กสิกรไทยรุกตลาดจีนเปิดธนาคารท้องถิ่น เน้นกลยุทธ์ธนาคารดิจิทัล พร้อมเชื่อมโยงธุรกิจสองประเทศ | Techsauce

กสิกรไทยรุกตลาดจีนเปิดธนาคารท้องถิ่น เน้นกลยุทธ์ธนาคารดิจิทัล พร้อมเชื่อมโยงธุรกิจสองประเทศ

'ไคไท่หยินหาง (จงกั๋ว)' คือชื่อของ ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยกสิกรไทยได้รับอนุมัติจากทางการจีน (CBRC) ให้ตั้งธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจดทะเบียน (LII) และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น อีกทั้งยังพร้อมเปิดสาขาที่เซี่ยงไฮ้ รองรับการเติบโตทางด้านการค้าและการลงทุนจากเศรษฐกิจจีน โดยเน้นกลุ่มธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนระหว่างจีนและประเทศไทย รวมทั้งต่อยอดไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนและเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค ในฐานะธนาคารดิจิทัลแห่งภูมิภาค AEC+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้)

คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเดินทางมาในพิธีเปิดงาน ณ ประเทศจีนด้วยตนเอง ได้เปิดเผยว่า "ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจของธนาคาร เนื่องจากตลาดจีนมีขนาดใหญ่และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศสูง อีกทั้งยังมีแผนการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าบรรษัทและลูกค้าบุคคลของธนาคารมากมาย  เช่น นโยบาย 'One Belt, One Road' และ แผนการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับคนจีน"

จีนเป็นประเทศที่กำลังจะก้าวมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในทศวรรษหน้า โดยปัจจุบันนักธุรกิจจีนเริ่มหันมาลงทุนในตลาด AEC มากขึ้น ซึ่งในเชิงยุทธศาสตร์แล้วทำเลที่ตั้งของประเทศไทยสามารถตอบโจทย์ในการเป็นฐานการลงทุนได้มากที่สุด เนื่องจากมีประสิทธิภาพในเชิงโครงสร้างและนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่เพียบพร้อม ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย EEC (Eastern Economic Corridor) ที่มุ่งผลักดันพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมภาคการผลิตในบริเวณอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงไปในตลาด AEC อื่น ๆ ได้อีก

ธนาคารกสิกรไทยมองว่าปัจจุบันการเป็นธนาคารอาจไม่เพียงพอ โดยเห็นความสำคัญในการเชื่อมโยงธุรกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาค การผลักดันตัวเองให้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจแห่ง AEC+3 เชื่อมโยงโอกาสให้กับลูกค้า ซึ่งไม่เพียงแต่บริการด้านการเงินเท่านั้น ทางธนาคารยังมีบริการในด้านการให้คำปรึกษาการลงทุน และการจับคู่ธุรกิจ เพื่อช่วยให้การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นโยบายจีนที่เชื่อมโยงกับไทย

สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 รัฐบาลจีนริเริ่มโครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (One Belt, One Road – OBOR) ที่จะเชื่อมโยงจีนกับทวีปยุโรป เอเซีย อเมริกาเหนือ และ แอฟริกาเข้าไว้ด้วยกันด้วยเส้นทางสายไหมทางบกและทะเล ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการค้าและการลงทุนระหว่างจีนและกลุ่มประเทศในเส้นทาง OBOR ทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในจีนในกลุ่มนวัตกรรมภาคการผลิตนั้น ได้รับการสนับสนุนโดยยุทธศาสตร์ ‘Made in China 2025’ ของรัฐบาลจีน มีความสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับยุทธศาสตร์  “Thailand 4.0” ของไทย

อีกทั้ง ในมุมของรัฐบาลไทยได้มีการริเริ่มโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย หรือ EEC ตามแผนนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพประเทศไทยโดยการเสริมสร้างศักยภาพภาคการผลิตในเชิงนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยดึงดูดธุรกิจจีนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานขยายธุรกิจต่อไปในภูมิภาค นำไปสู่การขยายตัวด้านการลงทุนและการค้าของจีนในเออีซีผ่านไทยเป็นตัวเชื่อม ภายใต้การเกื้อหนุนระหว่าง “Made in China 2025” และ ”Thailand 4.0” อุตสาหกรรมที่มีโอกาสดีจะเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าของภูมิภาค ระหว่างจีน-ไทย-เออีซี เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค รถยนต์ ระบบควบคุมและหุ่นยนต์ การแพทย์และการดูแลสุขภาพ การท่องเที่ยว การผนึกกำลังดังกล่าวจะช่วยชี้นำธนาคารกสิกรไทยในการวางแนวทางการดำเนินธุรกิจในจีน

ตั้งสำนักงานใหญ่ ณ เซิ่นเจิ้น

สำนักงานใหญ่ของธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) ตั้งอยู่ที่ใจกลางเมืองเซินเจิ้นโดยได้พื้นที่ชั้น 59 ทั้งชั้นบนตึกสูง  เรียกได้ว่าอยู่ในจุดที่เอื้อต่อการพัฒนาด้านนวัตกรรม เพราะเซินเจิ้นเป็นศูนย์กลางของเขตเศรษฐกิจใหม่ (กวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า) ทั้งยังได้ถูกขนาดนามว่าเป็น ‘ซิลิค่อนวัลเลย์แห่งเอเชีย’ และเป็นสถานที่ตั้งของบริษัท Startup ด้าน Fintech รวมถึงยูนิคอร์นต่าง ๆ พร้อมกันนี้ธนาคารกสิกรไทยยังมีเครือข่ายบริการ ได้แก่ สาขาเซินเจิ้น (และสาขาย่อยหลงกั่ง) สาขาเฉิงตู สาขาเซี่ยงไฮ้ สาขาฮ่องกง สำนักงานผู้แทน ณ นครปักกิ่ง และสำนักงานผู้แทน ณ เมืองคุนหมิง ซึ่งการได้รับใบอนุญาตให้ตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจดทะเบียนจะทำให้ธนาคารสามารถให้บริการลูกค้าบรรษัทได้อย่างครบวงจร

ตั้งสาขา ณ เซี่ยงไฮ้

นอกเหนือจากการตั้งธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจดทะเบียนเต็มรูปแบบแล้ว ธนาคารยังได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งสาขาที่ 3 เพิ่มเติม ณ นครเซี่ยงไฮ้ เขตผู่ตง ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินของจีนและของโลกในอนาคต อีกทั้งสาขาดังกล่าวยังอยู่ในเขตเศรษฐกิจการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ (Shanghai FTZ) และเป็นบริเวณที่มีธุรกรรมการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียนสูง มียอดธุรกรรมในปี 2559 ถึง 92,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 21% ของมูลค่าการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีปริมาณการลงทุนจากเซี่ยงไฮ้ไปยังประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นการเปิดสาขาเซี่ยงไฮ้จึงทำให้ธนาคารสามารถให้บริการและขยายฐานลูกค้าในนครเซี่ยงไฮ้และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซู และมณฑลชานตง โดยในช่วงเริ่มต้นสาขาเซี่ยงไฮ้จะเน้นการบริการลูกค้าบรรษัทของไทยและจีนที่ค้าขายระหว่างจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน และลูกค้าบรรษัทจีนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

เทคโนโลยีคือ 'สิ่งที่ขาดไม่ได้'

คุณวงศ์พัฒน์  พันธุ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) เผยว่า กสิกรไทยต้องการเชื่อมโยงจีนสู่ไทย และไทยสู่จีน โดยปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีอุตสาหกรรมไทยที่เริ่มขยายตัวในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแปรรูป รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นที่ต้องการเข้ามา ซึ่งกลยุทธ์ของธนาคารที่ขาดไม่ได้เลยคือเรื่องของเทคโนโลยี โดยมองว่าจะต้องมีการพัฒนาในด้านของนวัตกรรมดิจิทัล โดยธนาคารยังวางแผนจะร่วมมือกับกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หรือบริษัท Fintech ในการพัฒนา Digital Banking Platform นอกจากนี้ในปัจจุบันกสิกรไทยยังมีการจับมือร่วมกับ Wechat ซึ่งเป็นระบบ Payment ที่สำคัญในจีน หากเชื่อมโยงบริการของกสิกรไทยในประเทศจีน และบริการของธนาคารกสิกรไทยในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน จะทำให้ธนาคารก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการชำระเงินในภูมิภาค AEC+3 ได้

ทั้งนี้ในโอกาสที่ธนาคารกสิกรไทยได้รับอนุมัติจัดตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจดทะเบียนในจีน ธนาคารจึงได้ร่วมมือกับกรมพาณิชย์แห่งมณฑลกวางตุ้งจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมพาณิชย์แห่งมณฑลกวางตุ้งและธนาคารกสิกรไทย ในความร่วมมือและอำนวยความสะดวกระหว่างภาคธุรกิจจากมณฑลกวางตุ้งที่สนใจเข้าใจลงทุนในไทยเนื่องจากปัจจุบันภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานในการทำการค้าในภูมิภาค AEC และภาคธุรกิจไทยที่สนใจเข้ามาลงทุนและทำการค้าในเขตภาคใต้ของประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งการค้าสำคัญของภาคธุรกิจไทย

ด้านคุณเจิ้ง เจี้ยนหลง อธิบดีกรมพาณิชย์แห่งมณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่า มณฑลกวางตุ้งและไทยถือว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งในมุมของการลงทุน นักลงทุนจากกวางตุ้งเป็นนักลงทุนจีนในไทยที่ใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่ากว่า 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งการเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรม เนื่องจากชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋วในกวางตุ้งคิดเป็น 79% ของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย เปรียบไทยและกวางตุ้งเป็นเสมือนเมืองพี่เมืองน้อง ดังนั้นการร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-จีนไปอีกหนึ่งขั้นในมิติของการค้าการลงทุนผ่านแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ พร้อมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างกัน

สำหรับนโยบาย 'Made in China 2025' จะเน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมการผลิต เช่น สินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมไอที ไฮเทคโนโลยีและกลุ่มฟินเทค ถึงแม้ว่าปัจจุบันจีนจะมีบริษัทฟินเทคยูนิคอร์น (กิจการที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพียง 8 แห่ง เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มียูนิคอร์น 12 แห่ง แต่มูลค่าบริษัทฟินเทคยูนิคอร์นของจีนขณะนี้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 96.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้บริษัทฟินเทคยูนิคอร์นของจีนมีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ฟังวิสัยทัศน์ Microsoft ภายใต้กรอบ FY2025 เพราะ AI คือ โอกาสของไทย ที่ทั่วโลกกำลังเริ่มต้นพร้อมกัน

“AI ก็คือเทคโนโลยีที่คล้ายกับไฟฟ้า เทคโนโลยีที่สร้างโอกาสในวงกว้าง” Microsoft ประกาศนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและ...

Responsive image

Meta เผยโฉมเครื่องมือการตลาด AI พร้อมดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย จับมือ ททท. - กระทรวงพาณิชย์

Meta จัดงาน Meta Marketing Summit 2024 พร้อมเผยโฉมโซลูชัน AI ล่าสุดสำหรับการตลาด และประกาศความร่วมมือสำคัญกับภาครัฐ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจซอฟต์พาวเวอร์ของไทย...

Responsive image

จับตากฏหมาย AI ใหม่ โปร่งใสหรือจำกัดการเติบโต ? สร้างปมเห็นต่าง OpenAI และ Elon Musk

กฏหมาย AI ยังต้องไปต่อ ! เมื่อ OpenAI สนับสนุนร่างกฎหมายของของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความโปร่งใส ลดข้อมูลที่ผิดพลาดและข้อมูลเท็จที่สร้างความเกลียดชัง...