับจาก 35 ลงมาเป็นอันดับ 37 ในปีนี้ โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่ปัจจัยด้าน 'เทคโนโลยี'

"ปีที่แล้ว ปัจจัยด้านเทคโนโลยีอยู่ในอันดับที่สูง เพราะมีการลงทุนมาก มีแนวคิดเรื่องการจัดทำคลาวด์ภาครัฐ มีกรอบการทำงานเพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น แต่บางเรื่องยังไม่ค่อยเห็นผล จึงส่งผลต่อการจัดอันดับในปีนี้ และในด้านเทคโนโลยียังมีการวัดเรื่องอื่นอีก เช่น กฎหมายดิจิทัล ซึ่งในปีนี้จะมีกฎหมายออกใหม่อีกหลายตัว เช่น การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการจัดทำคลาวด์ เพราะฉะนั้น ยังมีหลายเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่อยู่ในไปป์ไลน์ เชื่อว่าเราจะได้เห็นอันดับเทคโนโลยีในปีหน้าน่าจะดีขึ้น

"ด้านเทคโนโลยี ถ้ามีการลงทุนซื้อเทคโนโลยี ด้านนี้มันก็โต แต่การที่จะทำให้ประเทศเราเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องทำด้านความรู้และความพร้อมสำหรับอนาคตให้มีความชัดเจนขึ้น ซึ่งในด้านความรู้ มีการบูรณาการเรื่องข้อมูลผ่านหลักสูตรด้านดิจิทัล โดยมีการสร้างแพลตฟอร์ม Learn to Earn เพื่อเก็บข้อมูลของคนที่เรียนรู้ด้านดิจิทัล แล้วนำข้อมูลไปทำเครดิตแบงก์ จะส่งผลให้มีข้อมูลสะสมด้านการเรียนรู้ ส่งผลต่อกระบวนการด้าน Workforce ที่สามารถจ้างงานได้ อันนี้เป็นโปรเจกต์สำคัญในปีหน้าในการพัฒนาด้านความรู้" ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์กล่าว

ส่วนเรื่องความพร้อมสำหรับอนาคต ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ให้มุมมองว่า ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งจะมีความท้าทายอีกมากในปีต่อๆ ไป จากการทำงานหลังบ้านของรัฐบาลที่ต้องเปลี่ยนผ่านเป็นรัฐบาลดิจิทัล ทำให้เกิดการใช้งานคลาวด์และเกิด Software-as-a-Service ทั้งยังมีการตั้งเป้าให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่น้อยกว่า 200,000 คน ทำงานแบบ Paperless ในปี 2568 แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า อันดับด้านความพร้อมสำหรับอนาคตน่าจะดีขึ้นเช่นกัน

ส่วนรายละเอียดในเรื่องที่ไทยทำได้คะแนนไม่ดีและเป็น Pain Point ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์บอกว่า มีเรื่อง 1) ทรัพย์สินทางปัญญา โดยกระทรวงพาณิชย์รับโจทย์ด้านการจัดการระเบียบทางทรัพย์สินทางปัญญา ไปแล้ว  ขณะที่กระทรวง DE จะช่วยปิดกั้นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาผ่านระบบที่มีอยู่ ร่วมกับทำให้การใช้งานดิจิทัลเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย 2) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตาม PDPA ซึ่งถือว่าปัจจุบันดีขึ้น แต่ต้องป้องกัน ทำให้ข้อมูลรั่วไหลลดลง และสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นงานที่ท้าทาย กับ 3) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่มีการปรับการทำงานร่วมกัน และมีแผนนำระบบคลาวด์เข้ามาใช้และสร้าง Platform-as-a-Service ทำเว็บไซต์ให้มีมาตรฐานการดูแลสูงขึ้น

"ที่ผ่านมาการทำเรื่อง Cybersecurity มีการใช้เงินจำนวนมาก จากการวางโครงสร้างพื้นฐานที่กระจัดกระจาย เพราะฉะนั้น การจัดการคลาวด์ก็ดี การรวมศูนย์การบริการจัดการก็ดี จะทำให้เราใช้เงินด้านนี้ลดลง แต่เพิ่มศักยภาพให้ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) หรือ NCSA ที่เราจัดตั้งขึ้นมาดูแลและทำงานกับหลายหน่วยงาน มีระบบช่วยเหลือ ตรวจสอบ และป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลได้มากขึ้น และยังกลายเป็นแผนงานร่วมกันกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PCPC ในการดูแลหน่วยงานต่างๆ ไม่ให้มีจุดอ่อน อย่างที่มีการบอกว่า มีโอกาสที่หน่วยงานต่างๆ จะมีข้อมูลหลุดรั่วไปได้หรือมีการแฮก ความจริงหลายๆ เรื่องมาจาก 'ฐานต้นทุน' เช่น การวางมาตรฐานของการทำระบบ ที่แต่ละหน่วยต่างก็มีการจัดซื้อจัดจ้าง มาเป็นการสร้างค่ามาตรฐานในการจัดซื้อจัดจ้าง หรืออาจใช้วิธีรวมศูนย์เพื่อลดความเสี่ยง"

สอบถามเพิ่มเติมถึงการลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้ประเทศ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์กล่าวว่า โดยทั่วไปภาครัฐมีการลงทุน เรื่อง R&D 2 ระดับ คือระดับ Real Sciences กับระดับการลงทุนในขั้นพื้นฐาน ซึ่งกระทรวง DE แจ้งขอปรับงบ กำหนดแผน และเป้าหมายเอาไว้หลายด้าน แต่บางด้านก็อาจใช้เงินสนับสนุนจากกองทุน DE เช่น การทำ Sandbox, การทำ R&D ในบางเรื่อง อย่างการ Utilize ทำวิจัยและพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เช่น EdTech, MedTech ไปสู่ภาคประชาชนก็อยู่ในกรอบการลงทุนนี้

คุณธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA กล่าวถึงรายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลประจำปีนี้ IMD โดยตั้งข้อสังเกตว่าประเทศที่เป็นผู้นำในด้านความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลต่างเป็นประเทศที่มีการพัฒนาที่สมดุลในทั้ง 3 ปัจจัยหลักของการจัดอันดับ ได้แก่ ความรู้ เทคโนโลยี และความพร้อมสำหรับอนาคต ส่วนประเทศที่ยังอยู่ในระดับรองลงมาอาจมุ่งเน้นแนวทางในการพัฒนาที่แตกต่างกันตามบริบทของแต่ละประเทศ 

"โดยปัจจัยด้านความรู้ ตัวชี้วัด Computer science education index ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในปีนี้ ไทยก็ยังมีขีดความสามารถในระดับปานกลาง ที่ควรให้ความสำคัญในการยกระดับศักยภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ให้ดียิ่งขึ้น และจากการพัฒนารุดหน้าของ AI ก็ทำให้ไทยต้องส่งเสริมพัฒนาการคิดค้นวิจัยด้าน AI ของไทยในเชิงพาณิชย์มากขึ้น รวมถึงปรับปรุงพัฒนานโยบายและกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับ AI ให้เท่าทัน ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับอันดับดีขึ้นของ 2 ตัวชี้วัดใหม่ด้าน AI คือ AI articles และ AI policies passed into law ได้ในท้ายที่สุด"

นอกจากนี้ ยังบอกเพิ่มว่า ไทยต้องเร่งให้ความสำคัญในการเพิ่มการจ้างงานบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค (Scientific and technical employment) และยกระดับตัวชี้วัดด้านการศึกษาที่ไทยมีอันดับค่อนข้างรั้งท้าย รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทุกภาคส่วนในเรื่องของการปรับปรุงพัฒนานโยบายและกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้ามาทำงานของชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี, การจดสิทธิบัตร, การวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์, ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลให้ดีมากยิ่งขึ้น 

“เมื่อพิจารณาในมุมของประเทศไทย เราควรให้ความสำคัญกับประเด็นที่เป็นรากฐานของการพัฒนาคือ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลทั้งในระบบการศึกษาและที่อยู่ในกำลังแรงงาน โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และ AI ที่สะท้อนผ่านผลการจัดอันดับที่ค่อนข้างต่ำในหลายตัวชี้วัด และยังต้องเร่งปรับปรุงด้านกฎหมายและกฏระเบียบให้ก้าวทันเทคโนโลยี และปรับปรุงกลไกที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" คุณธีรนันท์กล่าวในตอนท้าย

อย่างไรก็ดี ปีนี้มีข่าวสารและช่องทางพัฒนาทักษะด้าน AI ให้คนไทยทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนหลากหลายด้าน น่าจับตาว่าในปี 2568 คะแนนด้าน AI ของไทยจะอยู่ตรงไหนของตารางแสดงผลการจัดอันดับ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

OpenAI เปิดตัว o3 โมเดล AI ใหม่ล่าสุดที่ฉลาดจนอาจใกล้เข้าสู่ยุค AGI

OpenAI เปิดตัว o3 และ o3-mini โมเดล AI ตัวใหม่ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก o1 ที่เพิ่งเปิดตัวให้เห็นเมื่อเดือนกันยายน ปี 2024 โดยมาพร้อมกับความสามารถเด่นในเรื่องของ Reasoning หรือการให้เหตุ...

Responsive image

รวี บุญสินสุข ขึ้นแท่น CEO คนใหม่ BCPG

บอร์ดบริหารของ บีซีพีจี (BCPG) มีมติแต่งตั้ง นายรวี บุญสินสุข วัย 49 ปี ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ แทนที่นายนิวัติ อดิเรก โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ...

Responsive image

ซีอีโอ Nike เผย 3 สิ่งที่ทำบริษัทพลาดมาตลอดจนทำให้ไนกี้ไม่เหมือนเดิม

ปลายปี 2024 ที่ผ่านมา Nike เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั่นคือ การลาออกของ John Donahole ในตำแหน่งซีอีโอ และได้ลูกหม้ออย่าง Elliott Hill ที่เริ่มทำงานกับ Nike มาอย่างยาวนานขึ้นมารับ...