KMITL เปิดตัว 42 Bangkok สถาบันโปรแกรมเมอร์แห่งแรกของไทย ไม่มีอาจารย์ ไม่มีปริญญา ไม่มีค่าเทอม | Techsauce

KMITL เปิดตัว 42 Bangkok สถาบันโปรแกรมเมอร์แห่งแรกของไทย ไม่มีอาจารย์ ไม่มีปริญญา ไม่มีค่าเทอม

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ย้ำบทบาท “ผู้นำความเปลี่ยนแปลง” พร้อมผนึกต่างชาติ เปิดตัว “42 บางกอก” (42 Bangkok) สถาบันโปรแกรมเมอร์แห่งแรกของไทย และแห่งที่ 3 ของเอเชีย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล การันตีด้วยมาตรฐานการสอนระดับโลก ที่พร้อมฉีกทุกกฎการเรียนรู้แบบไร้ข้อจำกัด ใน 3 แนวคิดหลัก “ไม่มีอาจารย์ ไม่มีปริญญา ไม่มีค่าเทอม” รุดสร้างจุดเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยยุคใหม่ ขานรับนโยบายโค้ดดิ้งของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หนุนศักยภาพคนไทย พร้อมรับโลกการทำงานยุคดิจิทัล ทั้งนี้ “42 บางกอก” เน้นการเรียนรู้จริงปฏิบัติเป็น และแก้ปัญหาร่วมกันเป็นกลุ่ม ผ่านการฝึกคิดแก้โจทย์จริงจากภาคธุรกิจชั้นนำด้านคอมพิวเตอร์-เทคโนโลยี แบบเป็นขั้นตอน-ไต่ระดับจากง่ายไปยากใน 21 ระดับ โดยปัจจุบัน 42 บางกอก อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้เรียนเข้าศึกษาต่อในเทอมแรก และจะเริ่มเรียนในเดือน กรกฎาคม2564

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ เร่งผลักดันนโยบาย “ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์” (Coding) ภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยนวัตกรรม (Digital Disruption) ที่มุ่งปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของคนไทยในทุกช่วงวัย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี อีกทั้งสามารถปรับตัวเข้าสู่โลกการทำงานยุคดิจิทัลได้เต็มศักยภาพ สู่การมีทักษะสำคัญอย่างน้อย 6 ด้าน ได้แก่ ทักษะการอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ มีเหตุมีผล คิดเชิงคณิตศาสตร์ และการแก้ไขปัญหาอย่างมีหลักการ โดย สจล. ถือเป็นต้นสถาบันการศึกษาแห่งอนาคตของไทย ที่มีหัวคิดทันสมัยและปรับตัวได้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ภายใต้ความร่วมมือของ “เอกอล 42” (Ecole42) สถาบันปั้นโปรแกรมเมอร์ระดับโลก เพื่อพัฒนาคนคุณภาพด้านโปรแกรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล อันสอดรับกับนโยบายดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม

“ไม่มีอาจารย์ ไม่มีปริญญา ไม่มีค่าเทอม”

ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. เล็งเห็นถึงความสำคัญและโอกาสของการมี “ซุปเปอร์โปรแกรมเมอร์” เนื่องจากอาชีพดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์อาชีพที่เป็นที่ต้องการจากทุกองค์กรทั่วโลก อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโลกดิจิทัล ดังนั้น การจัดตั้ง “42 บางกอก” (42 Bangkok) สถาบันปั้นโปรแกรมเมอร์ระดับหัวกะทิ แห่งแรกอาเซียน และที่ 3 ของเอเชีย ถือเป็นสนามปั้นสุดยอดโปรแกรมเมอร์ ระดับซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) ภายใต้มาตรฐานการสอนเดียวกับสถาบันต้นกำเนิดจากกรุงปารีส ฝรั่งเศส ที่ฉีกทุกกฎการเรียนรู้แบบไร้ข้อจำกัด “ไม่มีอาจารย์ ไม่มีปริญญา ไม่มีค่าเทอม” นับเป็นจุดเปลี่ยนแรกของการศึกษาไทย ที่เปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เปิดโลกการทำงานระดับสากล ภายใต้เครือข่ายเอกอล 42 ทั่วโลก อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า “แท้จริงแล้วการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดเฉพาะรูปแบบการสอนเดิมเท่านั้น แต่สามารถก้าวสู่โลกการทำงานสายดิจิทัลได้อย่างมืออาชีพ” ตอกย้ำการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง (Change Maker) ของ สจล. โดยแท้จริง

สอนในรูปแบบ Project Based Learning ที่เน้นการเรียนรู้จริงปฏิบัติเป็น และแก้ปัญหาร่วมกันเป็นกลุ่ม

ผศ. ดร.ชัยยันต์ เจตนาเสน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ Executive Director of 42 Bangkok กล่าวเพิ่มเติมว่า “42 บางกอก” มีการเรียนการสอนในรูปแบบ Project Based Learning ที่เน้นการเรียนรู้จริงปฏิบัติเป็น และแก้ปัญหาร่วมกันเป็นกลุ่ม ผ่านการฝึกคิดแก้โจทย์จริงจากภาคธุรกิจชั้นนำด้านคอมพิวเตอร์-เทคโนโลยี แบบเป็นขั้นตอน ซึ่งจะไต่ระดับจากง่ายไปยากใน 21 ระดับ โดยการเรียนในระยะแรก ผู้เรียนจะต้องเรียนการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น และเมื่อเลื่อนขั้นแล้ว ผู้เรียนจะสามารถเลือกทำโปรเจกตามความสนใจ ซึ่งในบางระดับต้องไปฝึกงานเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อสั่งสมประสบการณ์ในสนามจริง

ทั้งนี้ เมื่อทำโปรเจกสำเร็จในแต่ละระดับ จะมีคะแนนสะสมเพื่อขอเลื่อนขั้นในระดับต่อไปได้ จนกระทั่งจบการศึกษาภายในระยะเวลา 2-4 ปี เพื่อสร้างประสบการณ์ทำงานจริง โดยจะปูพื้นฐานด้วยภาษา C และ C++ พร้อมเพิ่มพูนทักษะด้วย  Python Javascript  เพื่อสร้างเว็บไซต์ หรือกระทั่งทำงานออกแบบเว็บไซต์ (Design) ให้มีฟังก์ชันที่รองรับการงานรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

(อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อ 1.00 p.m. 3/26/2021)

“เพราะการเรียนที่ 42 บางกอก เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่มีอาจารย์สอน ไม่กำหนดเวลาเรียน ดังนั้น กระบวนการคัดเลือกผู้เรียนจึงมีการทดสอบแบบเข้มข้นใน 3 ด่านสำคัญ คือ ทดสอบออนไลน์ (Online Test) เพื่อวัดว่ามีตรรกะด้านการเขียนโปรแกรม ยืนยันสิทธิ์ (Check In) และ ด่านสุดท้าย ทำค่ายโปรเจก เวิร์คชอป (Piscine) การทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบ 24/ 7 เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ซึ่งเทียบเท่าการเรียนหลักสูตรปริญญาตรี 2 ปี ในคณะสายคอมพิวเตอร์ สำหรับในรอบนี้จะคัดเลือกในแต่ละกลุ่มเพียง 150 คน เพื่อเป็นนักศึกษาตัวจริงที่จะได้เรียนใน 42 บางกอก”

“สำหรับคุณสมบัติของผู้เรียนค่อนข้างเปิดกว้าง โดยเป็นบุคคลทั่วไป ไม่จำกัดเพศ มีอายุอย่างน้อย 18 ปี ไม่ต้องมีวุฒิการศึกษาหรือเคยเรียนเขียนโปรแกรมมาก่อน ขณะเดียวกัน คนที่กำลังศึกษาด้านอื่นหรือทำงานอยู่ก็สามารถเรียนควบคู่ไปได้ และเมื่อเข้ามาเรียนได้ก็สามารถกำหนดรูปแบบการเรียนด้วยตนเองได้ ทั้งนี้ ปัจจุบัน 42 บางกอก อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้เรียนเข้าศึกษาต่อในเทอมแรก ซึ่งมีผู้สมัครจากทั่วโลกเป็นจำนวนมากกว่า 1,600 คน ครอบคลุม 81 ประเทศ โดยจะเริ่มเรียนในเดือน กรกฎาคม 2564” ผศ. ดร.ชัยยันต์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียด หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่www.42bangkok.com หรือติดต่อ สำนักงานกิจการต่างประเทศ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8140 เว็บไซต์ https://oia.kmitl.ac.th, www.kmitl.ac.th หรือ https://m.facebook.com/42Bangkok/







ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

KBTG จับมือ 3 มหา’ลัยชั้นนำ สร้าง Co-Master's Degree ปั้น ป.โท เก่ง AI ออกสู่ตลาด

หลักสูตรการศึกษามาใหม่! ที่ KBTG จับมือ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) มหาวิทยาลัยมหิดล (MU) และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU)...

Responsive image

Apple ทุ่มลงทุน 336 ล้านบาท หวังปลดล็อคแบน iPhone 16 ในอินโดฯ

iPhone 16 ในอินโดจะยังได้ไปต่อไหม? เมื่อ Apple เสนอเงินลงทุนกว่า 336 ล้านบาทในอินโดนีเซีย หวังปลดล็อคการแบน iPhone รุ่นล่าสุด หลัง Apple ยังไม่บรรลุเป้าหมายการลงทุนในประเทศตามที่ต...

Responsive image

จีนท้าชนสหรัฐฯ เดินหน้าครองอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลก ท่ามกลางแรงกดดัน

สหรัฐฯ ได้ใช้กลยุทธ์หลายอย่าง เช่นการควบคุมการส่งออกและการห้ามจำหน่ายอุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสกัดกั้นการเติบโตของจีนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น ชิป AI และเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไ...