เปิดเทรนด์ธุรกิจไทย ต้องรู้อะไรถึงรอด! บทสรุปจากงาน KPMG Business Leaders’ Summit 2024 | Techsauce

เปิดเทรนด์ธุรกิจไทย ต้องรู้อะไรถึงรอด! บทสรุปจากงาน KPMG Business Leaders’ Summit 2024

ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ งานสัมมนา KPMG Business Leaders’ Summit 2024: Ignite your business with innovation ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ได้รวบรวมผู้นำจากบริษัทชั้นนำกว่า 250 แห่งได้มาร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับอนาคตของธุรกิจไทย เพื่อร่วมกันสำรวจแนวทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

KPMG

เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว กล่าวว่า:

“งานสัมมนา KPMG Business Leaders’ Summit ปีนี้ มีผู้ร่วมสัมมนาจากบริษัทชั้นนำของไทยมากกว่า 350 ท่าน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความสนใจที่สูงขึ้นในการเพิ่มโอกาสที่จะพัฒนาและสร้างอนาคตให้กับธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน เราเชื่อว่างานสัมมนานี้จะมอบความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งข้อมูลที่มีคุณค่าให้กับธุรกิจ เพื่อที่จะรับมือกับความท้าทายในอนาคตและสามารถคว้าโอกาสใหม่ ๆ ได้”

หัวข้อหลักที่วิทยากรจากเคพีเอ็มจีและผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจากแวดวงธุรกิจได้กล่าวถึงในงานนี้ ได้แก่ แนวโน้มของอนาคตเศรษฐกิจไทย การปฏิรูปด้านบุคลากร การบูรณาการเทคโนโลยี AI เข้ากับธุรกิจ เศรษฐกิจด้านสุขภาพของไทย และการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่การเงินที่ยั่งยืน

เศรษฐกิจไทยสู่ปี 2030: เตรียมพร้อมรับมือความผันผวน

ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ธุรกิจกำลังเผชิญกับภูมิทัศน์ที่แปรปรวนมากกว่าเดิม ความท้าทายหลัก ๆ ที่ธุรกิจต้องเผชิญ ได้แก่ ผลกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ย ราคาของสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ความผันผวนของตลาดการเงินโลก ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น และวิกฤตอสังหาของประเทศจีน ธุรกิจจึงต้องเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวและจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ

มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยการส่งออกและการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐและการลงทุนจากต่างประเทศจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ว่าอัตราการเติบโตอาจไม่เป็นไปตามความคาดหวังของภาคธุรกิจ

ข้อกังวลที่สำคัญสำหรับภาคธุรกิจคือการบรรจบกันของการเปลี่ยนแปลงระดับโลกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (technology disruption) วิกฤตทางสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น หรือ “ภาวะโลกเดือด” การมาถึงของ “ศตวรรษแห่งเอเชีย” (The Asian Century) ที่เอเชียจะมีบทบาทสำคัญ และการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ช่วงเวลาห้าปีข้างหน้าจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อธุรกิจในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ บริษัทที่ลงทุนในกลยุทธ์ที่เตรียมพร้อมรับอนาคตมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้มากกว่า บริษัทควรจะมุ่งเน้นไปที่ตัวขับเคลื่อนสำคัญอยู่รอดและประสบความสำเร็จท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ อันได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (digital transformation) การนำเทคโนโลยีมาใช้ การเปลี่ยนผ่านสีเขียว (green transition) การรวมกลุ่มประเทศแบบภูมิภาคนิยม (regionalization) และการพัฒนาโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 

การปฏิรูปด้านบุคลากรในยุคดิจิทัล

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคหลังยุคโควิด-19 ส่งผลให้องค์กรต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคล ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง ได้แก่:

  • การมุ่งเน้นแนวทางที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (human-centric approach) แม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปมาก
  • การส่งเสริมแรงจูงใจภายใน เช่น การให้อิสระในการทำงาน การพัฒนาความสามารถ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
  • การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจากรายงาน Future of Work ระบุว่า 72% ของพนักงานเห็นว่าการเรียนรู้และพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาความสามารถในการแข่งขัน องค์กรจึงควรส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ การให้คำปรึกษา และการสอนงาน

การนำ AI มาใช้ในธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน AI ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างแบรนด์ บริหารจัดการลูกค้า และออกแบบประสบการณ์ การนำ AI มาใช้ให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้:

  1. การกำหนด KPI ที่ชัดเจน
  2. การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้พนักงานมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีใหม่
  3. การสร้างความเข้าใจว่า AI เป็นเครื่องมือสนับสนุน ไม่ใช่มาแทนที่พนักงาน
  4. การเปิดรับความไม่แน่นอนและอนุญาตให้ทีมเรียนรู้จากความผิดพลาดอย่างรวดเร็ว

เปลี่ยนโฉมระบบนิเวศไทย: เน้นการดูแลสุขภาพ

ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจด้านสุขภาพทั่วโลก (wellness economy) ได้แก่ นวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society)   ทั้งนี้ แม้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ แต่ก็ยังมีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวมูลค่าสูง ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความยั่งยืนเป็นหลัก

ข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางด้านสุขภาพระดับโลก ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ อาหารเพื่อสุขภาพ การบริการที่มีชื่อเสียง การแพทย์แผนไทย วัฒนธรรมที่หลากหลายและภาคการแพทย์ที่แข็งแกร่ง ขณะที่เศรษฐกิจด้านสุขภาพทั่วโลกยังคงขยายตัว กลุ่มธุรกิจต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ผลิตภัณฑ์ทางโภชนาการและผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก จะเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนการเติบโต ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากแนวโน้มเหล่านี้เพื่อสร้างกำไร และขณะเดียวกันก็ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้

การเงินเพื่อความยั่งยืนกับเป้าหมายการลดคาร์บอน

ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2608 โดยมีเป้าหมายระยะกลางคือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 40% ภายในปี 2573 เป้าหมายเหล่านี้ส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับตัวในหลายด้าน:

  1. การปรับกลยุทธ์และการดำเนินงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
  2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน
  3. การปรับตัวตามมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy)

แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านนี้จะมาพร้อมกับความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ แต่ก็ถือเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้ดี การเร่งปรับเปลี่ยนไปสู่การเงินเพื่อความยั่งยืน (sustainable finance) จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกภาคส่วน

ความเป็นเลิศด้านประสบการณ์ของลูกค้า

ประสบการณ์ของลูกค้าได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างแรงผลักดันให้กับแบรนด์ ปฏิสัมพันธ์เชิงบวกจะช่วยดึงดูดลูกค้า ในขณะที่ประสบการณ์เชิงลบสามารถทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อแบรนด์ หกเสาหลักแห่งความเป็นเลิศด้านประสบการณ์ลูกค้า (Six Pillars of Customer Experience Excellence) ของเคพีเอ็มจี ได้เน้นถึงคุณลักษณะที่สำคัญ คือ การเอาใจใส่ ความต้องการเฉพาะตัว เวลาและความตั้งใจ ความคาดหวัง การแก้ไขปัญหา และความซื่อสัตย์ ซึ่งธุรกิจควรให้ความสำคัญเพื่อที่จะพัฒนาเส้นทางของผู้บริโภคและสร้างประสบการณ์เชิงบวกให้แก่ลูกค้า

ธุรกิจไทยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ลูกค้า การนำเทคโนโลยีและดาต้าเข้ามาใช้ทำให้องค์กรสามารถสร้างประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้ามากขึ้นไปอีก

สรุป 

KPMG Business Leaders’ Summit 2024 ได้ชี้ให้เห็นว่าแม้ธุรกิจไทยจะเผชิญกับความท้าทายหลายประการ แต่ก็มีโอกาสมากมายสำหรับผู้ที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การลงทุนในเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร และการมุ่งเน้นความยั่งยืนจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจไทยสู่อนาคตที่มั่นคงและเติบโต

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สะเทือนวงการดนตรี Nvidia เปิดตัว Fugatto AI สร้างเสียงครบวงจรแค่เขียน Prompt

Nvidia ลงสนามเครื่องมือสร้างเสียงด้วย AI เปิดตัว Fugatto โมเดล AI ที่สามารถสร้างสรรค์และปรับแต่งเสียงได้อย่างเหนือชั้น เพียงแค่เขียน prompt พร้อมปฏิวัติอุตสาหกรรมหลากหลาย ตั้งแต่วง...

Responsive image

คืนชีพการบินไทย แผนฟื้นฟูการบินไทยสำเร็จ เตรียมเข้าตลาดหุ้นไตรมาส 2 ปี 68

การบินไทยประกาศความสำเร็จในการปรับโครงสร้างทุน พร้อมแผนเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิมและพนักงาน มุ่งคืนสู่ตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 2 ปี 2568...

Responsive image

SCB EIC เผยผลกระทบจาก Trump 2.0 ฉุดเศรษฐกิจไทยปี 2568 เผชิญความท้าทายด้านการค้า การผลิต และการลงทุน

ในปี 2568 โลกจะเริ่มเผชิญกับความท้าทายจากผลของนโยบายเศรษฐกิจภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เรียกว่า “Trump 2.0” ซึ่งถือเป็นการกลับมาใหม่ในเวอร์ชันที่มีอำนาจบริหารที่แข...