เปิดหลักสูตร “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” นำร่อง จุฬาฯ - มจพ. - สจล. เริ่มเรียนปีการศึกษา 2568 | Techsauce

เปิดหลักสูตร “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” นำร่อง จุฬาฯ - มจพ. - สจล. เริ่มเรียนปีการศึกษา 2568

เปิดหลักสูตร “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” ครั้งแรกของประเทศไทย โดยจะเริ่มเรียนในปีการศึกษา 2568 นี้ มีสถาบันนำร่องถึง 3 แห่ง ได้แก่ จุฬาฯ, มจพ. และ สจล. โดยมีเป้าหมายในการผลิตวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไม่น้อยกว่า 1,500 คนต่อปี 

สจล. เปิดโอกาสให้นักศึกษาปริญญาตรีปี 2 สามารถเปลี่ยนสาขาเข้าเรียนได้ ขณะที่จุฬาฯ มุ่งเน้นการเรียนการสอนในระดับนานาชาติ เน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI และชิบสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์โฟโตนิก ด้าน มจพ.ร่วมมือกับ Kyushu (คิวชู) Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น ส่งเด็กฝึกงานยาว 1 ปีจบแล้วมีงาน 100%

เปิดหลักสูตร “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” ครั้งแรกของประเทศไทย

น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการแถลงข่าว “อว. For Semiconductor” การเปิดหลักสูตร “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” ครั้งแรกของประเทศไทย โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) รศ.ดร.แนบบุญ หุนเจริญ ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรเซมิคอนดักเตอร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เข้าร่วม ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว.

หลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ คืออะไร ?

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. และเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษากว่า 15 แห่งได้ร่วมมือกันดำเนินการภายใต้นโยบาย “อว. for Semiconductor” พัฒนาหลักสูตร “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” จนเป็นผลสำเร็จ โดยมีหลักสูตรนี้จะเป็นหลักสูตรกลางในรูปแบบแซนด์บอกซ์ หลักสูตรแรกของประเทศไทย รวมถึงหลักสูตรในรูปแบบอื่นๆ พื่อผลิตกำลังคนทักษะสูงตอบสนองอุตสาหกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้ประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนทั่วโลก 

ขณะนี้มี 3 สถาบันอุดมศึกษาที่จะนำร่องจัดการเรียนการสอนด้านเซมิคอนดักเตอร์ ประกอบด้วย 

  1. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) 
  2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
  3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)

รมว.อว. กล่าวต่อว่า โดย สจล.จะเริ่มนำร่องเปิดหลักสูตรแซนด์บอกซ์ “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” เป็นแห่งแรกในปีการศึกษา 2568 นี้ จากนั้นในปีการศึกษาถัดไปคาดว่าจะมีมหาวิทยาลัยใช้หลักสูตรแซนด์บอกซ์เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5 มหาวิทยาลัย โดยตั้งเป้าผลิตวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้ได้อย่างน้อย 1,500 คนต่อปี ซึ่ง สจล.มีความพร้อมอย่างมาก มีห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมจริง ด้วยความร่วมมือจากบริษัทเอกชนชั้นนำ

นักศึกษาที่เรียนอยู่แต่สนใจหลักสูตรใหม่ ต้องทำอย่างไร ?

เนื่องจากเป็นหลักสูตรแซนด์บอกซ์ จึงสามารถเปิดโอกาสให้นักศึกษาปริญญาตรี ปีที่ 2 เปลี่ยนสาขาเข้ามาศึกษาได้ เพื่อเร่งรัดการผลิตกำลังคนที่ขาดแคลนให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น 

สำหรับผู้เรียนในชั้นปีที่ 4 จะสามารถเลือกฝึกงานในภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ หรือเลือกเรียนรู้กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศก็ได้ 

มหาวิทยาลัยเดินหน้าอย่างไรบ้าง ?

ปัจจุบันหลักสูตรกลางมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศกว่า 12 แห่งแล้ว

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีกำหนดเปิดหลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หลักสูตรนานาชาติ ในปีการศึกษา 2568 นี้ ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ที่มีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ มุ่งเน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น 

  • AI ชิบสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV chips) 
  • อุปกรณ์โฟโตนิก (Photonic Devices) 

โดยจะรับทั้งนิสิตไทยและนิสิตต่างชาติ โดยมีแผนจะพัฒนาเป็นหลักสูตรสองปริญญา (Double Degree) ร่วมกับ Lunghwa (หลงหัว) University ของไต้หวัน และมีการฝึกงานในสถานประกอบการชั้นนำของประเทศ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

น.ส.ศุภมาส กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งหลักสูตรคือหลักสูตรวิศวกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ของ มจพ. ที่มีการปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้สามารถผลิตกำลังคนที่ตอบโจทย์ด้านเซมิคอนดักเตอร์ได้อย่างเป็นปัจจุบัน เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง 

โดยมีความร่วมมือกับบริษัทเอกชนชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวนมาก ซึ่งภาคเอกชนเหล่านี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การออกแบบหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการตั้งแต่ต้นทาง โดยหลักสูตรนี้จะมีการรับนักศึกษาเข้าไปฝึกปฏิบัติจริงยาวนานถึง 1 ปี 

ทำให้บัณฑิตมีความพร้อมทำงานได้ทันทีหลังจบการศึกษา มีการทำวิจัยโดยใช้โจทย์จริงจากภาคอุตสาหกรรมทำให้งานวิจัยสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงและอาจารย์ได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ up to date ในภาคอุตสาหกรรม 

นอกจากนี้ หลักสูตรยังมีความร่วมมือกับ Kyushu (คิวชู) Institute of Technology ของประเทศญี่ปุ่น และมีความร่วมมือกับบริษัทในประเทศสิงคโปร์ นักศึกษาสามารถเลือกไปฝึกงานในบริษัทที่ประเทศสิงคโปร์ได้ ซึ่งบัณฑิตที่จบจากหลักสูตรจะมีความเชี่ยวชาญในด้านการประกอบและทดสอบ IC ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ที่สำคัญ ได้งานทำ 100%

การพัฒนาหลักสูตรแซนด์บอกซ์ด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (Semiconductor & Advanced Electronics) เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานที่สำคัญทั้งในระยะกลางและระยะยาว ที่จะเห็นผลภายใน 2-4 ปี เพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบการผลิตกำลังคนเฉพาะทางทักษะสูงและเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยหลังจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ จะทยอยเปิดหลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตเฉพาะทางสมรรถนะสูงให้มีปริมาณมากเพียงพอ รองรับความต้องการภายในประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ - น.ส.ศุภมาส กล่าว

นี่คือสิ่งที่กระทรวง อว. และสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงภาคเอกชนของไทยได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น เพราะหลักสูตรการเรียนการสอนในวันนี้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ ที่สำคัญ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ มีกำลังคนทักษะสูงอย่างเพียงพอ และสามารถสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติมาลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หรือ High Technology ในประเทศได้

อ้างอิง: mhesi.go.th

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

IMD จัดอันดับ Digital Competitiveness ปีนี้ ไทยร่วงจาก 35 เป็น 37 ถ้าอยากขยับขึ้น...ต้องแก้ไขตรงไหนก่อน?

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประจำปี 2567 โดย IMD World Competitiveness Center ไทยได้อันดับ 37 ขยับลงจากปีก่อน 2 อันดับ (35) แล้วจะทำอย่างไรให้ไทยได้อยู่ในอัน...

Responsive image

สู่ Siri ยุคใหม่ ! เผย Apple เตรียมเปิดตัว LLM Siri ในปี 2026 ท้าแข่ง ChatGPT โดยเฉพาะ

OpenAI ถือเป็นหนึ่งในบิ๊กเทคฯ ยักษ์ใหญ่ที่มีความก้าวกระโดดด้านการพัฒนา AI หลังจากสร้างกระแสด้วยแชทบอท ChatGPT ไปเมื่อปลายปี 2022 ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งมีดีลกับ Apple ในการนำ Cha...

Responsive image

American Airlines เปิดตัวระบบจัดการคิวอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสียงเตือนสองระดับ ปิดเกมสายแซงคิวขึ้นเครื่อง

เคยเจอไหม? คนแซงคิวขึ้นเครื่องจนวุ่นวายที่ประตูทางขึ้น หลังจากนี้จะไม่มีอีกต่อไป เมื่อ American Airlines แก้ปัญหานี้ด้วยเทคโนโลยีเสียงเตือนอัจฉริยะ ที่จะจับทุกความพยายามแอบขึ้นเครื...