KBank แจงผลประกอบการ Q1/2023 กำไร 10,741 ลบ. ลดลง 4.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน | Techsauce

KBank แจงผลประกอบการ Q1/2023 กำไร 10,741 ลบ. ลดลง 4.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2566 ยังเผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัว เพราะแม้จะมีแรงหนุนจากการทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว แต่ภาพรวมการส่งออกสินค้ายังคงปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่การใช้จ่ายของภาคเอกชนยังคงเติบโตในกรอบจำกัด 

สำหรับในช่วงที่เหลือของ ปี 2566 ยังคงต้องติดตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย สถานการณ์ดังกล่าวย่อมมีผลกระทบ และเพิ่มแรงกดดันต่อภาคการส่งออกของไทย และทำให้ภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้อาจหดตัวลง 

นอกจากนี้ ผลกระทบต่อการใช้จ่ายภายในประเทศจากแรงกดดันด้านต้นทุน ค่าครองชีพ และปัญหาหนี้ครัวเรือนก็ยังคงเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเปราะบางต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน ธนาคารและบริษัทย่อยจึงยังคงดำเนินธุรกิจตามหลักความระมัดระวังรอบคอบภายใต้ทิศทางภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมทั้งยังคงให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เท่ากันผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2566 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565

ในไตรมาส 1 ปี 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,741 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน 4.19% โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 26,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของรายได้จากการดำเนินงานและ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ตามหลักความระมัดระวัง แม้ว่าจะลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2565 

แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารมีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ที่อาจจะส่งผลต่อลูกค้าบางกลุ่มที่ยังมีความเปราะบาง 

นอกจากนี้ ในไตรมาส  1 ปี 2566 ธนาคารพบว่ามีลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่ง ที่คุณภาพหนี้มีสัญญาณความเสื่อมถอย โดยธนาคารได้มีสำรองสำหรับหนี้ส่วนนี้ไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ธนาคารอาจพิจารณาความเหมาะสมในการกันสำรองเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด                     

ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 9.84% สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและการเติบโตของสินเชื่อใหม่ตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.46% แม้ว่าจะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอัตราปกติในอัตราร้อยละ 0.46 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 32.00% 

หลัก ๆ จากมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 13.82% สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มตามปริมาณธุรกิจ รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.50% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2566 เปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 7,550 ล้านบาท หลัก ๆ เกิดจากการลดลงของสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งในไตรมาส 4 ปี 2565 มีการตั้งสำรองฯ ในระดับสูงตามหลักความระมัดระวัง และสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน 

สำหรับกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 26,781 ล้านบาท ลดลงจาก ไตรมาสก่อนส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงหลัก ๆ จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดซึ่งเป็นปกติตามฤดูกาล ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ 42.50% ใกล้เคียงกับไตรมาส 4 ปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.60%

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,238,084 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2565 จำนวน 8,285 ล้านบาท หรือ 0.20% หลัก ๆ เกิดจากเงินให้สินเชื่อสุทธิลดลง ส่วนหนึ่งจากการดำเนินการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การขายหนี้ การตัดหนี้สูญ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เงินให้สินเชื่อใหม่ยังคงเติบโต ในกลุ่มลูกค้าตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร 

ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.04% และ ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ระดับ 156.68% สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ระดับ 154.26% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 18.90% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.92%

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘ไปรษณีย์ไทย’ เพิ่มมูลค่า Asset ชูบริการเรือธง EMS World ส่งด่วน ทั่วโลก

EMS World คือ บริการเรือธงที่ทำรายได้หลักให้ไปรษณีย์ไทย หลังจากนี้จะผลักดันบริการสู่ตลาดโลก ร่วมกับการนำ Asset ที่มีอยู่เดิม มาเพิ่มมูลค่าได้อย่างน่าสนใจ...

Responsive image

SearchGPT คืออะไร ? เมื่อ OpenAI ลงสนาม Search engine ท้าชน Google ชิงส่วนแบ่งธุรกิจ

OpenAI ท้าชน Google ชิงส่วนแบ่งธุรกิจ Search Engine เปิดตัว SearchGPT โมเดล Search Engine ที่ขับเคลื่อนด้วย AI เวอร์ชันต้นแบบ ที่จะมาเปลี่ยนการค้นหาข้อมูลให้เป็นเรื่องง่าย รวดเร็ว ...

Responsive image

ลงทะเบียนพบนักลงทุนตัวจริงกับ "Meet the VCs" ในงาน Techsauce Global Summit 2024

"Meet the VCs" กิจกรรมสุด Exclusive ในงาน Techsauce Global Summit 2024...