สถานีโทรทัศน์ Odisha TV ของอินเดียเปิดตัวผู้ประกาศข่าว AI ชื่อว่า Lisa เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายทั้งที่ชื่นชอบและไม่ชื่นชอบ
Jagi Mangat Panda หัวหน้าของช่อง Odisha TV กล่าวว่า การเปิดตัว AI ผู้ประกาศข่าวเป็นก้าวสำคัญของวงการโทรทัศน์และการสื่อสารมวลชนดิจิทัล
Lisa เป็น AI ผู้ประกาศข่าวหญิง มีลักษณะภายนอกเหมือนคนจริง ๆ โดยหน้าที่ของเธอคือการรายงานข่าวเป็นคลิปวิดีโอสั้น ๆ บน Digital Platforms เช่น Instagram, Facebook หรืออ่านคำทำนายดวงชะตา รวมถึงรายงานสภาพอากาศและข่าวกีฬา เป็นต้น
Jagi Mangat Panda เผยถึงเหตุผลที่นำ Lisa เข้ามาใช้ เพราะเขาต้องการให้ AI เข้ามาช่วยจัดการกับงานที่มีรูปแบบซ้ำจำเจ เช่น การอัปเดตข่าวสารต่าง ๆ เมื่อมี AI มาช่วยทำงานนี้ พนักงานที่ Odisha TV ก็จะมีเวลาไปโฟกัสกับงานที่ต้องใช้แรงและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งส่งผลให้สามารถนำเสนอข่าวที่มีคุณภาพดีขึ้นแก่ผู้ชมได้
การเข้ามาของ Lisa และ Newsbot ตัวอื่น ๆ ก็ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งในอินเดียกังวล เพราะอุตสาหกรรมสื่อของอินเดียกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการใช้ AI newsbots ที่เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันช่องข่าวหลายช่องในอินเดียก็ใช้ผู้ประกาศข่าว AI เช่น India Today มีผู้ประกาศข่าว AI ชื่อ Sana และ Power TV ใช้ผู้ประกาศข่าว AI ชื่อ Soundarya
จนเกิดคำถามว่า การใช้ AI นำเสนอจะน่าเชื่อถือหรือไม่ และอนาคตของสื่อจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไร ?
เรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ถึงความสามารถของ AI ในการแยกแยะถูกผิดและอคติที่มี ผู้ชมบางส่วนมองว่า AI ขาดทักษะและประสบการณ์ในการรายงานข่าว ไม่มีไหวพริบ วิจารณญาณเหมือนกับนักข่าวที่เป็นคน
เนื่องจากระบบรายงานข่าวของ AI ใช้ข้อมูลที่มีการตั้งโปรแกรมไว้ล่วงหน้า ซึ่งคำสั่งในการป้อนข้อมูลหากมีความผิดพลาดหรือมีอคติ ก็จะเป็นจุดที่ทำให้ AI นำเสนอข่าวออกไปแบบที่ข้อมูลไม่ถูกต้องและมีอคติ ผู้รับสารก็จะได้รับข้อมูลที่มีการบิดเบือน จุดนี้จึงเป็นจุดที่ผู้คนกังวลอย่างมากและไม่ค่อยเชื่อมั่นสำนักข่าวที่ใช้งาน AI
ดังนั้น การนำเสนอข่าวผ่าน AI จะน่าเชื่อถือหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าสำนักข่าวสามารถแสดงให้ผู้ชมเห็นถึงความโปร่งใสในการป้อนข้อมูลให้กับ AI ได้มากแค่ไหน
ถ้ามองในด้านดี AI ก็ถือเป็นเครื่องมือนำเสนอข่าวที่เหมาะกับอินเดียมาก เพราะอินเดียเป็นประเทศที่ผู้คนพูดคุยกันหลายภาษา ซึ่งผู้ประกาศข่าวอย่าง Lisa ก็สามารถพูดได้หลายภาษาเช่นกัน ทำให้การนำเสนอข่าวในอนาคตก็จะสามารถเข้าถึงผู้ชมที่ใช้ภาษาแตกต่างกันได้ทั่วประเทศ
นอกจากนี้เทคโนโลยี AI ยังช่วยให้สำนักข่าวสามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว เพราะมันใช้เวลาไม่นานในการประมวลผลและรายงานข่าว ตัวแทนจากสื่อหลายสำนักจึงมองว่าในอนาคต AI จะเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของสื่อ แต่ไม่ใช่เพื่อทดแทนคน มันจะเข้ามาช่วยในงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้คนก็ได้ เพื่อนำทรัพยากรคนไปใช้ทำงานที่ต้องลงมือลงแรงมากกว่า
Mateen Ahmad มองว่าการมี newsbots จะเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมสื่อจะสามารถปรับปรุงคุณภาพของเนื้อหาและวิธีการนำเสนอให้ดีมากขึ้นได้ อนาคตของสื่อคนก็ยังคงจำเป็นเพียงแค่อาจจะต้องทำงานร่วมกับ AI เท่านั้นเอง
อ้างอิง: asia.nikkei, ai2.news
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด